สัญญาณ “อนุรักษ์นิยม” เสียงแตก สลัด“ประยุทธ์” ปมร้อนนายกฯ 8 ปี
นี่เป็นเพียง 2 ตัวละครทางการเมืองฝ่าย “อนุรักษ์นิยม” ที่ออกมาเปิดหน้าแสดงท่าทีว่า พล.อ.ประยุทธ์ ควรพอแค่นี้ และหาทางลงอย่างสง่างามด้วยการ “ลาออก” จากตำแหน่งเก้าอี้นายกฯ ก่อนจะครบวาระ 8 ปีในวันที่ 24 ส.ค. 2565
เงื่อนปมวาระการดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม เพราะหากนับวัน ว. เวลา น. ในการเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกฯ เมื่อครั้งรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปี 2557 ตรงกับวันที่ 24 ส.ค. 2557 โดยจะครบ 8 ปีในวันที่ 24 ส.ค. 2565 พอดิบพอดี
โดยในรัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้เมื่อ เม.ย. 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ บัญญัติว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง
ส่วนในบทเฉพาะกาล มาตรา 264 บัญญัติว่า ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็น ครม. ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่า ครม.ที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่
สำหรับมาตรา 158 ดังกล่าว ถูกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยุค “พญาครุฑกฎหมาย” มีชัย ฤชุพันธุ์ เขียนกำกับไว้ในคำอธิบายว่า การกำหนดระยะเวลา 8 ปีดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้มีการผูกขาดอำนาจทางการเมืองยาวเกินไป อันอาจเป็นต้นเหตุวิกฤติทางการเมืองได้
ทั้งนี้ หากนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ตามปฏิทินการเมือง แบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา ดังนี้
ช่วงแรก สมัย คสช. (ระหว่างปี 2557-2562) เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2557 พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับการเสนอชื่อ และโหวตโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ด้วยเสียง “เอกฉันท์” 191 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง จากจำนวน สนช. 194 ราย ให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2557 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ
ช่วงสอง ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อ 24 มี.ค. 2562 โดยเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2562 พล.อ.ประยุทธ์ ถูกเสนอชื่อโดย ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และมติที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมาก 500 ต่อ 244 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง เห็นชอบให้เป็นนายกฯ หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2562 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ
เงื่อนปมของเรื่องนี้มีอยู่ว่า การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องนับในช่วงเวลาใดกันแน่ เพราะบางฝ่ายอ้างว่า การนับตำแหน่งนายกฯ นอกจากใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 158 แล้ว ยังต้องเอามาตรา 264 มาคิดด้วย นั่นคือ การดำรงตำแหน่งนายกฯช่วงแรกตอนเป็น คสช. ไม่ถูกนำมาคิดคำนวณ
เนื่องจากต้องเป็นนายกฯ ลากยาวตามมาตรา 264 และต้องเริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2562 ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ เพราะตามหลักนิติธรรมจะมาบังคับใช้ย้อนหลังไม่ได้ นั่นหมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะดำรงตำแหน่งได้ถึงปี 2570 โดยผู้สนับสนุนแนวคิดนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่ม “อนุรักษ์นิยม” บางส่วนคลุกคลีตีโมงอยู่กับผู้มีอำนาจในรัฐบาลชุดปัจจุบัน
