“หยุดกระแส” นายกฯ 8 ปี จบเกมม็อบ “ประยุทธ์”ปิดจ็อบ
ไม่ว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญปม "8ปีประยุทธ์" จะออกมาเป็นเช่นไร โจทย์ใหญ่ของ “หน่วยงานความมั่นคง” ต้องจบเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด ไม่ให้กระทบประชุมเอเปค ไทยจะเป็นเจ้าภาพ 18-19 พ.ย.นี้
อุณภูมิการเมืองลดดีกรีลงทันตาเห็น หลังศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 5 ต่อ 4 สั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ไปจนกว่าจะมีคำวินิจฉัย ปมดำรงตำแหน่งครบวาระ 8 ปี และให้ชี้แจงข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน นับจากวันที่ 24 ส.ค.2565
แม้ภาพรวมมวลชนที่เข้าร่วมชุมนุมของ “ม็อบ”สารพัดกลุ่ม ในแต่ละจุดจะบางตา โดยมีจำนวนตัวเลขเพียงหลักร้อย เนื่องจากใช้วิธีดาวกระจาย ปักหมุดพื้นที่เชิงสัญลักษณ์ทางการเมือง ช่วยกันเขย่า “เก้าอี้นายกฯ” ตั้งแต่ 23 ส.ค.และยังคงปักหลักต่อเนื่อง แม้ศาลรัฐธรรมนูญ สั่ง พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ไปแล้วก็ตาม
อาทิ กลุ่มคณะหลอมรวมประชาชน นำโดย จตุพร พรหมพันธุ์ นิติธร ล้ำเหลือ จัดกิจกรรมเวทีสาธารณะ..ประเทศไทยต้องมาก่อน..ตอน “ล้างบาง!...โคตรโกง บ้าอำนาจ เป็นทาสปล้นชาติ ขายแผ่นดิน" ที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
บริเวณแยกนางเลิ้ง กลุ่มทะลุคุก 100% ร่วมกับกลุ่ม People ศิลปินเพลงเพื่อราษฎร นำโดย โชคดี ร่มพฤกษ์ (อาเล็ก) ศิลปินนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย รวมพลมวลชนอิสระ อาทิ ทะลุแก๊ซ กลุ่ม14 ขุนพลคนของราษฎร กลุ่มราษฎรไล่ตู่ คนแดงปฏิวัติ กลุ่มโรนินฝั่งธน ไม่เอาเผด็จการ และกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขีดเส้นตายไล่ “ประยุทธ์”
แต่มีสัญญาณบ่งชี้ว่า “ม็อบ” จะแรงก็หลังจากที่ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.ทสส.ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) ออกประกาศฉบับที่ 15 ข้อ 5 เพิ่มโทษ แกนนำ ผู้ชุมนุม หากฝ่าฝืน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 ให้รับโทษตามมาตรา 18 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือ จำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อ 1 ส.ค.2565
สัญญาณที่สอง มีความพยายามเปลี่ยนแปลงกฎหมายคุมม็อบของนิสิตและนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัย เช่น เจนิสษา แสงอรุณ นายกองค์การบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พศิน ยินดี ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สิรภพ อัตโตหิ องค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ฯลฯ ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ผบ.ทสส. ขอให้ศาลแพ่งมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และให้ประกาศดังกล่าวไม่มีผลบังคับใช้
ส่วน “กองทัพบก” มีกำลังทหารจาก กองพันทหารราบมณฑลทหารบกที่ 11 (พัน.ร.มทบ.11) จำนวน 1 กองร้อย เข้าพื้นที่ สแตนบายเกาะติดความเคลื่อนไหวของ “ม็อบ” ทุกกลุ่มตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมรายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น
ปม “นายกฯ 8 ปี” คือเงื่อนไขสำคัญที่ “หน่วยงานความมั่นคง” เชื่อว่าฝ่ายการเมืองพยายามใช้เป็นเครื่องมือในการ“ปลุกม็อบ”ด้วยการโหมโรงกันมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว จนมาถึงปัจจุบัน ทั้งการปั่นกระแสในโซเชียลมีเดีย การชุมนุมกลุ่มต่างๆ ที่อุ่นเครื่องกันมาเป็นระยะ
ตามความเชื่อที่ว่า ความเป็น “นายกรัฐมนตรี”ของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลงหลังพ้นเที่ยงคืนของวันที่ 23 ส.ค.และหากยังฝืนปฏิบัติหน้าที่ จะเข้าข่ายเป็น “นายกฯเถื่อน”ตามเทรนด์ทวิตเตอร์ที่พุ่งติดอันดับ 1 ของรุ่งเช้าวันถัดมา ที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการรวมตัวของมวลชนที่จะเพิ่มเป็นทวีคูณ
จวบจนศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ไปจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยปมดำรงตำแหน่งครบวาระ 8 ปี แม้จะลดเงื่อนไขการปลุกระดมลงได้ แต่กลุ่มผู้ชุมนุมก็พลิกเกม ปรับยุทธวิธี ไม่เอารักษาการณ์นายกฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และให้คณะรัฐมนตรีลาออกทั้งหมด
“กลุ่มคณะหลอมรวมประชาชน ยังชุมนุมต่อไป และขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ปล่อยวาง และใช้โอกาสนี้ประกาศยุติการปฏิบัติหน้าที่และลาออกไป ในส่วนของ พล.อ.ประวิตร ทำหน้าที่รักษาการณ์นายกฯ ปัญหาจะยิ่งเพิ่มขึ้น เพราะเปลี่ยนแค่คน ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง” จตุพร ระบุ
สอดคล้องกับกลุ่มราษฎรเชียงราย และกลุ่มนักศึกษาเชียงใหม่ เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรี ลาออก และไม่ยอมรับรักษาการณ์นายกฯ พล.อ.ประวิตร เพราะเชื่อว่าทำงานไม่มีประสิทธิภาพ
หลังจากนี้ “หน่วยงานความมั่นคง” ยังต้องประเมินสถานการณ์แบบชอตต่อชอต เพราะหากกระแส “นายกฯ 8 ปี”ยังไม่ตก กว่าจะถึงวันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัยความเป็นนายกฯของพล.อ.ประยุทธ์ ครบวาระ 8 ปีหรือไม่ แรงขับเคลื่อนที่จะก่อให้เกิดม็อบก็ยังคงอยู่
พร้อมทั้งเตรียมแผนรองรับ เพราะไม่ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะออกมาเป็นเช่นไร โจทย์ใหญ่ของ “หน่วยงานความมั่นคง” ต้องจบเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการประชุมเอเปคที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพ 18-19 พ.ย.นี้ ที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งตามกำหนดเดิม “พล.อ.ประยุทธ์” จะนั่งเป็นประธานและต้อนรับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคด้วยตนเอง