ครม. เห็นชอบผลประชุมกรอบความร่วมมือ แม่โขง – ล้านช้าง 5 ฉบับ
ครม.เห็นชอบ 5 เอกสารผลลัพธ์ การประชุมกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 7 ขับเคลื่อนความร่วมมือหลากหลายมิติ
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565 ว่า ครม.เห็นชอบเอกสารผลลัพธ์การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง- ล้านช้าง ครั้งที่ 7 รวม 5 ฉบับ ซึ่งจะมีการรับรองเอกสารผลลัพธ์ในการประชุมที่จัดขึ้นในวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ที่เมืองพุกาม ประเทศเมียนมา
ทั้งนี้ การจัดตั้งกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong-Lancang Cooperation: MLC) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และลดความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ ปัจจุบันมีสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนามไทย และจีน
สำหรับร่างเอกสารผลลัพธ์ทั้ง 5 ฉบับ มีสาระสำคัญเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในระดับรัฐมนตรีระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่างๆอาทิ การบริหารจัดการภัยพิบัติ การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร การพัฒนาระบบศุลกากรกากร และการร่วมมือทางด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
ฉบับแรก แถลงข่าวร่วมของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง- ล้านช้าง ครั้งที่ 7 มีสาระสำคัญเป็นการยืนยันหลักการและเจตนารมณ์ทางการเมืองของประเทศสมาชิกในการรักษาความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือในหลากหลายสาขา เช่น การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การเกษตร สิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ฉบับที่สอง แถลงการณ์ร่วมเพื่อการส่งเสริมความร่วมมือด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง โดยร่วมกันจัดตั้งกลไกความร่วมมือด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติ
ฉบับที่สาม แถลงการณ์ร่วมการส่งเสริมความร่วมมือด้านการเกษตรและความมั่นคงทางอาหารภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง โดยส่งเสริมความร่วมมือด้านการเกษตรและความมั่นคงทางอาหารผ่านการเสริมสร้างผลิตภาพการผลิต ลดความฟุ่มเฟือย ส่งเสริมความร่วมมือด้านมาตรฐาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงการอำนวยความสะดวกการค้าสินค้าเกษตร
ฉบับที่สี่ แถลงการณ์ร่วมเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านศุลกากร เพื่อการส่งเสริมการค้าและการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากรภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง โดยสนับสนุนให้หน่วยงานด้านศุลกากรของประเทศสมาชิกส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาระบบศุลกากร ด่านและความเชื่อมโยงอัจฉริยะ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย และการอำนวยความสะดวกพิธีการศุลกากร
ฉบับที่ห้า แถลงการณ์ร่วมเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและการเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างอารยธรรมภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง โดยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระดับประชาชนและความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว