สำรวจนโยบาย ‘หาบเร่ แผงลอย’ ในกรุงเทพฯ ได้ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ จะเป็นอย่างไร?

สำรวจนโยบาย ‘หาบเร่ แผงลอย’ ในกรุงเทพฯ ได้ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ จะเป็นอย่างไร?

ส่องนโยบายผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ว่าด้วยการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย เอกลักษณ์และปัญหาริมทางเท้าที่อยู่คู่กับกรุงเทพฯมายาวนาน และรอการสะสางจากผู้ว่าฯ คนใหม่

หาบเร่ แผงลอย” เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตในกรุงเทพฯ มายาวนาน ด้านหนึ่งคือเสน่ห์และชื่อเสียงของความเป็นสตรีทฟู้ด ขณะที่อีกด้านคือความสกปรกไร้ระเบียบบนทางเท้า ทั้งยังเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาจราจร

กรุงเทพฯ เป็นเช่นเมืองใหญ่หลายเมืองซึ่งมีผู้คนหลายระดับ และการมีอยู่ของ “หาบเร่ แผงลอย” คือที่พึ่งด้านอาหารสำหรับผู้มีรายได้น้อย เป็นการค้าขายของผู้ค้าต้นทุนต่ำ เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจฐานราก ที่เชื่อมโยงถึงวงจรขนาดใหญ่ตั้งแต่ ผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้สัญจร รวมถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแล

ผลสำรวจเรื่อง "หาบเร่แผงลอย กับทางเท้าใน กทม." จากศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" ซึ่งเก็บข้อมูลจากผู้มีภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านอยู่กรุงเทพมหานคร (กทม.) กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ พบว่า คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 92.12 คยซื้อของจากหาบเร่แผงลอยบนทางเท้า แต่ถึงเช่นนั้นก็มีถึงร้อยละ 33 ที่มองว่า ปัญหาหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพฯ ไม่สามารถแก้ไขได้อย่างแน่นอน

สิ่งที่เกิดขึ้นข้างต้น ทำให้ทุกผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ล้วนมีนโยบายว่าด้วยการจัดการ หาบเร่ แผงลอย ซึ่ง “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์”  ขอรวบรวมแนวทางจากผู้สมัครฯ เพื่อจินตนาการร่วมกันว่า หากได้ผู้ว่ากทม.คนใหม่ หาบเร่แผงลอย ในกรุงเทพฯ จะมีหน้าตาแบบไหน?

สำรวจนโยบาย ‘หาบเร่ แผงลอย’ ในกรุงเทพฯ ได้ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ จะเป็นอย่างไร?

จากเฟสบุ๊ค วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 1 พรรคก้าวไกล

  • การจัดระเบียบที่ถูกต้อง ไม่ใช่เพียงแค่คำนึงถึงความสะอาดเพียงอย่างเดียว แต่ต้องพิจารณาถึงความจำเป็น วิถีชีวิต และความเป็นธรรมประกอบร่วมกันไปด้วย
  • สนับสนุนผู้ค้าจัดระเบียบแผงลอยด้วยตัวเอง เช่น โมเดลปากซอยอ่อนนุช 70

สำรวจนโยบาย ‘หาบเร่ แผงลอย’ ในกรุงเทพฯ ได้ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ จะเป็นอย่างไร?

จากเฟสบุ๊ค สกลธี ภัททิยกุล

สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม.หมายเลข 3 ผู้สมัครอิสระ

  • สร้างความสมดุลระหว่างคนเดินเท้ากับแผงค้า พิจารณาว่าจุดไหนที่พื้นที่ทางเท้าเหลือถึงจะทำแผงค้าได้
  • หาแนวทางพิจารณาให้กับคนที่รายได้น้อยมีโอกาสใช้ทำมาหากิน

สำรวจนโยบาย ‘หาบเร่ แผงลอย’ ในกรุงเทพฯ ได้ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ จะเป็นอย่างไร?

จากเฟสบุ๊ค เอ้ สุชัชวีร์

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ หมายเลข 4 พรรคประชาธิปัตย์

  • เสนอนโยบายขายได้ขายดี ขายของได้ทุกวัน ไม่มีวันหยุด และเป็นคนแรกที่จะ คืนวันจันทร์ให้ผู้ค้า
  • นโยบายขายได้ขายดี เทศกิจเป็นมิตรกับผู้ค้า
  • มีก๊อกน้ำประปา ห้องน้ำสาธารณะ บริเวณฟุตบาท ให้ก็อกน้ำประปาจะเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานของทุกฟุตบาท เช่นเดียวกับห้องน้ำสาธารณะที่สะอาด ส่วนเรื่องขยะ พ่อค้าแม่ค้าต้องเก็บขยะมัดกองรวมไว้ที่เสาไฟฟ้า 

สำรวจนโยบาย ‘หาบเร่ แผงลอย’ ในกรุงเทพฯ ได้ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ จะเป็นอย่างไร? เฟสบุ๊ค อัศวิน ขวัญเมือง

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 6 ผู้สมัครอิสระ

  • คืนความเป็นธรรมให้กับสังคม ทั้งผู้ค้า และคนเดินถนน
  • หากได้กลับมาเป็นผู้ว่าฯ ค่อยกลับมาพิจารณาเรื่องนี้กันอีกครั้ง

