“ประยุทธ์”ดีลเครือข่ายพรรคใหม่ – “ทักษิณ”แตกพรรคผนึกสาขา

“ประยุทธ์”ดีลเครือข่ายพรรคใหม่ – “ทักษิณ”แตกพรรคผนึกสาขา

เมื่อกติกาเปลี่ยน "นักเลือกตั้ง" ต่างคิดสูตรทางเลือก-ทางรอด ตรวจพรรคแนวร่วมศึก 2 ขั้ว “ประยุทธ์”ดีลเครือข่ายพรรคใหม่ – “ทักษิณ”แตกพรรคผนึกสาขา

เมื่อกติกาเลือกตั้งเปลี่ยน นักเลือกตั้ง พรรคการเมือง ต้องดิ้นรนหาทางออก ทั้งขั้วอนุรักษ์นิยม-ขั้วประชาธิปไตย ต่างคิดสูตรที่จะสนับสนุนให้ขั้วของตัวเองไม่เสียเปรียบจากสูตรคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ แบบหาร 500 กลยุทธแตกแบงค์พัน ตั้งพรรคพี่ พรรคน้อง จึงเป็นสูตรทางเลือก-ทางรอด ในการสู้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้

ฟากฝั่งของพรรคเพื่อไทย (พท.)หมอชลน่านนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ส่งสัญญาณตั้งพรรค "ครอบครัวเพื่อไทย" แก้สูตรหาร 500 พร้อมมั่นใจว่า จะทำให้ “ขั้วเพื่อไทย” ได้ ส.ส. เขต และส.ส. บัญชีรายชื่อ รวมกันมากกว่าทุกพรรคการเมือง

เช่นเดียวกับ “หมอเลี้ยบ” นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ผู้ประสานงานกลุ่มแคร์ ยกโมเดลการเลือกตั้งประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งพรรคเดโมแครต ออฟเกาหลี เป็นพรรคการเมืองใหญ่ ส่งผู้สมัคร ส.ส. เขต โดยมีพรรคเครือข่าย ชื่อว่าพรรคแพลตฟอร์ม ส่งผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ระหว่างเลือกตั้ง ต่างฝ่ายต่างเดินหน้าสู้ในระบบของตัวเอง เมื่อประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว พรรคพี่ พรรคน้อง จะมาจับมือกันจัดตั้งรัฐบาล

ขณะเดียวกัน “โทนี่ วู้ดซัม” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ส่งสัญญาณชัดเจน จะใช้ “Bangkok Model” ยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯกทม.” เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่ง "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ผู้ว่าฯกทม. เอาชนะแบบแลนด์สไลด์ โดยคะแนนรวมของผู้สมัครรายอื่น ทั้งหมด ยังน้อยกว่าคะแนนของ “ชัชชาติ

เมื่อโจทย์ของ “ทักษิณ” ต้องชนะแบบแลนด์สไลด์ อย่างน้อยต้องได้ ส.ส. 250 ที่นั่ง เพื่อเพิ่มแรงต่อรองทางการเมืองให้กับตัวเอง สานฝันภารกิจ “กลับบ้าน” ด้วยการใช้จำนวนเสียง ส.ส. ต่อรองกับ “หัวขบวนอนุรักษ์นิยม”

ดังนั้นหากหวังพึ่ง "เพื่อไทย" เพียงพรรคเดียว อาจยากที่จะชนะแบบแลนด์สไลด์ เพราะจะถูกล็อกด้วยเกณฑ์ ส.ส.พึงมี ที่จะทำให้ได้ ส.ส.รวมน้อยลง ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่อาจไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือหากได้ก็จะน้อยมาก
 

วัดใจ“ทักษิณ”แตกแบงค์พัน

ยุทธศาสตร์แตกแบงค์พัน จึงอยู่ในแผนของ “ทักษิณ” เพราะการตั้งพรรคเครือข่ายมาเก็บเก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก่อนจะมารวมเสียงกันภายหลังการเลือกตั้ง จะทำให้ฝันชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์กลายเป็นจริงได้

ทว่า การตั้งพรรคขึ้นใหม่ ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขเวลา ที่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดมากมาย ดังนั้นแนวทางการเทคโอเวอร์พรรคการเมือง มาเปลี่ยนชื่อใหม่ เปลี่ยนกรรมการบริหารพรรค จึงสามารถสร้างพรรคการเมืองทางลัดได้ทันเวลา

