รัฐบาลเสนอ “อุทยานธรณีขอนแก่น” เป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก
รัฐบาลเสนอ “อุทยานธรณีขอนแก่น” เป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก ชูแหล่งค้นพบซากไดโนเสาร์ 5 สายพันธุ์ใหม่ของโลก
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 ว่า ครม.เห็นชอบเสนออุทยานธรณีขอนแก่นเป็นอุทยานธรณีโลก ขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ซึ่ง "อุทยานธรณีขอนแก่น" มีเนื้อที่ประมาณ 1,038 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอในจังหวัดขอนแก่น คือ
- อำเภอภูเวียง
- อำเภอเวียงเก่า
- อำเภอมัญจาคีรี
ซึ่งอำเภอมัญจาคีรี เป็นอำเภอที่ ครม.เห็นชอบให้เพิ่มรวมอยู่ในพื้นที่ "อุทยานธรณีขอนแก่น" เนื่องจากเป็นแห่งค้นพบซากไดโนเสาร์เช่นกัน ลักษณะโดดเด่นของอุทยานธรณีขอนแก่นนี้ เป็นแหล่งค้นพบซากไดโนเสาร์ดึกดำบรรพ์สายพันธุ์ใหม่ของโลก 5 สายพันธุ์ ได้แก่
- สยามโมซอรัส สุธีธรนี
- ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน
- สยามโมไท-รันนัสอีสานเอนซิส
- กินรีมิมัส ขอนแก่นเอนซิส
- ภูเวียงเวเนเตอร์ แย้มนิยมมิ
และยังพบรอยเท้าสัตว์ร่วมยุคกับไดโนเสาร์ เช่น จระเข้และปลาโบราณ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เชิงธรณีวิทยาที่สำคัญหลายแห่ง เช่น ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ หลุมขุดค้นไดโนเสาร์ อุทยานแห่งชาติภูเวียง น้ำตกดาดฟ้า เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
สำหรับขั้นตอนจากนี้ ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะยื่นความประสงค์ต่อยูเนสโกภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 หาก "อุทยานธรณีขอนแก่น" ได้รับการรับรองเป็นอุทยานธรณีโลก ของยูเนสโกแล้ว จะทำให้อุทยานธรณีขอนแก่นเป็นที่รู้จักและยอมรับจากนานาประเทศ ซึ่งส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวของประเทศ สร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่นและสร้างความตระหนักรู้และการอนุรักษ์ทรัพยากรของประชาชนในพื้นที่ด้วย
นางสาวรัชดากล่าวด้วยว่า อุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks) เป็นขอบเขตพื้นที่ที่มีคุณค่าทั้งด้านธรณีวิทยา โบราณคดี นิเวศวิทยา และวัฒนธรรม โดยมีความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ การศึกษาวิจัย และการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ภายใต้การจัดการอย่างมีส่วนร่วมทั้งจากภาครัฐ ท้องถิ่น และชุมชน
ปัจจุบันไทยมีอุทยานธรณีโลกที่ได้รับการรับรองแล้ว 1 แห่ง คือ อุทยานธรณีสตูล เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา ส่วนการเสนออุทยานธรณีโคราชเป็นอุทยานธรณีโลกนั้น ขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาของยูเนสโก