สัญญาณแตกหัก “3 พรรคร่วมรัฐบาล” ศึกเลือกตั้ง"ใครดีใครได้"
นับบถอยหลังสู่โหมดเลือกตั้ง "ศึกชิงพื้นที่" ก็ยิ่งดุเดือด ไม่เว้นแม้แต่สถานะ"พรรคร่วมรัฐบาล" ที่ต้องปรองดองประคับประคองรัฐบาลให้รอด
โหมดการเมืองที่เริ่มนับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง ภาพของ “เกมวัดพลัง” ของบรรดาพรรคการเมืองเริ่มปรากฎออกมาอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะ “