“อภิสิทธิ์”ชงทำประชาพิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญใหม่เปลี่ยนการเมือง
“อภิสิทธิ์”ชงทำประชาพิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญใหม่เปลี่ยนการเมือง ปลดล็อก ส.ว. เลือกนายกฯ แนะสร้างกลไกถ่วงดุลตรวจสอบผู้เข้าสู่อำนาจเสียใหม่
วันนี้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร จัดงานสัมมนาในหัวข้อ “ไทยแลนด์ 66 พลิกโฉมสู่ความยั่งยืน” รับมือความท้าทายของไทยปี 66 โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ปรองดองสมานฉันท์ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ว่า ประเทศไทยได้สูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันไปมาก และไม่สามารถกินบุญเก่าได้อีกต่อไป เพราะขณะนี้ไทยได้รับผลกระทบและมีความท้าทายให้ต้องแก้ปัญหาในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น ภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร ภาคการท่องเที่ยวและบริการ รวมถึง ไทย ได้กลายเป็นสังคมสูงวัยที่ประสบปัญหาภาวะการขาดแคลน และเผชิญรายจ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ไทยเป็นไม่กี่ประเทศที่ก้าวสู่สังคมสูงวัยโดยที่ฐานะประเทศไม่ดี และไม่มีระบบสวัสดิการ
รวมถึงความเหลื่อมล้ำที่มีมากขึ้น และภาวะโลกร้อนที่เผชิญ ไทยอยู่ในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัว การท่องเที่ยว การเกษตรทุกกิจกรรมต้องเป็นต้องมิตรกับสิ่งแวดล้อม สุดท้ายความขัดแย้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ตอนนี้กลับมาอยู่ในโลกที่เกิดสงคราม ความท้าทายทั้งหมดที่กล่าวมา หากจะให้ประเทศไทยพัฒนาอย่างยั่งยืนได้จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนในเชิงโครงสร้างครั้งใหญ่
“ต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง เพราะปัจจุบันโครงสร้างไม่สอดกับสภาวะแวดล้อมของโลกและความท้าทายที่เกิดขึ้นมา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวต้องเป็นในภาวะที่การเมืองต้องเข้มแข็งขึ้น ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา ไทยออกแบบกติกาการเมือง ที่ไม่ได้รัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตย ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในสภาไม่ใช่ความผิดพลาด แต่เกือบจะเรียกได้ว่าเป็นความจงใจของรัฐธรรมนูญในปัจจุบันที่จะขับเคลื่อนประเทศ โดยรัฐบาลเป็นแกน เขียนขึ้นมา โดยความวิตกและจะทำให้กลับไปสู่ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ถ้าปล่อยให้ฝ่ายการเมืองมีบทบาทสำคัญก็จะไม่จบ” ”นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า จะให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้นั้น จะต้องมีการปลดล็อก หรือคลายปมปัญหาความขัดแย้ง คือ 272 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดบทเฉพาะกาล ให้อำนาจ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง 250 คน ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี โดยให้เป็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 159 กำหนดเท่านั้น ที่แม้ ตอนนี้ทางสภาฯ ไม่ผ่านให้เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2565 ที่ผ่าน ทั้งที่ ตรงนี้เป็นจุดที่ง่ายที่สุด ซึ่งถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากวันนี้ถึงกลางปีหน้า และมีการเลือกตั้งประเทศก็จะเดินหน้าต่อไม่ได้ เพราะก็จะติดอยู่กับมาตรานี้
“การจัดทำรัฐธรรมนูญจะเป็นการเปิดเวทีให้คนคิดต่างมีส่วนร่วมในการทำกติการ่วมกัน ฉะนั้น ถ้าเราเดินตามนี้ได้ จะเป็นการสร้างความหวัง จะมีเวทีการเขียนกติกาที่ทุกคนเข้ามามีโอกาสมีส่วนร่วม เพราะต่อให้สิ่งที่เขียนออกมา ทุกคนอาจจะไม่เห็นด้วย แต่เชื่อว่าจะมีกติกาที่ทุกคนยอมรับ และสร้างกลไกตรวจสอบถ่วงดุล คนเข้าสู่อำนาจ”
อย่างไรก็ตาม ในต่างประเทศเวลามีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับนักการเมือง ไม่ว่าจะเรื่องใด นักการเมืองในต่างประเทศจะรับผิดชอบโดยการลาออก แต่ในไทยไม่ได้เป็นแบบนั้น สิ่งที่ดีที่สุด คือ สร้างศรัทธาโดยถอยตัวเองให้ออกไป รวมถึงควรเข้าใจภาคประชาชนที่มาเรียนรู้ สร้างเวทีเพื่อหาข้อยุติ มากกว่ากดทับปัญหา
“ผมยังยืนยันความเชื่อว่า ไม่มีใครเขียนบทว่าอะไรจะเกิดขึ้นล่วงหน้าได้ สิ่งที่ต้องทำ คือ เราทุกคนต้องช่วยกันเขียน ถ้าอยากขจัดความขัดแย้ง ต้องช่วยกัน ส่งสัญญาณไปผู้มีอำนาจว่าหมดเวลาหรือยังที่จะรักษาอำนาจเพื่อมีอำนาจ แล้วปล่อยให้ประเทศสังคมเดินไปเอง ควรสนับสนุน การเลือกตั้งครั้งหน้าให้มีการประชามติ ในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ทุกคนยอมรับ และช่วยกันคิดต่อว่า เราจะไม่เดินซ้ำรอยกับการเมืองที่ผิดพลาดในอดีตอย่างไร และช่วยกัน"
ขณะที่ สื่อมวลชน สร้างเวทีให้ถกเถียงด้วยเหตุผล และทุกคนฝึกตนเองมากขึ้นในการยอมรับ สนทนาแลกเปลี่ยนด้วยเหตุและผล เพราะมนุษย์ไม่เหมือนกัน ไม่มีใครถูกทุกเรื่องทุกคนแลกเปลี่ยนกัน ถ้าทำได้จะไม่ได้รอข่าวดีขากไหน ทุกคนจะเป็นข่าวดีเอง