“บิ๊กป๊อก” ควง “ชัชชาติ” ลุยน้ำ “ลาดกระบัง” ประสานงานช่วย กทม.เต็มกำลัง
“บิ๊กป๊อก” ควง “ชัชชาติ-ชัยวุฒิ” พร้อมบิ๊ก มท.-ส.ส.เพื่อไทย ลงพื้นที่ “ลาดกระบัง” แจกถุงยังชีพช่วยเหลือประชาชน ประสบเหตุ “น้ำท่วม” ย้ำพร้อมสนับสนุนเครื่องจักรกล-บุคลากร ประสานงานช่วยเหลือ กทม.เต็มกำลัง
เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565 พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมตรวจเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประสบภัยและผู้ปฏิบัติงาน ในเขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายรัฐพล นราดิศร รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฝ่ายปฏิบัติการ นายพิริยะ ฉันทดิลก รองอธิบดีกรมการปกครอง นายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นางสาวปาณิสรา กาญจนะจิตรา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงมหาดไทย นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตลาดกระบัง นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) นายธนะสิทธิ์ เมธพันธ์เมือง ผู้อำนวยการเขตลาดกระบัง นายสมศักดิ์ มีอุดมศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร และนายยงยส เนียมทรัพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมตรวจเยี่ยมฯ และรายงานข้อมูล
พลเอก อนุพงษ์ กล่าวว่า วันนี้ได้รับมอบหมายจาก พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการการแทน นายกรัฐมนตรี ให้มาติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่เขตลาดกระบัง ซึ่งสถานการณ์ฝนในปีนี้ค่อนข้างหนักเกือบทั่วประเทศ และมีฝนตกหนักทั่วทั้งกรุงเทพมหานครพร้อมกันกว่า 30 เขต ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม ซึ่งก่อนหน้านี้ทางกรุงเทพมหานครก็ได้มีการเตรียมการมาเป็นอย่างดี ทั้งการขุดลอกท่อ การพร่องน้ำ การเตรียมเครื่องมือ การเตรียมเจ้าหน้าที่ และการแจ้งเตือน ฯลฯ แต่ก็ยังเกิดสถานการณ์น้ำท่วมขังและล้นตลิ่งเนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่มีมาก ซึ่งกรุงเทพมหานครได้รายงานมาให้ทราบอยู่ตลอด โดยรัฐบาลและกรุงเทพมหานครได้ทำงานร่วมกันเป็นอย่างดีเสมอมา หากทางกรุงเทพมหานครต้องการรับการสนับสนุนจากรัฐบาลในเรื่องใด ให้ประสานมายังกระทรวงมหาดไทย ทั้งด้านเครื่องมือ บุคลากร เรือท้องแบน เป็นต้น ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย ยินดีให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ซึ่งคาดการณ์ว่าหากฝนไม่ตกหนักลงมาซ้ำอีกสถานการณ์จะดีขึ้นโดยเร็ว
พลเอก อนุพงษ์ กล่าวอีกว่า การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เหนือเขื่อนยังสามารถรองรับปริมาณน้ำที่ไหลลงมาได้ และน้ำที่อยู่ในพื้นที่ใต้เขื่อนก็ยังมีพื้นที่สำหรับรับน้ำอยู่ โดยในระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังสามารถควบคุมได้ อย่างไรก็ตามหากในพื้นที่ใดที่มีฝนตกหนักติดต่อกันเป็นระยะเวลานานก็อาจมีน้ำท่วมขังได้ในบางพื้นที่ ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนระมัดระวังน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม ในพื้นที่เสี่ยงด้วย นอกจากนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการให้ทหารเข้ามาช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และมีการประสานงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยก็ได้อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการสัญจรทั้งทางรถหรือทางเรือด้วย
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โดยปกติแล้วกรุงเทพมหานครมีปริมาณฝนเฉลี่ยประมาณ 120 มิลลิเมตร แต่ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีปริมาณน้ำฝนกว่า 300 มิลลิเมตร ซึ่งมากกว่าปริมาณปกติประมาณ 2 เท่า จึงทำให้มีปริมาณน้ำมาก และพื้นที่ในเขตลาดกระบังถูกล้อมด้วย 3 พื้นที่ ทางอำเภอแปดริ้ว จังหวัดฉะเชิงเทรา ด้านทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ที่ต้องผลักดันน้ำออกไปสู่แม่น้ำบางปะกง ทางด้านทิศใต้เป็นทางตำบลปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ ที่ต้องระบายน้ำออกสู่อ่าวไทย และด้านตะวันตก คือ พื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ต้องระบายน้ำออกไปสู่คลองพระโขนง โดยในปัจจุบันได้ผลักดันน้ำออกทางด้านตะวันตกค่อนข้างมาก เนื่องจากมีการวางระบบระบายน้ำไว้ โดยมีกรมชลประทานเข้ามาให้การช่วยเหลือ ถือเป็นโอกาสดีที่ได้ทำงานประสานความร่วมมือไปยังทุกภาคส่วน จากนี้ไปคงต้องมีการหารือร่วมกันในระยะยาว เรื่องการบริหารจัดการน้ำทางด้านทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากพื้นที่เมืองขยายไปทางฝั่งทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานครเป็นจำนวนมาก รวมทั้งการเชื่อมโยงกับโครงการ EEC ที่มีโครงการต่างๆ ลงในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น การวางแผนการบริหารจัดการน้ำทางด้านทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ในภาพรวมกรุงเทพมหานครจะทำเพียงหน่วยเดียวไม่ได้ จะต้องได้รับการร่วมมือจากจังหวัดข้างเคียง เพื่อให้เกิดประโยชน์ในระยะยาวอย่างยั่งยืน
