ปิดฉากคดีทุจริตแบงก์บีบีซี ฎีกายืนคุก 335 ปี "ราเกซ สักเสนา" ชดใช้ 2.5 พันล้าน
ศาลฎีกาพิพากษายืน! จำคุก 335 ปี "ราเกซ สักเสนา" อดีตพ่อมดการเงิน คดีทุจริตธนาคาร "บีบีซี" แต่โทษจำคุกได้สูงสุด 20 ปี สั่งชดใช้เงินอ่วมกว่า 2.5 พันล้านบาท
เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2565 ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดอ่านคำพิพากษาฎีกา คดีที่พนักงานอัยการ โจทก์ ยื่นฟ้องนายราเกซ สักเสนา (Rakesy Saxena) จำเลย ความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 รวม 3 สำนวน
กรณีระหว่างปี 2537-2539 จำเลยซึ่งเป็นที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ จำกัด (มหาชน) หรือบีบีซี กับพวก ให้การช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่นายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่บีบีซี ซึ่งร่วมกันโดยทุจริตใช้บัตรอนุมัติให้สินเชื่อเกินบัญชีเกินกว่า 30 ล้านบาท กับเอกชนได้แก่ บริษัท สมประสงค์ อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และเอกชนอื่นร่วม 10 แห่ง
โดยการอนุมัติดังกล่าวไม่ผ่านการพิจารณากลั่นกรองจากคณะกรรมการสินเชื่อหรือคณะกรรมการบริหารของธนาคารก่อน และได้อนุมัติโดยผู้ขอสินเชื่อ ไม่ได้จัดให้มีหลักประกันตลอดจนไม่มีการวิเคราะห์ฐานะของลูกหนี้และความสามารถในการชำระหนี้คืน อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทย และจำเลยกับพวกยังได้ร่วมกันแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายร่วมกันเบียดบังเอาเงินของธนาคารผู้เสียหายซึ่งอยู่ในความครอบครองของนายเกริกเกียรติไปเป็นของจำเลยกับพวกและนายเกริกเกียรติโดยทุจริต ซึ่งภายหลังการกระทำความผิด จำเลยกับพวกดังกล่าวได้ชดใช้เงินให้แก่ธนาคารผู้เสียหายบางส่วนโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 722,136,005.03 บาท และจำนวน 1,427,195,799.92 บาท กับจำนวน 353,363,966 บาท แก่ธนาคารผู้เสียหายด้วย
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ มาตรา 307, 308, 311 ประกอบมาตรา 315 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83ให้ลงโทษ ฐานช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่กรรมการเบียดบังเอาทรัพย์เป็นของตนหรือของบุคคลที่สามโดยทุจริต การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทง ความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 5 ปี และปรับกระทงละ 500,000 บาท ในสำนวนแรก 60 กระทง ในสำนวนที่สอง 6 กระทง ในสำนวนที่สาม 1 กระทง รวม 67 กระทง เป็นจำคุก 335 ปี และปรับ 33,500,000 บาท เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุก 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) และปรับ 33,500,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29,29/1, 30 และให้จำเลยร่วมกันคืนโดยใช้เงิน ในสำนวนคดีแรกจำนวน 722,136,005.03 บาท ในสำนวนที่สองจำนวน 1,427,195,799.92 บาท และในสำนวนที่สามจำนวน 353,363,966 บาท แก่ผู้เสียหาย (รวม 3 สำนวนเป็นเงินอย่างน้อย 2,502,695,770 บาท) และนับโทษจำเลยต่อจากโทษคดีอาญา หมายเลขแดงที่ 1817/2555ของศาลชั้นต้น
จําเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยได้ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษา
คำพิพากษาชั้นฎีกา เห็นว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมารับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ที่ศาลล่างพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาพิพากษายืน โดยศาลได้ออกหมายจำคุกคดีถึงที่สุดตามผลคำพิพากษาของศาลฎีกา
สำหรับประวัติของนายราเกซ สักเสนา ข้อมูลจากวิกิพีเดีย ระบุว่า เกิดที่เมืองอินดอร์ รัฐมัธยประเทศ จบการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวรรณกรรม มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เดินทางเข้ามาในประเทศไทยหลังปี พ.ศ. 2520 ทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญทางการเงินและการลงทุน และที่ปรึกษาของหลายบริษัท ได้เป็นที่ปรึกษาของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 และถูกดำเนินคดีข้อหายักยอกทรัพย์เป็นเงิน 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อ พ.ศ. 2539 หลังการล้มละลายของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ ในปี พ.ศ. 2538 และออกหมายจับ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2539
นายราเกซ เดินทางหลบหนีออกจากประเทศไทย ไปอาศัยอยู่ที่เมืองวิสต์เลอร์ รัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา และถูกจับกุมโดยกองตำรวจม้าหลวงแห่งแคนาดา เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 ทางการไทยได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่แคนาดา เพื่อนำตัวนายราเกซเป็นผู้ร้ายข้ามแดน กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย แต่นายราเกซได้ให้ทนายความยื่นคัดค้าน โดยอ้างว่าถ้าถูกส่งกลับประเทศไทยอาจถูกสังหารหรือถูกขังในคุกอย่างโหดร้ายทารุณ
ศาลฎีกาแคนาดายกคำร้องคัดค้านของนายราเกซเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2551 เป็นผลให้ทางการแคนาดาต้องส่งตัวนายราเกซ สักเสนา ให้ทางการไทยตามกระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนในที่สุด ต่อมาในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2555 ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำพิพากษาให้จำคุกนายราเกซ เป็นเวลา 10 ปี ปรับ 1 ล้านบาท หาก จำเลย ไม่ชำระค่าปรับให้กักขัง 2 ปี และให้ จำเลย ชดใช้ค่าเสียหายให้กับ ธนาคาร บีบีซี เป็นจำนวนเงิน 1,132,000,000 บาท