บางฝ่ายอ้างว่า การนับตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ครบวาระ 8 ปีในวันที่ 24 ส.ค. 2565 เนื่องจากในรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้กำหนดบทเฉพาะกาลไว้ในมาตรา 158 แต่เป็นการตีความกันไปเองของบรรดาผู้มีอำนาจ โดยกลุ่มสนับสนุนแนวทางนี้คือบรรดา “ม็อบราษฎร” และกลุ่มใหม่อย่าง “99 พลเมือง” รวมถึงนักกฎหมาย “ฝ่ายซ้าย” อีกหลายราย
แต่ประเด็นที่น่าสนใจของเรื่องนี้คือ แม้แต่ในฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็ “เสียงแตก” เกี่ยวกับเรื่องนี้เช่น เริ่มจาก “ไชยยันต์ ไชยพร” นักวิชาการอนุรักษ์นิยม ที่เสาะแสวงหาข้อมูลข้อเท็จจริง นำมาวิพากษ์วิจารณ์งานเขียนนักวิชาการฝ่ายซ้ายมาแล้วหลายรายที่ให้ความเห็นเรื่อง “นายกฯ 8 ปี”
โดยเทียบ พล.อ.ประยุทธ์ กับ “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ เมื่อครั้งเป็นนายกฯ มาแล้ว 8 ปี 5 เดือน ระหว่างปี 2523-2531 และรับฟังนักวิชาการที่เข้าชื่อในนาม “ฎีกา 99” ยอมยุติบทบาททางการเมือง
“ป๋าเปรมเป็นนายกรัฐมนตรีมา 8 ปี ถึง พ.ศ. 2531 นักวิชาการ 99 คน เข้าชื่อกันในนาม “ฎีกา 99” ป๋ายังรับฟัง และยุติบทบาททางการเมือง ป๋าเปรมยังฟังเสียงนักวิชาการ 99 คน เมื่อปี 2531 ลุงตู่ควรฟัง 99 ปัญญาชน ชนชั้นนำ ขณะนี้ ด้วยครับ” ไชยยันต์ ระบุ
เช่นเดียวกับ “ณฐพร โตประยูร” อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ตอนหลังมาเดินเกมเป็น “นักร้อง” ยื่นยุบพรรคอนาคตใหม่ และพรรคก้าวไกล เดินแนวทางเป็น “ปฏิปักษ์สีส้ม”อย่างต่อเนื่อง ณฐพร ยังเชื่อว่าการนับวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ ต้องเริ่มเมื่อ 24 ส.ค. 2557
“ณฐพร” ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ โดยระบุว่า ความมุ่งหมายของมาตรา 158 มีขึ้นเพื่อป้องกันการผูกขาดทางการเมือง เชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้ทราบดี เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เกิดขึ้นจากรัฐบาลนี้ และเห็นว่าการกำหนดว่านายกฯ จะดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปีมิได้ เป็นเรื่องของการควบคุมอำนาจฝ่ายบริหาร ไม่ใช่เรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน
“การตีความจึงต้องตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง คือถ้าเป็นสิทธิเสรีภาพ ถ้าไม่บัญญัติไว้ หมายความว่าทำได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ ถ้าไม่เขียนว่าทำได้ แปลว่าทำไม่ได้ ฉะนั้นระยะเวลา 8 ปี จึงต้องเริ่มนับตั้งแต่ 24 ส.ค.2557”
นี่เป็นเพียง 2 ตัวละครทางการเมืองฝ่าย “อนุรักษ์นิยม” ที่ออกมาเปิดหน้าแสดงท่าทีว่า พล.อ.ประยุทธ์ ควรพอแค่นี้ และหาทางลงอย่างสง่างามด้วยการ “ลาออก” จากตำแหน่งเก้าอี้นายกฯ ก่อนจะครบวาระ 8 ปีในวันที่ 24 ส.ค. 2565
ยังไม่นับคนอื่น ๆ ที่แม้จะเป็น “กูรูกฎหมาย” แต่ไม่อาจฟันธงลงไปได้ แต่โยนให้เป็น “เผือกร้อน” ของศาลรัฐธรรมนูญ เช่น “ครุฑกฎหมาย” วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ “ซามูไรกฎหมาย” ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นต้น
ส่วนท่าทีจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย “พรรคเพื่อไทย” เตรียมจะยื่นเรื่องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 17 ส.ค. 2565 พกความมั่นใจมาเต็มกระเป๋าว่า พล.อ.ประยุทธ์ พ้นเก้าอี้นายกฯแน่
ทว่า บรรทัดสุดท้ายของเรื่องนี้ จะจบลงอย่างไร คงต้องลุ้นคำวินิจฉัยจาก 9 อรหันต์ตุลาการ “ศาลรัฐธรรมนูญ”