"สมชัย" ขอ "ส.ว." เข้าประชุม แสดงความรับผิดชอบ -โหวตโละ ม.272
"สมชัย" ห่วง ส.ว. ไม่ร่วมประชุม ทำให้เสียงโหวตหนุนโละ ม.272 หาย เรียกร้องให้ฟังเหตุผลแทนโหวตตามใบสั่ง ชี้การลงมติจุดชี้ความเป็นกลางของ ส.ว.
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย ฐานะผู้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 โดยให้ยกเลิกมาตรา 272 ที่กำหนดให้วุฒิสภาร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ต่อกรณีที่รัฐสภานัดประชุม 6-7 กันยายน เพื่อพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระแรก ว่า ตนเชื่อว่า ส.ส.จะสนับสนุนการแก้ไขในประเด็นดังกล่าว แต่ ส.ว.นั้นยังประเมินได้ยาก เพราะเชื่อว่าส.ว.ต้องพิจารณาสัญญาณที่ผู้ใหญ่ส่งมา ส่วนกรณีที่มี ส.ว.บางรายออกมายืนยันว่า จะไม่ยอมให้แก้ไขมาตราดังกล่าว เชื่อว่าทิศทางของส.ว.ที่ไม่สนับสนุนต้องระบุในทำนองดังกล่าว แต่ตนเชื่อว่าการชี้ขาดหรือตัดสินใจนั้นต้องสู้กันในสภาผ่านการอภิปรายชี้แจงเหตุผลอีกครั้ง
เมื่อถามถึงประเด็นที่ ส.ว.ไม่ต้องการให้แก้ไข เพราะอำนาจดังกล่าวเหลืออีกไม่กี่ปีจะหมดไปตามเวลาของบทเฉพาะกาล นายสมชัย กล่าวว่า เวลาเป็นของมีค่า หากคิดว่าใช้เวลาให้หมดไปไม่เกิดประโยชน์เปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ส.ว. ต้องมีความกล้า คือ โหวตรับ หรือไม่รับ ไม่ใช่งดออกเสียงหรือไม่มาประชุม เพื่อแสดงความรับผิดชอบ
“การเสนอให้รัฐสภาพิจารณาโละอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯมีหลายครั้งแล้ว และได้คะแนนแตกต่างกัน ผมจำได้ว่าส.ว.ที่โหวตเห็นด้วยสูงสุดคือ 56 คน แต่หลายครั้งที่ผ่านมามีเสนอแก้ไขหลายประเด็นในร่างเดียวทำให้ไม่ผ่าน แต่รอบนี้เสนอแก้ไขเพียงประเด็นเดียว ยังประมาณไม่ถูก ว่าจะได้คะแนนมากขึ้นหรือไม่ หรือส.ว.คิดอย่างไร ส่วนที่เห็นด้วย จะมีมากแค่ไหนไม่รู้ ปัญหาของ ส.ว.ตอนนี้คือ ไม่มาประชุม ที่ผ่านมามี ส.ว.ประชุมเฉลี่ย 150 คนจากจำนวนทั้งหมด 250 คน เมื่อไม่มาประชุมเสียงจะหายไป ” นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวด้วยว่าการพิจารณาประเด็นดังกล่าวขอให้รัฐสภาเป็นเวทีถกเถียงจริงจัง ฟังเหตุผลแต่ละฝ่าย ไม่ใช่ยกมือตามกัน หรือคำสั่งของวิปแต่ละฝ่ายที่ไม่รู้ว่าอะไรดีหรือไม่ดี หรือยกมือตามสิ่งที่นัดหมายไว้ ไม่เกิดประโยชน์
“ผมอยากเห็นสภาไทยเอาเหตุผลมาคุยกัน หากไม่แก้ไขต้องแสดงเหตุผล ฝ่ายที่จำเป็นแก้ไขต้องแสดงเหตุผลซึ่งกันและกัน ผลเป็นอย่างไร ผมยอมรับได้ ไม่ใช่ในห้องประชุมไม่ฟัง อยู่ไม่กี่คน ไม่รับฟังอะไร ไม่ถกเถียงกันเท่าที่ควร หรือยกมือตามกันที่ได้รับมอบหมาย สั่งการมา สะท้อนว่า สภาไม่ได้เป็นความหวังแก้ปัญหา” นายสมชัย กล่าว
ทั้งนี้ นายสมชัยโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คให้จับตาการลงมติของส.ว.และ ส.ส.เพราะการลงมติครั้งนี้มีความหมายเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการเมืองไทยไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง เพราะจะทำให้
1. ส.ว.มีความเป็นกลางทางการเมือง ตามมาตรา 113 ของรัฐธรรมนูญ ไม่ฝักใฝ่ หรือยอมอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองใด
2. การจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่อยู่ภายใต้การพิจารณาว่า ส.ว.จะลงมติให้ใคร หรือควรจับมือกับพรรคการเมืองใดที่ ส.ว.มีแนวโน้มสนับสนุน
3.เป็นการนำประเทศไปสู่การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยแบบสากล และเป็นการเสริมสร้างเกียรติภูมิของวุฒิสภา