“ชัชชาติ” ยันเปิดเผยข้อมูลสำคัญมาก อนาคตเลี่ยงไม่ได้ นำไปสู่ความโปร่งใส
“ชัชชาติ” ยันนโยบายการเปิดเผยข้อมูลสำคัญมาก อนาคตหลีกเลี่ยงไม่ได้ ช่วยนำไปสู่ความโปร่งใส-การตรวจสอบภาคประชาชนดีขึ้น ทำให้สุดท้ายกลายเป็นเนื้อเดียวกัน
เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2565 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดงานแถลงข่าวผ่านไลฟ์สดถึงผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ประจำปี 2565 โดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า ในส่วนการยกระดับการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐนั้น การเปิดเผยไม่ใช่เฉพาะภาครัฐ แต่จำเป็นทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชน ทำไมสำคัญ คำหนึ่งที่เรามักพูดกันนานแล้วคือ ความไม่สมดุลกันของข้อมูล ถ้าฝ่ายหนึ่งมีข้อมูลมากกว่า อีกฝ่ายน้อยกว่า ฝ่ายมากกว่าได้เปรียบ อีกฝ่ายตัดสินใจลำบาก
นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาการเปิดเผยข้อมูลของราชการเป็นรูปแบบ Analog ระบบกระดาษ มันทำให้การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐทำได้จำกัด ประชาชนไม่มีข้อมูลในการตรวจสอบหรือประเมิน เช่น การประมูลอะไรสักอย่าง ราคากลางเท่าไหร่ อาจรู้แค่วงจำกัด หรือไม่อาจนำราคากลางเปรียบเทียบแต่ละโครงการได้ หาราคาต่อหน่วยก็ลำบาก พอข้อมูลไม่สมดุลกัน ภาครัฐมีข้อมูล ประชาชนข้อมูลน้อย ทำให้ประชาชนเสียเปรียบ ที่ผ่านมาเอกชนทำมานานแล้ว กูเกิ้ลเสิร์ชหาข้อมูลได้ทั่วเลย ของราชการก็ต้องมีลักษณะคล้ายคลึงกัน ทำให้ประชาชนช่วยตรวจสอบดูแลความโปร่งใสได้
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า อนาคตการเปิดเผยข้อมูลจำเป็น หลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัจจุบันต้นทุนการทำถูกลง เทคโนโลยีถูกลงเยอะ ความจุของ CPU มันเพิ่มเป็นกำลัง ความจุของเครื่อง ความเร็วในการประมวลผล ซอฟต์แวร์ก็ถูกลง ทุกหน่วยงานต้องทำ และเตรียมตัว นำไปสู่การทำข้อมูลสมดุลกัน ช่วยในความโปร่งใสให้ดีขึ้น
นายชัชชาติ กล่าวว่า กทม.มีนโยบายชัดเจนคือ Open Bangkok เริ่มจากข้อมูลพื้นฐานก่อนเลย เช่น เปิดเผยข้อมูลงบประมาณที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาปี 2566 เราก็เปิดเผยข้อมูลเลย เป็นครั้งแรกของ กทม พวกสัญญาต่าง ๆ ต้องมีให้เห็นว่าเป็นอย่างไร หรือนโยบายต่าง ๆ ให้เห็นชัดเจน นี่ก็สำคัญ ตอนเรามาเริ่มเป็นผู้ว่าฯ กทม. นโยบาย 216 ขึ้นเว็บไซต์ มาดูนโยบายเราได้ว่า ทำตามที่พูดหรือไม่ คืบหน้าอย่างไร ข้าราชการเข้าใจชัดเจนด้วย รวมถึงแพลตฟอร์ม ทราฟฟี่ ฟองดูว์ ที่ถูกนำไปใช้แล้วในปัจจุบัน
นายชัชชาติ กล่าวด้วยว่า แพลตฟอร์มเหล่านี้มีส่วนช่วยในการเปิดเผยข้อมูลได้มาก แต่ที่สำคัญคือฟอร์แมตนั้นจะต้องอยู่ในรูปแบบที่ประชาชนใช้ได้ง่าย ประชาชนพร้อมเทคโนโลยีพร้อมเหลือแต่ภาครัฐเองว่าเราพร้อมหรือไม่ เราก็มีนโยบายว่าหากประชาชนแจ้งเหตุเข้ามาจะต้องมีการแก้ไขปัญหาให้เห็นว่าแจ้งมาแล้วได้ประโยชน์จริง ฉะนั้น การทำโอเพ่นดาต้า (Open Data) ฝ่ายราชการจะต้องเอาจริงเอาจังและต้องอบรมให้ประชาชนเข้าใจ ว่าอย่าเอาตัวนี้มาจับผิดข้าราชการ แต่เอาเข้ามาช่วยให้เขาทำงานได้ง่ายมากขึ้น ทำให้รูปแบบการทำงานราชการเปลี่ยนไป ทำให้ขยายผลได้รวดเร็วและตอบโจทย์ผู้คนได้เร็วขึ้น
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวทิ้งท้ายว่า ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในส่วนปลายน้ำ การที่เรากระจายอำนาจทำให้เราได้ผลอย่างแท้จริง ประชาชนเองก็มีความภูมิใจในการเข้ามามีส่วนร่วม มีอำนาจในการตรวจสอบได้สุดท้ายเขากับเรา จะเป็นเนื้อเดียวกัน ทำให้ระบบราชการเข้มแข็งขึ้น ขอให้ข้าราชการเจ้าหน้าที่พนักงานภาครัฐทุกคน เราเป็นคนโชคดีที่มีงานมั่นคงมีสวัสดิการดูแลครอบครัว ประชาชนจำนวนมากที่ยังมีภาระขัดสน ดังนั้น เราต้องรับใช้ประชาชนให้ดีที่สุด ITA ทำให้เราใช้ทรัพยากรดูแลประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าเรารู้จักใช้ให้เป็นเปิดเผยข้อมูลก็จะทำให้รับใช้ประชาชนได้อย่างเต็มที่ใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