ลุ้นรหัสลับ6:3คาด30ก.ย."ศาลรธน."ชี้ประเด็นเดียว24ส.ค.ครบ8ปีหรือไม่

ลุ้นรหัสลับ6:3คาด30ก.ย."ศาลรธน."ชี้ประเด็นเดียว24ส.ค.ครบ8ปีหรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญถก “2 ปม” ก่อนนัดฟังคำวินิจฉัย 30 ก.ย. คาดคำวินิจฉัยประเด็นเดียว ตอบคำร้อง 24 ส.ค. ครบ 8 ปีแล้วหรือไม่ ไม่ฟันธงเริ่มนับตั้งแต่ช่วงใด ลุ้นรหัสลับ 6 : 3 รอด-ไม่รอด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมศาลรัฐธรรมนูญวันที่ 14 ก.ย.ได้มีการหารือกัน 2 ประเด็น คือ 1.จะกำหนดวันวินิจฉัยเมื่อใด โดยมีตุลาการบางคน เสนอเป็นสัปดาห์หน้า ขณะที่เสียงส่วนใหญ่ เห็นว่าควรยึดระเบียบ และวิธีปฏิบัติของศาล โดยให้ทอดเวลาออกไป 15 วัน จึงเห็นว่า วันที่ 30 ก.ย. เป็นวันที่เหมาะสมในการอ่านคำวินิจฉัย

2. จะวินิจฉัยในประเด็นใดบ้าง โดยที่ประชุมสรุปว่า จะวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียว ตามคำร้องของฝ่ายค้านที่ถามเพียงว่า การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ถือว่าครบวาระ 8 ปี เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2565 หรือไม่

“ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะไม่มีมติกลาง เรื่องการนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่านับตั้งแต่เมื่อไร เพราะฝ่ายค้านในฐานะผู้ร้อง ไม่ได้ถาม ว่าจะนับตั้งแต่เมื่อไหร่ ซึ่งศาลจะวินิจฉัยเกินคำร้องไม่ได้ แต่ในคำวินิจฉัยส่วนตน จะสามารถอธิบายเหตุผลได้ว่า นับจากเมื่อไร” แหล่งข่าวระบุ

ลุ้นรหัสลับ 6:3“ประยุทธ์”ไปต่อ-ไม่ไปต่อ

แหล่งข่าวระบุว่า สำหรับการคาดการณ์ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทีมงานคนใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์ คาดการณ์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะรอดพ้นจากปม 8 ปี โดยลุ้นมติ 6 ต่อ 3 เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้ 

นอกจากนี้ ยังมีบางกระแสคาดการณ์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ อาจได้ไปต่อ ด้วยมติ 7 ต่อ 2 

ขณะเดียวกัน ฝ่ายที่ไม่สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ไปต่อ ได้คาดหวังกับมติ 6 ต่อ 3 เช่นกันว่า วาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ อาจครบ 8 ปี ในวันที่ 24 ส.ค.2565 ที่ผ่านมา

เปิดขั้นตอนรัฐสภาโหวตนายกฯคนใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครบ 8 ปี เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2565 จะทำให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีต่อไป เช่นเดียวกัยคณะรัฐมนตรีจะมีสภาพเป็นครม.รักษาการทันที ทำให้นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ต้องนัดประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อลงมติเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่

สำหรับขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภานั้น กำหนดไว้ในมาตรา 159 วางเงื่อนไขคือ บุคคลที่รัฐสภาจะลงมติเห็นชอบ ต้องเป็นผู้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 88 และไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 160 

สำหรับพรรคการเมืองที่มีสิทธิ์เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ได้ ต้องมีจำนวน ส.ส. ไม่น้อยกว่า 5% ของสมาชิกที่มีอยู่ของสภาฯ หรือ ประมาณ 24 คน และรายชื่อที่เสนอนั้น ต้องได้รับการรับรองจาก ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของ ส.ส.หรือ 48 คน

ขณะที่การลงคะแนนนั้น ต้องทำโดยเปิดเผย ซึ่งปกติใช้การขานชื่อสมาชิกทีละคน เพื่อลงมติ ทั้งนี้ผู้ที่จะได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องได้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา ตามที่บทเฉพาะกาล มาตรา 272 กำหนดไว้

ใช้เสียง 2ใน3ปลดล็อกนายกฯคนนอก

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในกรณีที่รัฐสภาไม่สามารถลงมติให้ความเห็นชอบบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอได้ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด มาตรา 272 วรรคสอง กำหนดไว้ว่า สามารถยกเว้นการใช้ชื่อในบัญชีนายกฯ ของพรรรคการเมืองได้ แต่ต้องให้สมาชิกรัฐสภาลงมติยกเว้น โดยต้องได้รับเสียงเห็นชอบ ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภา หรือประมาณ 240 เสียง

สำหรับระยะเวลาการเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น รัฐธรรมนูญ และข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา ไม่ได้กำหนดรายละเอียดไว้ว่าต้องเลือกให้ได้ภายในระยะเวลากี่วัน

หาก“ประยุทธ์”ไปต่อ ยุบสภาหลังเอเปค

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2565 การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่ครบ 8 ปี จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อ ภายหลังถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ 

โดยหลังจากนี้ จะเดินหน้าจัดประชุมเอเปค และมีความเป็นไปได้สูงที่จะยุบสภา ภายหลังจัดการประชุมเสร็จสิ้น เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้ง โดย พล.อ.ประยุทธ์ จะตัดสินใจเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง

ลุ้นรหัสลับ6:3คาด30ก.ย.\"ศาลรธน.\"ชี้ประเด็นเดียว24ส.ค.ครบ8ปีหรือไม่