สำรวจนโยบาย ‘หาบเร่ แผงลอย’ ในกรุงเทพฯ ได้ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ จะเป็นอย่างไร? จากเฟสบุ๊ค รสนา โตสิตระกูล

รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครผู้ว่าฯ หมายเลข 7 ผู้สมัครอิสระ

  • เลิกไล่จับหาบเร่แผงลอย
  • จัดทำเลขายดีให้ถูกกฎหมายสะอาดปลอดภัย

สำรวจนโยบาย ‘หาบเร่ แผงลอย’ ในกรุงเทพฯ ได้ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ จะเป็นอย่างไร? จากเฟสบุ๊คชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 8 อิสระ

  • การจัดการหาบเร่แผงลอยไม่ได้มีต้นแบบเดียว เพราะแต่ละพื้นที่มีบริบทแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นต้องมีคณะกรรมการฯ เข้ามาจัดการและดูแล
  • เสนอ กทม. เพิ่มสัดส่วนคณะกรรมการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยระดับเขต เพื่อให้ตัวแทนผู้ค้า ตัวแทนประชาชนและตัวแทนผู้ประกอบการในพื้นที่ มีอิสระในการกำหนดลักษณะและจำนวนแผงค้าที่เหมาะสมและเป็นระเบียบ คำนึงถึงประโยชน์และความเป็นธรรมของทุกฝ่าย
  • ร่วมมือกับภาคเอกชนสนับสนุนการพัฒนาลักษณะร้านค้า เช่น ลักษณะสีของร้าน ร่ม ให้สอดคล้องกับที่คณะกรรมการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยระดับเขตกำหนด เช่น พื้นที่ที่อารีย์ซอย 1 ซึ่งเป็นต้นแบบความร่วมมือจัดการระหว่างรัฐและเอกชน
  • ตีเส้นแบ่งพื้นที่แผงลอยและทางเดินเท้า

สำรวจนโยบาย ‘หาบเร่ แผงลอย’ ในกรุงเทพฯ ได้ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ จะเป็นอย่างไร? จากเฟสบุ๊ค น.ต.ศิธา ทิวารี - Sita Divari

น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 11 พรรคไทยสร้างไทย

  • ยกระดับ กทม.ให้เป็นเมืองหลวง Street Food ของโลก มีมาตรฐานความสะอาด
  • ส่งเสริมให้มีพื้นที่ทำมาหากินสำหรับพ่อค้าแม่ค้าขายคนตัวเล็ก ด้วยกองทุนเครดิตประชาชนเพื่อคนตัวเล็ก ให้พ่อค้าแม่ขายตั้งตัวได้
  • จัดโซนสำหรับค้าขายตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงการเพิ่มพื้นที่ค้าขายให้คนกรุงเทพฯ ทั้งการเช่าตึกหรือพื้นที่ที่ปิดตัวจำนวนมากที่อยู่ริมถนน

 

ทีดีอาร์ไอเสนอจัดระเบียบตามพื้นที่

สำหรับประเด็นการจัดระเบียบ หาบเร่ แผงลอย นี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มีข้อเสนอในงานเสวนา “ตรวจการบ้านผู้ว่าฯ เดิม เติมโจทย์ให้ผู้ว่าฯ ใหม่” เมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งจัดขึ้นโดยทีดีอาร์ไอ และ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC-CEUS) ว่า การทำมาหากิน หาบเร่แผงลอย ควรมุ่งสร้างสมดุลระหว่างผู้ใช้พื้นที่ทางเท้ากลุ่มต่างๆ มากกว่าการห้ามใช้พื้นที่ทางเท้าโดยสิ้นเชิง

การบริหารจัดการหาบเร่แผงลอย ควรพิจารณาแบบรายพื้นที่ ตามโมเดลพื้นที่อัตลักษณ์ ซึ่งให้ผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์ในพื้นที่  และใช้แนวทาง “การกำกับดูแลร่วม” (co-regulation) กับผู้ค้า และจัดหาพื้นที่ถาวรเพิ่มเติมในทำเลที่เหมาะสมมากขึ้น ดังตัวอย่างของสิงคโปร์

วิธีคิดของ กทม.ในการแก้ปัญหาเมืองนั้น ควร “การบริหารจัดการแบบเครือข่าย” (network governance) และปรับบทบาทในการบริหารเมืองจากเป็นผู้ให้บริการ (service provider) เองส่วนใหญ่หรือทั้งหมด สู่การเลือกเล่นบทบาทที่หลากหลาย ตามลักษณะของปัญหาที่ต้องแก้ไข ทรัพยากรและความพร้อมของแต่ละภาคีที่เกี่ยวข้อง

ทั้งหมดคือแนวทางและข้อเสนอว่าด้วย หาบเร่ แผงลอย ในกรุงเทพฯ จากบรรดาผู้สมัคร ซึ่งอีกไม่ถึง 1 เดือนต่อจากนี้ คนกรุงฯ ก็จะได้รู้ว่า หาบเร่ แผงลอย ต่อจากนี้จะมีหน้าตาและแนวทางบริหารเป็นอย่างไร