"ชัยชาญ" แจงสภาฯ ปมล้ำน่านฟ้า ยันทำรอบคอบทั้งด้านทหาร-การทูต
"ชัยชาญ" แจงกระทู้สด ปม เครื่องบินรบเมียนมา รุกล้ำน่านฟ้าไทย ที่อ.พบพระ ยันดำเนินการรอบคอบ ครอบคลุมทั้งด้านทหารและการทูต
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายศุภชัย โพธิสุ รองประธานสภาฯ คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ช่วงกระทู้ถามสด นายศราวุธ เพชรพนมพร ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้ถามสดต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ต่อประเด็นเหตุการณ์ที่เครื่องบินรบของทหารเมียนมารุกล้ำน่านฟ้าไทย ที่จ.วาเว่ย์ อ.พบพระ จ.ตาก เมื่อ 30 มิถุนายน ถึงการดำเนินการประท้วงและแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นอีก พร้อมกับนำคลิปวีดีโอที่ระบุว่าถ่ายจากฝั่งประเทศไทย ที่พบเครื่องบินและการยิงใกล้พื้นที่ พร้อมระบุว่า ตามกฎหมายสากล ไม่ให้มีกระสุน ในระยะ 5 ไมล์ทะเลแต่ตคลิปที่ปรากฎนั้นสามารถตรวจสอบได้ว่าอยู่จุดใด ดังนั้นควรต้องดำเนินการฐานละเมิดกฎหมายสากล
ทั้งนี้ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ชี้แจงแทนนายกฯ ว่า สถานการณ์เมียนมา ประเทศไทยและประเทศกลุ่มอาเซียนติดตามอย่างใกล้ชิดด้วยความห่วงใย ทั้งนี้ในการดำเนินการยืนยันจะปฏิบัติตามเอกสารถ้อยแถลงของประธานอาเซียน ทุกฝ่ายละเว้นการกระทำให้สถานการณ์เกิดความรุนแรงและสนับสนุนเมียนมาให้กลับไปสู่สถานการณ์ปกติ ด้วยวิธีการเชิงบวก และสร้างสรรค รวมถึงสนับสนุนทางออกที่เป็นสันติ ตามฉันทามติของอาเซียน พร้อมยืนยันว่าไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ขัดแย้งมากที่สุด ปรารถนาให้สันติภาพเกิดขึ้น ขอให้ทุกฝ่ายในเมียนมาอดทนและหารือร่วมกันเพื่อให้มีทางออก
พล.อ.ชัยชาญ ชี้แจงด้วยว่า กรณีดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.เวลา 11.16 น. เรดาห์กองทัพอากาศได้ตรวจพบอากาศยานของเมียนมา คาดว่าเป็นเครื่องบินรบมิก 29 บินห่างชายแดนไทยประมาณ 100 ไมล์ทะเล หรือ 108 กิโลเมตร เมื่อศูนย์ยุทธการทางอากาศได้ทำการพิสูจน์ฝ่ายแล้วได้เฝ้าติดตามตลอดเวลา และเมื่อเวลา11.48 น. เครื่องบินลำดังกล่าวได้ปฏิบัติการอยู่ในประเทศเมียนมาฝั่งตรงข้ามอ.พบพระ และเมื่อเวลา 11.56 น. เครื่องบินลำดังกล่าวได้บินล้ำเขตแดนเข้ามาฝั่งไทยประมาณ 1 ไมล์ทะเลบริเวณต.วาเล่ อ.พบพระ มีทิศทางมุ่งหน้ากลับประเทศ และหายจากจอเรดาห์ไป ในช่วงที่บินล้ำเข้ามาเป็นช่วงเวลาสั้น กองทัพอากาศเมื่อจับเรดาห์ได้จึงมีมาตรการตอบโต้โดยทำการประท้วงผ่านผู้ช่วยทูตทหารอากาศไทยประจำเมียนมา รวมทั้งประท้วงผ่านช่องทางคณะกรรมการชายไทยท้องถิ่นไทย-เมียนมา (ทีบีซี)
