ครม. เคาะลดภาษีประจำปี รถแท็กซี่ สามล้อ วินมอเตอร์ไซค์ นาน 1 ปี
ยิ้มรับ! ครม. อนุมัติ ร่าง พ.ร.ฎ. ลดภาษีประจำปีสำหรับรถยนต์รับจ้าง รถยนต์รับจ้างสามล้อ และรถจักรยานยนต์สาธารณะ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. .... ช่วยลดภาษีประจำปี ลดต้นทุนผู้ประกอบการรถสาธารณะ บรรเทาภาระค่าใช้จ่าย นาน 1 ปี
เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ฎ. ลดภาษีประจำปีสำหรับรถยนต์รับจ้าง รถยนต์รับจ้างสามล้อ และรถจักรยานยนต์สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. .... เพื่อช่วยลดต้นทุนการประกอบการรถสาธารณะทั้งรถยนต์รับจ้าง (แท็กซี่) รถยนต์รับจ้างสามล้อ และรถจักรยานยนต์สาธารณะ (วินมอเตอร์ไซค์)
บรรเทาภาระค่าใช้จ่ายจากราคาพลังงานโลกมีการปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากวิกฤติพลังงานรอบใหม่ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ จากสงครามการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน กระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการนำเข้าพลังงานถึงร้อยละ 75 ส่งผลให้ต้นทุนการประกอบการของรถสาธารณะเพิ่มสูงขึ้น กระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบอาชีพ อาจจะไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต
ทั้งนี้ ร่างพ.ร.ฎ.ฯ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ลดอัตราภาษีรถประจำปีสำหรับรถยนต์รับจ้าง รถยนต์รับจ้างสามล้อและรถจักรยานยนต์สาธารณะ ที่ครบกำหนดเสียภาษีรถประจำปีระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 65 ถึง 30 กันยายน 66 ลงร้อยละ 90 ของอัตราภาษีประจำปีท้ายพ.ร.บ. รถยนต์พ.ศ. 22 ดังนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- รถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) มีน้ำหนักรถ 1,300 กก. เสียภาษี 68.50 บาทจากเดิม 685 บาท น้ำหนักรถ 2,000 กก. เสียภาษี 106 บาทจากเดิม 1,060 บาท
- รถยนต์รับจ้างสามล้อ น้ำหนัก 500 กก. เสียภาษี 18.50 บาท จากเดิม 185 บาท
- รถจักรยานยนต์สาธารณะ (วินมอเตอร์ไซค์) (อัตราภาษีจะคิดต่อคัน) เสียภาษี 10 บาท จากเดิม 100 บาท
ซึ่งมาตรการลดอัตราภาษี ในครั้งนี้ ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 70,257,501.07 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.197 ของภาษีของรถทุกประเภททั้งหมดที่จัดเก็บ จึงส่งผลกระทบต่อรายได้ของ กทม. และ อปท. เพียงเล็กน้อยแต่สามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบอาชีพขับรถสาธารณะได้อีกมาตรการหนึ่ง
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการเยียวยาโครงการช่วยเหลือกลุ่มอาชีพ รถแท็กซี่ และรถยนต์สาธารณะที่มีอายุเกิน 65 ปี ที่อยู่ในกลุ่มแรงงานนอกระบบ ผู้ประกันตนและไม่เป็นผู้ประกันตน ตาม ม.33 ม. 39 และม. 40 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด ไปแล้ว รวม 16,694 คน (แท็กซี่ จำนวน 12,918 คนและวินมอเตอร์ไซค์ จำนวน 3,776 คน) โดยสนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าของชีพคนละ 5000 บาท/เดือน รวม 16,694 คน ภายใต้กรอบวงเงิน 166.94 ล้านบาท แล้ว