ชื่อเสียงไทยเจ้าภาพเอเปค มีค่าเกินรักษาหน้าผู้นำ
หาก “ไทย” จัดประชุมเอเปคแบบที่ยังมี “นายกฯ-รัฐบาลรักษาการ” อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศ “ผู้นำประเทศ” อาจไม่เข้าประชุม โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจ
ชัดเจนมากขึ้นกับสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ภายใต้กระแสการเมืองร้อนปม 8 ปีบนเก้าอี้นายกรัฐมนตรีที่ถูกผูกโยงกับกระแสข่าว “ยุบสภา” เพื่ออยู่ต่อในตำแหน่งนายกฯรักษาการ ซึ่งจะไม่นับรวมกับ 8 ปี จะทำให้อยู่ในตำแหน่งต่อได้อีกระยะหนึ่ง นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับบัญชาจาก
พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาคอนเฟิร์ม ไม่มีแนวคิดจะ “ยุบสภา” พร้อมทำงานเต็มที่ตามกรอบเวลาที่เหลืออยู่ หวังสยบกระแสข่าวลือ โดยโฟกัสหลักของ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ที่การจัดประชุม “เอเปค” หากยอมถอยด้วยการยุบสภา ประเทศไทยจะเดินเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง ซึ่งจะกระทบต่อการจัดประชุมเอเปคอย่างแน่นอน ด้วยเหตุผลว่าการจัดประชุมเอเปคในฐานะ “นายกฯ-รัฐบาลรักษาการ” จะกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศเช่นกัน ซึ่งอาจส่งผลให้ “ผู้นำประเทศ” ตัดสินใจไม่มาเข้าร่วมประชุม หรือส่งตัวแทนมาร่วมประชุมโดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจ
ต้องยอมรับว่า การเป็นเจ้าภาพการประชุมใหญ่ระดับเอเปคที่มีสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจถือเป็นหน้าเป็นตาของประเทศไทยอยู่ไม่น้อย อีกทั้งสมาชิกเอเปคมีมหาอำนาจที่เป็นคู่กรณีกันอยู่ด้วยทั้งสหรัฐ จีน รัสเซีย และไต้หวันที่ใช้ชื่อทางการในเอเปคว่า “จีนไทเป” เขตเศรษฐกิจเล็กๆ แต่เป็นชนวนความร้าวฉานล่าสุดระหว่างจีนกับสหรัฐ การเป็นเจ้าภาพครั้งนี้จึงถือว่าสนุกมากที่ไทยจะได้ต้อนรับตัวละครที่กำลังปะทะกันร้อนแรงบนเวทีโลกขณะนี้ ในฐานะคนไทยแน่นอนอยากเป็นเจ้าภาพเพื่อประกาศศักยภาพประเทศให้โลกรู้ เหมือนอย่างที่เคยทำมาแล้วในปี 2546
แต่การที่ พล.อ.ประยุทธ์ พูดผ่านโฆษกว่า การเป็นนายกฯ รักษาการอาจทำให้ผู้นำประเทศตัดสินใจไม่มาร่วมประชุม อันนี้ต้องขอแย้งด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า เอเปค เป็นเวทีปรึกษาหารือ (consultative forum) ในทางเศรษฐกิจ ที่เปิดโอกาสให้ผู้นำมาแสดงวิสัยทัศน์เท่านั้น ประเทศไทยเองก็ไม่ได้เป็นประเทศมหาอำนาจในทางเศรษฐกิจในระดับที่จะกำหนดวาระทางเศรษฐกิจโลกได้ ครั้นจะถามหาวิสัยทัศน์ผู้นำก็คงเห็นแล้วจากการที่ผู้สื่อข่าวถามเรื่องการขึ้นค่าไฟแล้วโดนไล่ให้ไปดูอริยสัจ 4 ว่าวิสัยทัศน์นายกฯ ไทยอยู่ในระดับไหน นอกจากนี้การประชุมเอเปคครั้งต่อไปสหรัฐเป็นเจ้าภาพ เขาเองก็คงเก็บประเด็นสำคัญไว้แทนที่จะมานำเสนอไอเดียในประเทศไทย ถ้าดูการเตรียมงานของรัฐบาลก็ไม่คึกคักเหมือนเอเปคครั้งที่ 1
อีกประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามคือความเสี่ยงที่จะเกิดการต่อต้านจากประชาชน หาก พล.อ.ประยุทธ์ดึงดันอยู่ในอำนาจต่อไปด้วยเหตุผลอยากเป็นเจ้าภาพเอเปค เกรงว่าประชาชนจะพร้อมใจกันสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์อย่างดีเกินคาดจนเอเปคดูไม่จืดผู้นำทั่วโลกไม่มีใครลืมสิ่งที่เกิดขึ้นกับอาเซียนซัมมิตเมื่อสิบกว่าปีก่อน รัฐบาลเองก็พูดถึงเรื่องนี้อยู่บ่อยๆ
เพราะฉะนั้นอย่าเสี่ยงให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้นอีกเพราะไม่ว่ารัฐบาลจะกล่าวโทษว่าเป็นฝีมือคนกลุ่มใดแต่โลกจดจำเพียงว่า เป็นการประชุมที่ล่มและล้มเหลว เพราะฉะนั้น “อย่าเอาเอเปคเป็นตัวประกันทางการเมืองของตนเอง” อย่าเอาเกียรติยศหน้าตาของคนๆ เดียวไปแลกกับชื่อเสียงของประเทศ บอกได้เลยว่าไม่คุ้ม!