พล.อ.ชัยชาญ ชี้แจงต่อว่า จากนั้นเวลา 14.00 น.กองทัพอากาศไทยตรวจพบอากาศยานเมียนมาคาดว่าเป็นเฮลิคอปเตอร์แบบเอ็มไอ17 ห่างแนวชายแดนไทยประมาณ 48 ไมล์ทะเลหรือ 86 กิโลเมตร จึงส่งเครื่องบินขับไล่เอฟ16 จำนวน2 ลำจากอ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ขึ้นทำการบินเวลา14.02 น. เพื่อเตรียมพร้อมสกัดกั้น แต่ไม่ได้มีการล้ำเข้ามาในเขตแดนของไทย กองทัพอากาศจึงได้สั่งการให้เครื่องบินเอฟ 16 ดังกล่าวบินลาดตระเวนรบรักษาเขต เพื่อป้องกันการผิดพลาดหากกรณีเมียนมาล้ำเข้ามาไทยอีก ทุกอย่างเป็นไปตามหลักการสากล และการสั่งการที่เกี่ยวข้องภายใต้กระบวนการคิดและตัดสินใจที่เป็นแบบแผนทางทหารด้วยความรอบคอบรัดกุมทั้งด้านทหารและการทูต พร้อมทั้งเรียกร้องเยียวยาค่าเสียหายต่อทรัพย์สินที่เกิดขึ้น และขอไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมาอีก
พล.อ.ชัยชาญ ชี้แจงอีกว่า ส่วนที่แม่ทัพภาคที่ 3 ไปร่วมประชุมที่เมียนมานั้น ในประเทศรอบบ้านทั้งหมดเรามีกลไกความร่วมมือสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจร่วมมือป้องกันชายแดนให้มีความมั่นคง ป้อกงันการลักลอบทำผิดกฎหมยา ซึ่งรอบบ้านนั้นมีกลไกความร่วมมือระดับพื้นที่ที่หน่วยทหารในพื้นที่ก็ได้เจรจาทำความเข้าใจกันเพื่อไม่ให้เหตุการณ์บานปลายมากขึ้น ระดับภาคที่มีแม่ทัพภาคทั้งสองประเทศเป็นประธานร่วมกัน ระดับสูงที่มีผู้บัญชาการทหารสูงสุดสองประเทศดำเนินการร่วมกัน รวมถึงระดับกระทรวงกลาโหม กลไกเหล่านี้ป้องกันความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเพื่อไม่ให้สถานการณ์รุกลามออกไปจนไม่เป็นผลดีต่อประเทศไทยและเพื่อนบ้านด้วย ยันยันว่าที่มีการไปร่วมประชุมนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการอะไรของเมียนมาทั้งสิ้น อีกทั้งในระดับกระทรวงต่างประเทศก็มีการดำเนินการอยู่ ไทยมีนโยบายชัดเจนยืนยันไม่ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดใช้ดินแดนไทยหรือสนับสนุนฝ่ายใดปฏิบัติในประเทศอื่นให้เกิดความขัดแย้งขึ้น ไม่ให้ดำเนินการเด็ดขาด
"ส่วนกรณีที่มีผู้ที่เสียชีวิตมีสถานะเป็นบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย เป็นบุตรของชนกลุ่มน้อยที่เกิดในไทย มีบัตรสีชมพู ซึ่งมีเพียงสิทธิด้านสาธารณสุขและสิทธิอาศัยในไทยได้ และอาศัยอยู่พื้นที่เมียนมา การเข้าออกไทยเป็นการดำเนินการของเขาตามชีวิตประจำวัน ยืนยันประเทศไทยยึดถือแนวทางการดำเนินการบนพื้นฐานตามฉันทามติ และหลักมนุษยธรรมอย่างเคร่งครัด" พล.อ.ชัยชาญ ชี้แจง.