ส่วน นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวสรุปสถานการณ์ว่า ที่ผ่านมาปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่เขตลาดกระบังเกิดจากฝนที่ตกลงในพื้นที่อย่างหนักและต่อเนื่อง โดยกรมอุตุนิยมวิทยา ได้แจ้งว่า มีร่องมรสุมด้านบนของกรุงเทพมหานครพาดผ่าน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจึงได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยกันระดมทรัพยากร ทั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ ซึ่งในเบื้องต้นได้มุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ทั้ง 6 แขวง มีประชากรประมาณ 170,000 คน ที่ได้รับผลกระทบ โดยดูแลเรื่องของจุดที่มีน้ำท่วมขัง การจราจร การอำนวยความสะดวก การซ่อมแซมพาหนะของประชาชน เป็นต้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมคลองที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง กลุ่มเปราะบาง ซึ่งได้ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนและให้กำลังใจ พร้อมให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน การอพยพผู้ป่วยออกจากพื้นที่ โดยทางเขตและทหารก็ระดมรถเข้าไปช่วยเหลือ
นายสมศักดิ์ มีอุดมศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กล่าวว่า สำหรับการบริหารจัดการน้ำที่คลองประเวศ ปัจจุบันระดับน้ำยังอยู่ในจุดวิกฤต ทำให้เกิดปัญหาน้ำในคลองประเวศล้นตลิ่ง เกิดน้ำท่วมถนนลาดกระบัง ถนนหลวงแพ่ง ถนนเจ้าคุณทหาร และชุมชนต่างๆ ที่อยู่ในระดับพื้นที่ต่ำ โดยสำนักการระบายน้ำได้นำกระสอบทรายไปปิดกั้นตามจุดเชื่อมต่อต่างๆ เช่น คลองพระยาเพชร คลองทับยาว ในการที่จะป้องกันน้ำไม่ให้เข้ามาในถนน และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จากเดิมที่มีน้ำท่วมคลองลาดกระบัง ถนนหลวงแพ่ง ความยาวประมาณ 18 เมตร ปัจจุบันเหลือประมาณ 6 เมตร
นายยงยส เนียมทรัพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 รายงานว่า จากปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดข้างเคียงในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณฝนที่ตกตั้งแต่วันที่ 1-14 กันยายน 2565 ปริมาณฝนคิดเป็นปริมาณน้ำทั้งหมด 6 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันการระบายน้ำของกรมชลประทานดำเนินการไปแล้ว 483 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยยังมีน้ำที่ยังระบายไม่หมด ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการระบายน้ำประมาณ 4-5 วัน โดยได้ทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานครในจุดเชื่อมต่อระหว่างสถานีที่จะลงคลองต่าง ๆ ในเขตสำนักชลประทาน โดยจะมีอยู่ 4 สถานี คือ สถานีสูบน้ำเปรมใต้ สถานีสูบน้ำคลองหกวา สถานีสูบน้ำหนองจอก และสถานีสูบน้ำประเวศ โดยกรมชลประทานได้ให้การช่วยเหลือโดยดึงน้ำในคลองประเวศให้ระบายออกทางแม่น้ำบางปะกงให้เร็วที่สุด และเพิ่มเครื่องสูบน้ำที่สถานีสูบน้ำท่าถั่ว จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการเฝ้าระวังเพื่อไม่ให้น้ำล้นตลิ่ง
นายรัฐพล นราดิศร รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฝ่ายปฏิบัติการ กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ 28,000 ลิตร จำนวน 18 เครื่อง ใน 7 เขต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตลาดกระบัง ได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำ 8,000 ลิตร อีกจำนวน 1 เครื่อง และปลัดกระทรวงมหาดไทยได้สั่งการให้นำเครื่องสูบน้ำมาเร่งระบายน้ำในเขตลาดกระบังเพิ่มเติม โดยจะนำเครื่องสูบน้ำในเขตพื้นที่ที่สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วมาใช้ในพื้นที่เขตลาดกระบัง
ขณะที่นายธนะสิทธิ์ เมธพันธ์เมือง ผู้อำนวยการเขตลาดกระบัง รายงานการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ว่า ในพื้นที่เขตลาดกระบังมีประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมขัง จำนวน 10,300 ครอบครัว ประมาณ 20,000 คน พืชสวนไร่นาได้รับความเสียหาย จำนวน 1,233 ไร่ มีผู้ป่วยติดเตียงที่ได้รับความเดือดร้อน จำนวน 447 ราย โดยทางสำนักงานเขตลาดกระบังได้ให้ความช่วยเหลือทั้งหมดแล้ว ซึ่งสิ่งที่ยังขาดแคลน คือ พาเลทไม้ เพื่อใช้สำหรับหนุนบ้านเรือนประชาชน ณ ตอนนี้ได้ประสานขอไปยังนิคมอุตสาหกรรมและได้รับการสนับสนุนมาแล้วบางส่วน
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ความพร้อมด้านเครื่องมือ เครื่องจักร มีความพร้อมสามารถช่วยเหลือได้ทันที โดยในขณะนี้ก็ได้มีการประสานงานกันในการวางแผนการติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำ ซึ่งทุกหน่วยงานจะทุ่มเททุกอย่างเพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบให้น้อยที่สุด และสำหรับภาพรวมการ
จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมคณะฯ ได้ลงพื้นที่ชุมชนมัสยิดซิรอตุ้ลญันนะห์ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยในเขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งให้กำลังใจและมอบสิ่งของจำเป็นแก่ประชาชนผู้ประสบภัย