ยื่น “ก้าวไกล” สอบ “กรมราชทัณฑ์” ปมนักกิจกรรมพยายามฆ่าตัวตายในคุก
กลุ่มเยี่ยมเพื่อนในเรือนจำ ยื่นหนังสือถึง “ก้าวไกล” ขอให้ช่วยตรวจสอบความโปร่งใส “กรมราชทัณฑ์” หลัง “นักกิจกรรม” พยายามฆ่าตัวตายในคุก จี้คืนสิทธิประกันตัวผู้ต้องขัง
เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2565 ที่รัฐสภา น.ส.อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล รับหนังสือจาก กลุ่มเยี่ยมเพื่อนในเรือนจำ ที่มาเรียกร้องให้ตรวจสอบความโปร่งใสของกรมราชทัณฑ์และกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในเรือนจำในกรณีต่าง ๆ
โดย น.ส.อมรัตน์ กล่าวว่า ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ กมธ.ภายในวันนี้ เหตุการณ์ทำร้ายตัวเองของนักกิจกรรมทางการเมืองมีลักษณะปิดข่าวจากกรมราชทัณฑ์ โดยเหตุการณ์เกิดตั้งแต่วันศุกร์ แต่โลกภายนอกกว่าจะรู้เรื่องคือวันจันทร์ หากเกิดรุนแรงมากกว่านี้ ใครจะสามารถช่วยได้ทัน จึงขอให้กรมราชทัณฑ์และกระบวนการยุติธรรมทบทวนแนวทาง เรื่องการกำหนดคนเข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในดุลพินิจของอธิบดีกรมราชทัณฑ์สามารถทำได้ แต่ที่ผ่านมามีการใช้ข้ออ้างเรื่องโควิดในการจำกัดการเข้าเยี่ยม ตอนนี้สถานการณ์คลี่คลายและกำลังกลายเป็นโรคประจำถิ่น กฎเกณฑ์จึงควรผ่อนคลายได้ อย่าให้โลกประนามไปมากกว่านี้ว่า ประเทศไทยมีการนำกฎหมายอาญา ม.112 และระเบียบเรือนจำมาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือจัดการนักกิจกรรมทางการเมืองและผู้เห็นต่าง
“สภาแห่งนี้ ใช้งบสร้างกว่า 2 หมื่นล้านบาท เป็นสภาของประชาชน ทุกคนต้องเข้ามาใช้ได้ และควรใช้พื้นที่แห่งนี้พูดคุยกัน ไม่ใช่พอมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในสังคมแล้วต้องเรียกเข้าไปคุยในกระทรวงกลาโหม ประเด็นที่จะนำเข้าไปใน กมธ. คือ เรื่องสิทธิในการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังที่ถูกจำกัด เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างร้ายแรง กรมราชทัณฑ์อ้างโควิด และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในการจำกัดจำนวนเยี่ยม เป็นการทำให้ผู้ต้องขังที่ยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่เกิดความเครียดและทำร้ายตัวเองหรือไม่ จะต้องมีการตรวจสอบในเรื่องนี้” น.ส.อมรัตน์ กล่าว
ส่วนกลุ่มเยี่ยมเพื่อนในเรือนจำ นำโดย น.ส.ณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือ “แหวน” อดีตผู้ต้องขังในเรือนจำทัณฑสถานหญิงกลาง เปิดเผยว่า ในฐานะที่เป็นรุ่นพี่ที่ถูกฝากขังรอการพิจารณาคดีนานที่สุดคนหนึ่ง การยื่นหนังต่อ น.ส.อมรัตน์ เป็นความหวังของพวกเราชาวคุกทุกคน เพื่อนำไปสู่การเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานในเรือนจำและสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องขัง
“นักกิจกรรมที่พยายามฆ่าตัวตายเดินทางไปมอบตัวด้วยตนเอง เพราะคดีที่ถูกกล่าวหาเขายืนยันอย่างชัดเจนว่าไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ในเวลานั้น จึงมีข้อกังขาต่อกระบวนการยุติธรรมว่า ศาลได้ดูหลักฐานและพิจารณาด้วยเหตุผลหรือไม่ก่อนจะออกหมายจับ เพราะหลักฐานที่ใช้ในชั้นสอบสวนเป็นคนละช่วงเวลากัน จึงเป็นหลักฐานที่อ่อนและเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขามีความพยายามที่จะฆ่าตายเพราะความเครียด กลุ่มเยี่ยมเพื่อนในเรือนจำจึงขอฝากเรื่องนี้ให้ ส.ส.อมรัตน์ และพรรคก้าวไกล เข้าตรวจสอบความโปร่งใสนี้ต่อไป” น.ส.ณัฏฐธิดา กล่าว
กลุ่มเยี่ยมเพื่อนในเรือนจำ ยังสะท้อนถึงมาตรการของกรมราชทัณฑ์ว่า การจำกัดสิทธิเข้าเยี่ยมทำให้เกิดความเครียด ซึ่งกรณีของนักกิจกรรมที่พยายามทำร้ายตัวเองด้วยการกินยาพาราฯ 60 เม็ด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางกลุ่มได้รับข่าวล่าช้า ผู้ถูกคุมขังได้มีการกรีดแขน กินยาผ่านมาแล้ว 2-3 วัน แต่ไม่มีการแจ้งญาติเลย จึงมีข้อสงสัยถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ว่าพยายามปกปิดความจริงหรือไม่ อีกประการคือ หลายคนมีข้อสงสัยต่อกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ชั้นสืบสวน ชั้นศาลและการฝากขัง ซึ่งทางกลุ่มได้นำคลิปเสียงของเจ้าหน้าที่ที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องขังมามอบให้ทางสภาสำหรับการพิจารณาและตรวจสอบต่อไป