ส่องโจทย์ดูแล “คนจนเมือง-คนไร้บ้าน” ทีมบริหารกรุงเทพฯ มีทีเด็ดอะไร?

ส่องโจทย์ดูแล “คนจนเมือง-คนไร้บ้าน” ทีมบริหารกรุงเทพฯ มีทีเด็ดอะไร?

เปิดทัศนะการแก้ปัญหา “คนจนเมือง” - “คนไร้บ้าน” กับ “ทวิดา กมลเวชช” รองผู้ว่าฯ กทม. ไปดูกันว่าทีมบริหารกรุงเทพฯ จะออกแบบระบบดูแลเรื่องนี้อย่างไร? เพื่อแก้ปัญหาที่ถูกซ่อนใต้พรมมานานหลายยุคสมัย

พูดถึงปัญหาเรื่อง “คนจนเมือง” และ “คนไร้บ้าน” เป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญที่ชี้วัดได้ว่า ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่มองเห็นกลุ่มคนเหล่านี้ “เท่าเทียมกัน” บนความหลากหลายที่มีอยู่ในสังคมหรือไม่?

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ มีโอกาสได้สัมภาษณ์พิเศษกับ รองผู้ว่าฯ กทม. “ทวิดา กมลเวชช” เร็วๆ นี้ทีม กทม. จะมีนโยบาย-แนวปฏิบัติด้านสาธารณสุข คุณภาพชีวิต หรืออะไรอื่นๆ ออกมาบ้าง? 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

1. ทำความเข้าใจ “คนจนเมือง” เป็นอย่างไร?

คนจนเมือง” คือคนที่มีสภาพการเงินไม่คล่องตัวและอาศัยอยู่ในเมือง มีปัญหาความยากจนที่แตกต่างกันไป โดยทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จำแนกออกเป็น 4 กลุ่มคือ คนจนเชิงรายได้, คนจนชุมชนดั้งเดิม, กลุ่มแรงงาน และคนชายขอบ

โดยกลุ่มคนเหล่านี้เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญซึ่งบ่งชี้ว่า “การพัฒนาเมืองไม่ยั่งยืน ไม่เอื้อ และไม่เป็นธรรม” ต่อคนที่เข้ามาประกอบอาชีพหรือเป็นแรงงานในเมืองกรุงเทพมหานครแห่งนี้

อ่านเจาะลึกเพิ่มเติม: เรื่องปัญหาคนจนเมืองของกรุงเทพฯ

2. มองปัญหา “คนจนเมือง” ตอนนี้อย่างไร?

เวลาพูดถึง “ความหลากหลาย” ที่มีในเมือง นอกจากความหลากหลายทางเพศแล้ว  “คนจนเมือง” ก็เป็นหนึ่งกลุ่มในความหลากหลาย ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้คือคนที่มาจากอีกพื้นที่เพื่อเข้ามาเป็นกลไกแรงงานในกรุงเทพมหานคร จริงๆ เคยพูดไว้ว่า

เห้ย! อยู่คนเดียวในเมืองใหญ่ๆ แบบนี้ โดดเดี่ยวเหมือนกันนะ เหงาไม่รู้จะหันไปหาใคร ป่วยเจ็บสักทีนึงมีใครรู้ไหมว่าฉันป่วย เป็นอะไรคาห้องไปน่าจะไม่เวิร์ค

เพราะฉะนั้นในความหลากหลาย มีกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงอีก เราก็พยายามดำเนินการ ถามว่าเรารู้ไหมว่าเราไม่ไหว? เรารู้ว่าเราไม่ไหว แต่พูดในฐานะของคนที่เข้ามาทำงานได้ 20 วัน แล้วดูที่ศักยภาพของทางสาธารณสุขทั้งหมดที่อยู่ภายใต้กรุงเทพฯ อย่างเดียว

เราพบว่า “ประชากรกรุงเทพฯ เยอะมาก” โดยประชากรจะมีอัตราของความสูงอายุขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้ทางกรุงเทพฯ เอง กำลังสร้างและพัฒนาระบบดูแลด้านสาธารณสุข รวมถึงกลุ่มคนสูงอายุอยู่ด้วย

ส่องโจทย์ดูแล “คนจนเมือง-คนไร้บ้าน” ทีมบริหารกรุงเทพฯ มีทีเด็ดอะไร?

3. ขยายความ “ระบบบริการสาธารณสุข” สำหรับประชาชน

ระบบบริการสาธารณสุข” อันที่จริงหวังมาก ไม่รู้จะหวังเยอะเกินไปไหม แต่คาดว่าภายใน 1-2 เดือนข้างหน้าจะมีการขึ้นรูปแบบ มีการร้อยเรียงระบบ โดยระบบจะมีลักษณะการทำงาน เช่น

  • เมื่อเราอยู่ที่ไหนสักที่หนึ่ง แล้วมีคนรู้ว่าเราเป็นอะไร อาจหมายถึง นิติบุคคล เพื่อนบ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขในพื้นที่ 
  • คนเหล่านี้จะสามารถโทรศัพท์หาหมอที่ใกล้ตัวที่สุดในพื้นที่ 
  • หากดูแลไม่ได้ ศูนย์บริการสาธารณสุขให้ความช่วยเหลือได้แค่ไหนในแต่ละเรื่อง 
  • ถ้าไม่ได้จริงๆ จะส่งต่อไปที่ไหนได้บ้าง?

ระบบแบบนี้ไม่ง่าย แต่เป็นระบบเดียวที่น่าจะดูแลทุกกลุ่มได้จริงๆ หวังว่าจะสร้างให้ระบบแบบนี้เกิดขึ้นได้จริงเพื่อประชาชน

4. “ผ้าอนามัย ผ้าอ้อม ผู้ป่วยติดเตียง” คิดเห็นอย่างไร?

อย่างเรื่องผ้าอนามัย เราอาจจะเอาผ้าอนามัยไปไว้ที่โรงเรียนหรือศูนย์บริการสาธารณสุข สิ่งที่สามารถนำร่องทำได้คือ ขอความช่วยเหลือจากภาคส่วนต่างๆ ที่มอบให้มา เช่น ในรูปแบบกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ที่เขาให้ของมาเลย หรือแม้แต่กองทุนไหนที่ขอแล้วเราสามารถนำไปจัดสรรต่อได้ ตามสถานที่ที่กล่าวไปข้างต้น และมีการจำกัดการใช้ น่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด

นอกจากนี้ ทางกรุงเทพฯเองก็กำลังผลักดัน “กองทุนสุขภาพ” บางโครงการขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้อยู่ เพราะกรุงเทพฯก็มีโรงเรียนย่างเข้าวัยรุ่น และการต้องประหยัดก็เป็นปัญหา

โดยหลักอนามัย ผู้หญิงควรจะเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกๆ 3-4 ชั่วโมงต่อหนึ่งชิ้น แต่ด้วยความประหยัด อาจทำให้เราต้องสะสมเชื้อโรค-ความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดโรคต่อไป เรื่องนี้เป็นเรื่องในหมวดหมู่ “สุขภาพ

ขณะเดียวกันเรื่อง “ผ้าอ้อม” และ “ผู้สูงอายุติดเตียง” ก็เป็นปัญหาด้านสุขภาพที่ควรต้องจัดเป็น “สวัสดิการ” ผ่านศูนย์บริการสาธารณสุข ที่จะอยู่ตามเขตพื้นที่

ทางกรุงเทพฯ มองเห็นเหตุผลทางสุขภาพในประเด็นนี้ กำลังดูอยู่ว่า จะจัดสรรทำเลยได้หรือไม่ เพราะก็ติดปัญหาเรื่องข้อจำกัดในงบประมาณ แต่ตอนนี้ทางทีมงานกำลังพยายามดูว่า สิ่งใดทำแล้วไม่ผิด เมื่อทำแล้วต้องมีการกำกับ ตรวจสอบได้ หากสิ่งใดทำได้ จะพยายามตั้งใจทำให้สำเร็จ

 

ส่องโจทย์ดูแล “คนจนเมือง-คนไร้บ้าน” ทีมบริหารกรุงเทพฯ มีทีเด็ดอะไร?

5. ท่านผู้ว่าให้โจทย์ดูแล “คนไร้บ้าน” ยังไง?

จากนโยบายของท่านผู้ว่าฯ กทม. เรื่องคนไร้บ้าน ท่านให้โจทย์ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงานว่า "ต้องสื่อสารเรื่องคนไร้บ้านใหม่ คนไร้บ้านไม่ใช่คนอันตรายทั้งหมด"

การที่ไปคิดและพูดแบบนั้น ทำให้เรามองคนไร้บ้านเป็นอีกแบบ นอกจากจะต้องเข้าใจเขาและมีข้อมูลอยู่แล้ว คนไร้บ้านก็มีหลายกลุ่ม คือมีตั้งแต่ “ไม่มีที่อยู่อาศัยจริง” ตรงนี้ก็จะมีวิธีการจัดการอีกแบบหนึ่ง หรืออีกกลุ่ม “อาจมีบ้านแต่พวกเขาจะมีภาวะที่ไม่อยากอยู่” ไม่ชอบอยู่กับหลายๆคน แล้วก็มีจนกระทั่ง “คนที่มีกลุ่มของตนเอง" แต่อาศัยอยู่ข้างนอก ซึ่งคนที่ไม่ใช่คนไร้บ้านบางคนก็เกิดความกังวลว่า ควรจะต้องจัดการคนเหล่านี้หรือไม่ 

ท่านผู้ว่าฯ กทม. พูดเองว่า “เราต้องมีความเข้าใจในการจัดการคนแต่ละกลุ่ม" ในแง่ของการจัดสรรที่พักอาศัย ที่พำนักพักพิงเป็นการชั่วคราว ในบางกรณี บางคนอาจไม่สบายใจที่จะอยู่ร่วมกับคนหมู่มาก”

สิ่งที่เราจะจัดหาให้ได้ เช่น ห้องน้ำเพื่อทำกิจธุระส่วนตัว การดูแลให้คำปรึกษาเรื่องการรับยา เมื่อมีอาการบางอย่าง คนเหล่านี้จะสามารถไปจัดการรักษาได้ ทางกรุงเทพฯจะพยายามทำตรงนี้ให้เกิดขึ้นให้ได้

อาจเริ่มจากการเจาะดูพื้นที่เป็นกลุ่มๆ แล้วดูว่าจะจัดหาพื้นที่เหล่านี้ให้ได้หรือไม่ ส่วนเรื่องการดูแลพื้นที่พักพิงถาวร ณ ขณะนี้อาจจะยังไม่ได้ไปถึงจุดนั้น แต่มีเป็นการให้มารับการรักษาพยาบาลชั่วคราว แล้วก็กลับไปใช้ชีวิตอีกครั้ง

---------------------------------

หมายเหตุ: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ สัมภาษณ์ ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2565

สัมภาษณ์และเรียบเรียง: ศรีสิทธิ์ วงศ์วรจรรย์

ช่างภาพ: ชวรินทร์ เผงสวัสดิ์