“นายกฯ 500” อยู่ยาว แลกทำลาย ปชต.“สภา"
จำนวน392เสียงของสมาชิกรัฐสภา ที่โหวตพลิกสูตรคำนวณส.ส.จาก 100 คนเป็น500คน เป็นประจักษ์ชัดของการยอมให้ "ฝ่ายบริหาร" ครอบงำ "ฝ่ายนิติบัญญัติ" ที่มีใบสั่งให้โหวต เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง
ไม่ว่าใครจะอยู่เบื้องหลังการดลใจให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม หักหน้า “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แสดงเจตนาให้ “เสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภา” เลือกสูตรคำนวณ “ส.ส.บัญชีรายชื่อ” ด้วยจำนวน 500 คนหาค่าเฉลี่ย ส.ส. เพื่อให้ได้เกณฑ์พึงมีของส.ส.1 คน
แทนการยืนยันตามเนื้อความที่กรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ.... ที่มีมติให้ใช้จำนวน 100 คนหาค่าเฉลี่ย
ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือ คุณค่าของสถาบันนิติบัญญัติถูกทำลาย และมองเป็นอื่นไปไม่ได้ว่า "ใบสั่ง” ทางการเมืองอยู่เหนือการใช้เอกสิทธิ์ของ “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
สำหรับความระหว่างบรรทัด ที่ “พล.อ.ประยุทธ์” สอบถามความเห็นแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลต่อสูตรคำนวณส.ส.มีรายงานเป็นคำพูดว่า “ส่วนตัวเห็นด้วยกับสูตรหาร 500 และไม่ว่าจะออกเป็นสูตรไหน ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความอยู่ดี”
ทำให้ ส.ส.ในสภาฯ ทั้งฝั่งฝ่ายค้าน และฝ่ายร่วมรัฐบาล ประเมินไว้ว่า การพลิกสูตรคำนวณ ส.ส. นี้ คือ เกมการเมือง เกมชิงอำนาจ เพื่อให้ได้ครองอำนาจยาวนาน
และด้วยกลไก ส่งวินิจฉัยตีความ จะเป็นเครื่องมือ “ยื้อ” และ “คานงัด“ กลไกของฝ่ายนิติบัญญัติ ไปจนกว่าจะได้กติกาที่ผู้มีอำนาจพอใจ
ต้องยอมรับว่าการให้อำนาจ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ในขั้นตอนนี้ มองได้ว่า คือ ”ตัวช่วย” ที่สมประโยชน์ ทั้งในแง่ “ปรับปรุงแก้ไขใหม่” หรือ “ช่วยรับรองความถูกต้อง”
ตามกลไกของการตรากฎหมายลูกที่กำหนดไว้ใน รัฐธรรมนูญ มาตรา 132 เมื่อรัฐสภาเห็นชอบร่างพ.ร.ป.ในวาระสาม ด้วยเสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่ของรัฐสภาแล้ว ขั้นตอนต่อไปซึ่งกำหนดให้ต้องทำภายใน 15 วัน คือส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ความเห็น หรือทักท้วง
โดยขั้นตอนนี้ “กกต.” มีระยะเวลาดำเนินการ 10 วัน หากไม่ตอบกลับภายในเวลานั้น รัฐสภาต้องทำในขั้นตอนต่อไป แต่หาก กกต. โต้แย้งกลับมา ซึ่งมีเพียง 2 เงื่อนไขให้โต้แย้ง คือ
1.ข้อความขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ หรือ 2.ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ให้ส่งคืน “รัฐสภา” เพื่อให้เปิดประชุมร่วมกัน เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมตามข้อเสนอภายใน 30 วัน
เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะมีขั้นตอน ต้องทำต่อตามมาตรา 145 คือ ส่งให้นายกรัฐมนตรีเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่มีจังหวะที่นายกฯ ต้องรอไว้ 5 วัน เผื่อมี “สมาชิกรัฐสภา” เข้าชื่อเพื่อร้องขอให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตีความร่างกฎหมายว่ามีข้อความขัด หรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นไม่ถูกต้องหรือไม่
อีกทั้ง ยังเปิดให้นายกฯ ยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้เองเช่นกัน หากเห็นความบกพร่องของร่างกฎหมาย
ในจังหวะที่รอไว้ 5 วันนี้เอง คือช่วงที่ “สมาชิกรัฐสภา” จะเข้าชื่อเพื่อส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีคนที่จองคิวไว้แล้วคือ “กลุ่มส.ส.พรรคเพื่อไทย” และ “ไพบูลย์ นิติตะวัน พ่วงกับส.ว.” เพราะมองว่าสูตรหาร 500 นั้น ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2564 มาตรา 91
ที่มีบทบัญญัติว่าด้วยการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งมีคำสำคัญคือ ต้องเป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนของส.ส.บัญชีรายชื่อ คือ 100 คน ดังนั้นความของร่างกฎหมายลูก จะเป็นอื่นไปจากกฎหมายแม่ไม่ได้
ทว่า ในมุมคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ฝ่ายการเมือง ในฟากฝ่ายค้านวิเคราะห์ว่า หากคำวินิจฉัยชี้ว่า ข้อความที่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแย้งกับรัฐธรรมนูญ หากเป็นข้อความซึ่งเป็นสาระสำคัญ “ร่างพ.ร.ป.” นั้นต้องตกไปทั้งฉบับ และต้องกลับมาสู่จุดเริ่มต้นส่งร่างกฎหมายเข้าสภาฯ อีก
หรือหากวินิจฉัยว่า ความเฉพาะมาตราขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่เนื้อหาทั้งฉบับไปต่อได้ อาจกลายเป็นปัญหาว่า จะจัดการเลือกตั้งและคำนวณหาส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้หรือไม่ และจะกลายเป็นปัญหาในทางปฏิบัติงานของ กกต.แน่นอน
หากมุมคำวินิจฉัยออกมาที่ว่า “ตกไปทั้งฉบับ” เมื่อนับปฏิทินการเมือง ประกอบกับ จุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุการเมือง ทั้งศึกซักฟอก และส่งตีความวาระ 8 ปีของการดำรงตำแหน่งนายกฯ ส่อว่า "ร่างกฎหมายลูกที่ใช้เลือกตั้ง” ที่ต้องจัดทำใหม่ อาจไม่ทันผ่านการพิจารณาของรัฐสภา
และจะกลายเป็นความชอบธรรมที่ “รัฐบาล” ที่ดำรงสถานะ "รักษาการ” สามารถออกกติกาเพื่อใช้กับการเลือกตั้งได้เพียงฝ่ายเดียว อาจเอื้อให้ครองอำนาจอยู่ยาว
ทว่า หากคำวินิจฉัยของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ตีความว่าด้วยสูตรหาร 500 เป็นความถูกต้อง ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ แน่นอนว่าจะเกิดคำถามกับความ "เป็นธรรม” ทันที และฝั่งผู้ที่เสียประโยชน์ ที่สะสมพลังมวลชนไว้ อาจลุกฮือประท้วง และเกิดความไม่สงบในบ้านเมือง ยิ่งสุ่มเสี่ยง กลายเป็นข้ออ้างของการ “อยู่ต่อ” เพื่อรักษาความสงบของบ้านเมือง
ดังนั้น ไม่ว่าอะไรดลใจ “ประยุทธ์” ถูกชะตากับตัวเลข 500 ต้องยอมรับว่า การใช้การเมืองพลิกสูตร สะท้อนความต้องการอยู่ยาว ไปพร้อมๆ กับการกร่อนทำลายระบบของฝ่ายนิติบัญญัติ และความเป็นประชาธิปไตยในสภาผู้แทนราษฎร.