โฟกัสไปที่พรรคเครือข่าย ซึ่งเคยจัดตั้งไว้แล้ว ในช่วงที่ต้องแก้ทางการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งใช้บัตรใบเดียว แต่ไม่ถูกเลือกไปใช้งานจริง เนื่องจาก “ทักษิณ” เลือกใช้บริการพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ซึ่งโดนศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคระหว่างลงสู้ศึกเลือกตั้ง
“ประยุทธ์”ดีลเครือข่ายพรรคใหม่ – “ทักษิณ”แตกพรรคผนึกสาขา

“เส้นทางใหม่-พธ.”ลิสต์พรรคใหม่

 "พรรคเส้นทางใหม่" ขณะนี้มี “เมธี กาญวัฒนะกิจ” เป็นหัวหน้าพรรค “ศุภคุณ สุรทวีคุณ” เป็นเลขาธิการพรรค พรรคนี้มี “เดอะอ๋อย” จาตุรนต์ ฉายแสง เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง มี “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย คอยเป็นแบ็คอัพให้อยู่เบื้องหลัง

"พรรคเพื่อธรรม" (พธ.) มี “ธานินทร์ สุภาแสน” รักษาการหัวหน้าพรรค “ปณชัย แดงอร่าม” เป็นเลขาธิการพรรค โดยในช่วงก่อตั้งพรรคใหม่ " ยงยุทธ ติยะไพรัช" เคยนั่งหัวหน้าพรรคเพื่อธรรม โดยมี “เจ๊แดง” เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ กำกับการแสดงอยู่ฉากหลัง

ฉะนั้นหาก “ทักษิณ” เลือกเดินเกมแตกแบงค์พัน จึงมี "พรรคเส้นทางใหม่-พรรคเพื่อธรรม" เป็นทางเลือกในการรีแบรนด์พรรค มาสวมหัวโขน "พรรคน้อง" ของเพื่อไทย ในการลงสนามเลือกตั้งครั้งนี้ เพื่อเก็บคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ ก่อนจะมารวมเสียงเป็น “ขั้วเพื่อไทย”

โดยเตรียมเกณฑ์คนเด่น-คนดัง มาเป็นแม่เหล็กดูดคะแนน หลายราย รวมถึง “จาตุรนต์ ฉายแสง” ขณะที่ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” ซึ่งติดโทษแบนทางการเมือง ยังมีบทบาทหลักในการช่วยหาเสียง แต่ยังมีทีมแดง นปช.ในสายของ “ณัฐวุฒิ” และทีมอดีตพรรคไทยรักษาชาติ ที่พร้อมเข้ามาเป็นแนวร่วม

“ประยุทธ์”ดีลเครือข่ายพรรคใหม่ – “ทักษิณ”แตกพรรคผนึกสาขา

จับตา“นักรบห้องแอร์”เข้าพรรคใหม่

นอกจากนี้ยังต้องวัดใจ “ทีมยุทธศาสตร์" พรรคเพื่อไทย อาทิ ภูมิธรรม เวชชัย  ชูศักดิ์ ศิรินิล ชัยเกษม นิติสิริ พวงเพ็ชร ชุนละเอียด จะเดินออกจากพรรคหรือไม่ เพราะหากเลือกแทงว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ อยู่ไปก็แทบไม่มีโอกาสนั่งเก้าอี้ ส.ส.

แต่หากคำนวณแล้วว่า การย้ายออกจากพรรคเพื่อไทย มาสังกัดพรรคใหม่ โอกาสที่จะได้นั่งเก้าอี้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ มีมากกว่า ก็ย่อมมีโอกาสสูงที่ทีมนี้ จะเก็บข้าวของเดินออกจากพรรค เพื่อสร้างโอกาสใหม่ให้กับตัวเอง แม้จะต้องแลกมาด้วยการเสียการนำภายในพรรคเพื่อไทยก็ตาม

“ประยุทธ์”แตกแบงค์พัน-เครือข่ายตั้งพรรค

ฟากฝั่งของ “3 ป.” ภาษากายของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม การันตีว่าจะไปต่อ โดยมีพรรคพลังประชารัฐ ภายใต้การนำของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ คอยเซ็ตอัพงานการเมืองให้

แต่โจทย์ใหญ่ของ “ประยุทธ์-ประวิตร” คือการต้องเผชิญกับกระแสนิยมของตัวบุคคล และพรรคพลังประชารัฐ ที่กำลังอยู่ในสภาวะตกต่ำอย่างสุดขีด ยากที่จะกอบกู้ให้คะแนนนิยมกลับมาดีดังเดิม แต่เมื่อตัดสินใจไปต่อ ก็ลองเสี่ยงกับการรีแบรนด์ครั้งใหญ่ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่

