จากวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” ถึง “โควิด” จุดเปลี่ยนการเมืองไทย “แลนด์สไลด์”
ภายใต้บริบทพลิกฟื้นเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด ที่อาจมีส่วนคล้ายกับสถานการณ์หลังวิกฤติต้มยำกุ้งในอดีต ที่ผู้คนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า และกำลังมองหาผู้กอบกู้วิกฤติคนต่อไป
การเมืองเป็นเรื่องความหวัง ประโยคนี้คงไม่หนีจากความเป็นจริงสักเท่าใดนัก และเป็นสิ่งที่อยู่คู่การเมืองไทยมาทุกยุคทุกสมัย และเห็นได้ชัดเจนมากที่สุดในยุคที่คนไทยเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจ“ต้มยำกุ้ง”
ยุคนั้น นับเป็นยุคที่ผู้คนเต็มไปด้วยความสิ้นหวัง ธุรกิจน้อยใหญ่ล้มหายตายจาก หลายคนกลายเป็นหนี้ก้อนโตภายในช่วงข้ามคืน ประเทศแทบมองไม่เห็นหนทางไปต่อ
ในช่วงเวลาหลังจากผ่านจุดพีคของวิกฤติต้มยำกุ้ง นักธุรกิจคนหนึ่ง ที่ชื่อ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” ซึ่งประสบความสำเร็จจากกิจการโทรคมนาคมและการสื่อสาร ผันตัวเข้าสู่การเมือง และได้สร้างจุดเปลี่ยนทางการเมืองของประเทศไทยครั้งสำคัญ ด้วยการตั้งพรรคการเมืองใหม่ที่ชื่อว่า “พรรคไทยรักไทย” ภายใต้สโลแกน “คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อไทยทุกคน” มีการเปิดตัวเมื่อวันที่14 กรกฎาคม 2541
โดยก่อนหน้านั้น “ทักษิณ” มีโอกาสชิมลางทางการเมืองกับ“พรรคพลังธรรม” ภายใต้การนำของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ก่อนได้รับการแต่งตั้งเป็น รมว.ต่างประเทศ ในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย เมื่อปี 2537
การนำทัพลงเลือกตั้งด้วยตัวเองครั้งแรกของ “ทักษิณ” ในช่วงต้นปี 2544 ไทยรักไทย กวาดส.ส.ได้เกือบครึ่งสภาฯ 248 ที่นั่ง จากทั้งหมด 500 ที่นั่ง จนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก และสามารถบริหารประเทศจนครบวาระ 4 ปี
ก่อนจะมีการเลือกตั้งครั้งถัดมาในปี 2548 ภายใต้ สโลแกน “4 ปีซ่อม 4 ปีสร้าง” ไทยรักไทยสร้างปรากฎการณ์แลนด์สไลด์ ชนะอย่างถล่มทลาย กวาด ส.ส.มากถึง 377 ที่นั่ง จากทั้งหมด500 ที่นั่ง และทักษิณก็ครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกสมัย
ปัจจัยความสำเร็จหนึ่งของไทยรักไทย และทักษิณ เกิดจากการควบรวมพรรคเมืองต่างๆ เข้ามาไว้ด้วยกัน จนไทยรักไทย มีความเข้มแข็ง
และจุดเด่นที่สำคัญ คือเรื่องนโยบายของรัฐบาลไทยรักไทย ที่ถือเป็นต้นตำรับของ “ประชานิยม” ในทางการเมืองของไทย ที่นับว่าตีโจทย์แตก รู้ว่าปัญหาของคนส่วนใหญ่ คือเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้อง อันเป็นผลมาจากวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่ส่งผลกระทบยืดเยื้อหลังจากนั้นอยู่หลายปี
คนไทยตอนนั้นจึงได้เห็นนวัตกรรมทางการเมือง ผ่านนโยบายลดแลกแจกแถม ที่โดนใจประชาชนมากมาย อาทิ โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ พักหนี้เกษตรกร กองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น
แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงนโยบายแนวประชานิยมในยุคทักษิณ ว่าไม่ได้สร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนฐานรากก็ตาม เหมือนให้ปลาโดยตรง โดยไม่ได้ให้เบ็ด ที่ประชาชนต้องเรียนรู้ ต่อสู้ ดิ้นรนด้วยตัวเอง
นอกจากนั้น เทคนิคทางการตลาดที่ไทยรักไทยนำมาใช้ ด้วยการทำให้ผู้นำอย่างทักษิณ มีภาพลักษณ์ติดดิน ชาวบ้านเข้าถึงง่าย เห็นได้จากเมื่อครั้งลงพื้นที่ไปกินนอนกับชาวบ้านที่อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด เพื่อติดตามแก้ปัญหาความยากจนด้วยตัวเอง ซึ่งเรียกกันว่า“อาจสามารถโมเดล”
ตอนนั้นจะเห็นภาพของนายกฯทักษิณ ใช้ชีวิตไม่ต่างจากชาวบ้าน ทั้งล้อมวงกินข้าว นุ่งผ้าขาวม้า ถือขันอาบน้ำ ขี่มอเตอร์ไซต์ เป็นต้น
การขึ้นสู่อำนาจของทักษิณ หลังวิกฤติต้มยำกุ้ง ถือว่าจัดทัพเตรียมความพร้อมมาเป็นอย่างดีและเข้ามาในจังหวะที่เหมาะเจาะ มาพร้อมรูปแบบและแนวทางการทำการเมืองที่แตกต่างจากที่เคยมีมา หาเสียงอะไรไว้ ก็สามารถทำได้จริง ประชาชนได้กินได้ใช้ มีอะไรที่จับต้องได้ แม้จะเผชิญข้อครหาในเรื่องผลประโยชน์ขัดกัน จนคนบางกลุ่มโจมตีว่า เป็นต้นเหตุให้สังคมเกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายก็ตาม
ถึงอย่างไรก็ตาม ดีเอ็นเอของไทยรักไทยและทักษิณ ยังคงถูกส่งผ่านสู่พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน แม้จะถูกยุบพรรคมากี่ครั้งก็ตาม ก็ยังสามารถครองใจคนรากหญ้าในต่างจังหวัด โดยเฉพาะในภาคเหนือ และอีสาน
หลังวิกฤติโควิดใน พ.ศ.นี้ ประชาชนต่างก็รอคอยความหวังจากรัฐบาลใหม่ ไม่ต่างกับยุควิกฤติต้มยำกุ้ง
ดังนั้น เป้าหมายต่อไป คือการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคเพื่อไทยและทักษิณจึงขยับปรับทัพ หมายปักธงความหวังให้คนไทย เพื่อนำไปสู่การคว้าชัยชนะแบบถล่มทลาย หรือแลนด์สไลด์ให้ได้อีกครั้ง
ภายใต้บริบทพลิกฟื้นเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด ที่อาจมีส่วนคล้ายกับสถานการณ์หลังวิกฤติต้มยำกุ้งในอดีต ที่ผู้คนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า และกำลังมองหาผู้กอบกู้วิกฤติคนต่อไป