"ชัชชาติ" เปิดเหตุผล ไฟเขียว 7 สถานที่ กทม. จัดชุมนุมได้
"ชัชชาติ" เปิดเหตุผล ไฟเขียว 7 สถานที่ กทม.จัดชุมนุมได้ ลดใช้พื้นที่ถนน ดูแลความปลอดภัยดีขึ้น ทดลอง 1 เดือน ก่อนประเมินผล
ชี้ใกล้เลือกตั้ง-หนุนแสดงออกไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น
วันที่ 24 มิ.ย. ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. กล่าวถึงการออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง จัดให้มีสถานที่ใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ ว่า ประกาศออกมาตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.แล้ว 7 จุด ได้แก่
1.ลานคนเมือง เขตพระนคร 2.ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง 3.ที่สาธารณะใต้สะพานรัชวิภา ใกล้ซอยวิภาวดีรังสิต 36 เขตจตุจักร 4.ลานจอดรถหน้าสำนักงานเขตพระโขนง 5.ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เขตมีนบุรี 6.ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ และ 7.สวนมณฑลภิรมย์ เขตตลิ่งชัน
โดยแต่ละจุดมีผังชัดเจนว่าสามารถทำกิจกรรมตรงจุดไหนได้บ้าง อาทิ ลานคนเมือง ฝั่งทิศใต้ (ด้านวัดสุทัศน์) สามารถใช้พื้นที่ได้ ร้อยละ 60 จากพื้นที่ทั้งหมด หรือประมาณ 3,722 ตารางเมตร รองรับผู้ชุมนุมได้ 1,000 คน ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น กำหนดพื้นที่ 3,000 ตารางเมตร รองรับได้ 800 คน
“เนื่องจากเป็นประกาศครั้งแรกของ กทม. ผู้ชุมนุมจะต้องปฏิบัติตามกฏหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด กทม.มีหน้าที่อำนวยความสะดวก จัดพื้นที่ให้ ก็คงมีเรื่องความปลอดภัย ห้องน้ำ หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน มี CCTV เก็บข้อมูล แต่มาตรการความมั่นคงตำรวจจะเป็นคนมาดูแล ในส่วนของการทำผิดกฏหมายต่างๆ เรื่องความรุนแรง การใช้อาวุธ เนื้อหาในการชุมนุม ตำรวจจะเป็นผู้รับผิดชอบ กทม.ไม่ได้มีหน้าที่ในส่วนนี้” นายชัชชาติ กล่าว
นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า จุดนี้ยังเป็นจุดทดลอง เนื่องจาก กทม.ยังไม่เคยประกาศให้มีพื้นที่ชุมนุมสาธารณะ โดยจะใช้เวลาทดลอง 1 เดือน ว่าหลังจากนี้จะเป็นประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของการประกาศพื้นที่หรือไม่ ประชาชนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์จากการประกาศนี้หรือไม่ เพราะมีอีกหลายมิติที่ยังไม่รู้ และคงต้องพิจารณาอีกว่า จะสามารถดูแลการชุมนุมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ปี 2558 หรือไม่
นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า ขอฝากประชาชนด้วยว่า หลายคนในที่ประชุมไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการจัดพื้นที่ เพราะกลัวว่าจะดูแลลำบาก เกรงจะมีความเสียหาย แต่ตนเชื่อว่า ประชาชนคือเจ้าของพื้นที่ของกรุงเทพฯ ดังนั้น การจัดพื้นที่ให้ประชาชนแสดงออก ตนว่าเป็นสิ่งที่ดี ลดการลงไปใช้พื้นที่ถนน ทำให้การจัดการดูแล ความปลอดภัยดีขึ้น