โดยเฉพาะการวางโปรแกรมเดินสายโรดโชว์พรรคพลังประชารัฐทั่วประเทศ เริ่มคิกออฟวันที่ 10 ก.ค. ที่ จ.ชลบุรี จากนั้นจะเคลื่อนขบวนในพื้นที่ภาคอื่น

สำหรับ แนวทางแตกแบงค์พันของ “ประยุทธ์” ไม่ได้คิดมาจากยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง แต่เริ่มมาจากการแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ ที่เริ่มปรากฏความเคลื่อนไหวตั้งแต่ช่วงต้นปลายปี 2564 ความขัดแย้งของ “3 ป.” ในขณะนั้นเกิดรอยร้าวอย่างหนัก

“ประยุทธ์”ดีลเครือข่ายพรรคใหม่ – “ทักษิณ”แตกพรรคผนึกสาขา

“พีระพันธุ์”เคลื่อนพรรคใหม่ต่อ

ทำให้ “ทีมประยุทธ์” มีแนวคิดตั้งพรรคสำรอง โดยช่วงต้นปี 2565 มีความเคลื่อนไหวของ “แรมโบ้” เสกสกล อัตถาวงศ์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ตั้ง "พรรครวมไทยสร้างชาติ" พร้อมทั้งมีการเปิดเผยตัวละครต่างๆ ออกมา ซึ่งหนึ่งในนั้น มีชื่อของ “มิสเตอร์พี” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนพรรครวมไทยสร้างชาติ

อย่างไรก็ตาม พรรครวมไทยสร้างชาติ ดู้เหมือนหยุดขับเคลื่อน เมื่อ “แรมโบ้" เสกสกล ถูกเล่นงานด้วยคลิปเสียงลับพูดคุยกับ "จุรีพร สินธุไพร" เกี่ยวกับโควตาล็อตเตอร์รี่ แรงกดดันมาถึงนายกฯประยุทธ์ จึงทำให้ต้องลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และลาออกจากสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ

ส่วนความเคลื่อนไหวของ “พีระพันธุ์” ได้รับการยืนยันว่า พยายามขับเคลื่อนตั้งพรรคของตัวเองขึ้นมาใหม่ คาดการณ์ว่าจะเปิดตัวในอีก 1 เดือนข้างหน้า โดยงานด้านธุรการของพรรคเสร็จเรียบร้อยในระดับหนึ่งแล้ว ในส่วนของชื่อพรรค และที่ทำการพรรค ยังไม่ขอเปิดเผย

“ณัฐฏพล”เดินเครื่องไทยสร้างสรรค์

ด้าน “ณัฐฏพล ทีปสุวรรณ” อดีตรมว.ศึกษา “สกลธี ภัทรทิยกุล” อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. แม้จะมีดีลให้มาร่วมจัดตั้งพรรคกับ “พีระพันธุ์” แต่แนวทางการทำพรรคการเมืองไม่ตรงกัน โดย “ณัฐฏพล-สกลธี” ยืนยันจะขับเคลื่อน "พรรคไทยสร้างสรรค์" ต่อไป โดยมุ่งเน้นสร้างทางเดินให้กับ “คนรุ่นใหม่”

นอกจากนี้ยังมี “บิ๊กเนม พปชร.” พยายามดีลให้ “สกลธี” ที่มีแต้มจากศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 230,534 คะแนน กลับมาอยู่ในชายคาพรรคพลังประชารัฐ เพื่อขับเคลื่อนพรรคในโซน กทม. ซึ่ง “สกลธี” อยู่ระหว่างตัดสินใจ

ทว่า แนวโน้มของ “ณัฐฏพล-สกลธี” มุ่งไปที่การขับเคลื่อนพรรคไทยสร้างสรรค์มากกว่า ยิ่งสูตรคำนวณบัญชีรายชื่อหาร 500 ยิ่งทำให้โอกาสของพรรคไทยสร้างสรรค์ จะได้ ส.ส. เข้าสภามีเพิ่มมากขึ้น

รวมตัวพรรคเครือข่ายเป็นพรรคเดียว

นอกจากนี้ ยังมีโมเดลที่จะมีการรวมตัวของ "พรรคสาขา" ที่อยู่ในเครือข่ายสนับสนุน “ประยุทธ์” อาทิ พรรคใหม่ของ พีระพันธุ์ พรรครวมพลัง ที่ก่อตั้งโดย "สุเทพ เทือกสุบรรณ" พรรคไทยภักดี ของ "นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม" พรรคกล้า ของ "กรณ์ จาติกวณิช" โดยต้องการให้พรรคเหล่านี้มารวมกันเป็นพรรคเดียว เพื่อเก็บคะแนน ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ ให้ได้มากที่สุด