หลากมุมมอง 90 ปี ประชาธิปไตย คาดอีก 10 ปีเติบโตทบเท่าทวีคูณ
วันที่ 24 มิ.ย. ปีนี้เป็นวันครบรอบ 90 ปีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตย นำระบบการเมืองใหม่ที่ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งคณะราษฎรเรียกว่า “ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ” มาใช้
เหตุการณ์ 24 มิ.ย.นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมมากมาย หนึ่งในนั้นคือการก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเส้นทาง 90 ปีของการปฏิวัติได้ผ่านการต่อสู้ของกลุ่มการเมืองต่างๆ อยู่ตลอดเวลา วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงาน PBIC RESEARCH SYMPOSIUM: 90 ปี ประชาธิปไตยไทย 88 ปีธรรมศาสตร์ ที่ห้องพูนศุข วิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ประกอบด้วยการเสวนาทางวิชาการหลายหัวข้อ นักวิชาการร่วมแสดงความคิดเห็น เผยมุมมองต่อประชาธิปไตยทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคตไว้อย่างน่าสนใจ
เริ่มต้นจากมุมมองแห่งอดีต คำว่า constitutional monarchy ของปรีดี พนมยงค์ แท้จริงแล้วมีความหมายอย่างใดกันแน่ สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ ปัญญาชนสยาม ผู้เกิดในปี 2475 มีอายุเท่ากับประชาธิปไตยไทยพอดี กล่าวในหัวข้อราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ อธิบายความหมายของคำๆ นี้ว่า เป็นการนำแบบอย่างมาจากอังกฤษกลายๆ หมายความว่าพระมหากษัตริย์เป็นเพียงองค์พระประมุข แต่การบริหารงานเป็นเรื่องของคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีต้องขึ้นกับสภา และสภามาจากราษฎร แม้ระยะแรกจะมีการเลือกตั้งทางอ้อม และคณะราษฎรเกือบจะครึ่งหนึี่งคุมสภาอยู่ แต่หลักการสำคัญคือกระจายอำนาจให้ราษฎรมากที่สุด ในระบอบนี้พระเจ้าแผ่นดินมีพระอิสริยยศ แต่ไม่มีพระราชอำนาจ กล่าวง่ายๆ คือกษัตริย์มีหน้าที่ dignify (เกียรติยศ สง่างาม) ส่วน efficiency เป็นหน้าที่ของรัฐบาล
ในบริบทของปัจจุบัน รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมาศาสตร์ แสดงความเห็นในพิธีเปิดงานว่า เท่าที่ผ่านมาพรรคการเมืองไทยเกิดและตายอย่างหลากหลาย ส่วนใหญ่ตายแบบผิดธรรมชาติ พรรคการเมืองใหม่ๆ ตอนนี้ก็น่าเป็นห่วงต้องรักษาเนื้อรักษาตัวให้ดี เพราะประเทศไทยไม่มีระบบนิเวศที่เอื้อกับการเติบโตของพรรคการเมืองเท่าใดนัก