สรุปที่ประชุมทุกคนก็เห็นด้วย แต่คงไม่ได้ให้พื้นที่ทั้งหมด อาจจะให้แค่ร้อย 60 ของพื้นที่ เพราะต้องแบ่งให้กับผู้ที่จะมาใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ด้วยอาทิ พื้นที่ออกกำลังกาย เต้นแอโรบิค ขณะเดียวกันเป็นจุดที่ หากเกิดกรณีฉุกเฉิน จะเป็นจุดที่รองรับคนได้ กทม.พยายามทำทุกอย่างเต็มความสามารถ ขอความร่วมมือประชาชน ทำตามกรอบของกฏหมาย
“การแสดงออกเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ควรไปละเมิดสิทธิของคนอื่น และกทม.ก็พร้อมจะช่วยเหลือ แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย” นายชัชชาติ กล่าว
ผู้ว่าฯกทม. กล่าวอีกว่า สำหรับการขออนุญาต ให้ขอล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ส่วนการขออนุญาตจริงๆ กฏหมายไม่ได้มีกำหนด แต่เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก เราจะได้เตรียมอุปกรณ์ต่างๆ และอำนวยความสะดวกให้ดีขึ้น หากมีการมาขออนุญาตหลายกลุ่มพร้อมกัน อาจต้องมีการเจรจากัน คงไม่สามารถให้จัดพร้อมกันได้ ต้องถ้อยที ถ้อยอาศัย ทุกคนมีเจตนาที่ดี
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่มีประชาชนมาชุมนุมเกินกว่าที่กำหนด จะมีมาตรการอย่างไร นายชัชชาติ กล่าวว่า ผู้จัดจะต้องมีการประมาณการด้วยว่า ผู้ชุมนุมจะมาเท่าไหร่ บางครั้งหากเกิดความหนาแน่นจริงๆ สามารถรับชมผ่านทางไลฟ์สดได้ เพราะมีช่องทางในการสื่อสารมากขึ้น อย่างวันนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมที่จะจัดกิจกรรม 24 มิ.ย. ได้ประสานมายังนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะมีผู้ที่มาชุมนุมประมาณ 500-600 คน ส่วนเรื่องการกำหนดเวลาในการเลิกชุมนุมให้เป็นไปตามการขออนุญาตการใช้เครื่องขยายเสียง ต้องคำนึงถึงคนที่อยู่รอบข้างด้วย
เมื่อถามว่า กรณีที่มีผู้ชุมนุมบางกลุ่มอาจจะไม่ได้อยู่ในสถานที่ที่จัดไว้ให้ แต่ไปอยู่บนท้องถนนแทน นายชัชชาติ กล่าวว่า ต้องค่อยๆ ดูกันไป กทม.ต้องพยายามควบคุม ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น แต่ต้องพยายามชี้แจง เรียนตรงๆ ว่า บรรยากาศกรุงเทพฯ ดีขึ้น อีกไม่นานก็จะเลือกตั้งใหญ่แล้ว เราทุกคนอยากฟังความคิดเห็นที่แตกต่างคืออะไร ถ้าเราทำให้เกิดเรื่องอื่น สุดท้ายการแสดงความคิดเห็นจะไม่ได้แสดงความเห็น กลายเป็นทะเลาะเรื่องอื่นแทน ดังนั้นอย่าเปลี่ยนการแสดงความคิดเห็นสาธารณะเป็นอย่างอื่น
เมื่อถามอีกว่า จะลงไปฟังด้วยหรือไม่ หรือเป็นการส่งตัวแทนไปฟัง นายชัชชาติ กล่าวว่า "มีคนของกทม.ในพื้นที่เหมาะสม และผมจะลงไปในเมื่อเวลาที่เหมาะสม ผมเหมือนไม้สุดท้าย เก็บผมไว้หน่อย และผมก็คงลงไปเดินเล่น กินขนม ฟังความเห็นของคน เมื่อเราลงไปฟัง ทักทายคน อาจจะได้ไอเดียใหม่ๆ มาพัฒนาเมืองก็ได้ ต้องมองว่าเป็นบรรยากาศบวก การฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง คือพื้นฐานของการเป็นประชาธิปไตย เมื่อไหร่ก็ตาม สังคมยอมรับความเห็นที่แตกต่างได้ ความขัดแย้งก็จะน้อยลง” นายชัชชาติ กล่าวย้ำ