“90 ปีที่ผ่านมาเราอาจจะเห็นว่าประชาธิปไตยไทยไม่ได้ก้าวหน้าไปสักเท่าไหร่ แต่อีกสิบปีข้างหน้าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงแบบ exponential ด้วยเหตุว่าเทคโนโลยีได้เข้ามาสร้างประชาธิปไตยในหลากหลายรูปแบบ การสื่อสารข้อมูลเปิดกว้าง ลบการผูกขาด propaganda ทุกคนสามารถสื่อสารถึงกันและกัน ข้อมูลเปิดกว้าง ทุกเสียงมีความหมาย ดังกังวาล ยังไม่รวมถึงคนเจนเนอเรชันใหม่ๆ ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลง แน่นอนว่าคนรุ่นเก่าย่อมต้องการรักษาฐานอำนาจเอาไว้ เป็นธรรมชาติของทุกสังคม การเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่จึงไม่อาจใช้เพียงกำลังความคิด แต่ต้องมีกลวิธีที่แยบคายและก้าวเดินด้วยความระมัดระวัง ตระหนักเสมอว่า เราอยู่ใน ecosystem ที่ไม่เอื้อต่อการงอกงามของประชาธิปไตยอย่างรวดเร็ว หากเดินอย่างระมัดระวังแบบนี้ 10 ปีข้างหน้าเราอาจจะได้เห็นความงอกงามของประชาธิปไตยไทย”
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ปัจฉิมกถาในหัวข้อ "90 ปีประชาธิปไตย ก้าวต่อไปของประชาชน: ประสบการณ์ประชาธิปไตยผ่านมุมมองการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพ" ในทัศนะของผู้ว่าฯ กทม. เมื่อพูดถึงประชาธิปไตย 90 ปีมานี้เครียด มีแต่เรื่องที่หดหู่เรื่องที่หมดความหวังแต่การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.มีความหวัง ถึงเวลาของคนรุ่นใหม่ที่ต้องรับคบเพลิงต่อ
เขาได้ยกตัวอย่างพลังของประชาธิปไตยจากการทำงานเพียง 15 วัน กรุงเทพฯ ก็เปลี่ยนแปลงได้ด้วย platform revolution ที่ภาคธุรกิจทำมานานแล้ว โดยใช้ Traffy Fondue แอพพลิเคชันที่พัฒนาโดย สวทช. หลักการคือแจ้งปัญหาบนแพลตฟอร์ม บอกให้ทราบว่าเกิดเหตุที่พิกัดใด ถ่ายรูปประกอบ จากนั้นปัญหาจะไปปรากฏบนแผนที่ เขตที่ขยันสามารถเข้ามาดูข้อมูลแล้วเข้าแก้ไขซ่อมแซมได้ทันทีโดยที่ผู้ว่าฯ ไม่ต้องสั่งการเลย เพราะปัญหาอยู่บนแพลตฟอร์มไม่ได้อยู่ในสายการบังคับบัญชาเหมือนในอดีต ทุกคนสามารถดูข้อมูลได้หมด
ชัชชาติกล่าวว่า นับตั้งแต่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง เขาและทีมงานเปิดตัวแอพ Traffy Fondue อีกครั้ง ปัจจุบันแก้ปัญหาได้แล้วหมื่นกว่าเคสโดยที่ผู้ว่าฯ ไม่จำเป็นต้องเซ็นหนังสือเลยสักตัว หลายเคสที่แจ้งเช้าซ่อมบ่ายจนประชาชนงง ทั้งๆ ที่ควรเป็นเรื่องปกติ
"นี่คือพลังของประชาธิปไตย ที่ผมมาอยู่ตรงนี้ได้ก็คือพลังประชาธิปไตย ผมไม่มีทางมาอยู่ตรงนี้ได้ถ้าไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย ผมมาคนเดียว อิสระ แต่มาด้วยความรู้ ด้วยทีมงาน ด้วยโซลูชันที่แก้ปัญหาเมืองได้ นี่แหละคือความหวังของคนรุ่นใหม่ การเมืองไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว ประชาธิปไตยในอนาคตผมว่าเป็นเรื่องของความรู้ ความสามารถ เทคโนโลยี ขอให้คนรุ่นใหม่มาร่วมกันเยอะๆ พวกเราเปลี่ยนเมืองได้"
นี่คือมุมมองสามมิติ อดีต ปัจจุบัน อนาคต จากนักวิชาการ นักคิด และนักปฏิบัติการในนาม “ผู้ว่าฯ กทม.” ต่อประชาธิปไตยไทยในวาระครบรอบ 90 ปี ที่ฟังแล้วมีความหวังว่าอีก 10 ปีข้างหน้าบ้านเมืองไทยคงเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นในวาระครบรอบ 100 ปีประชาธิปไตย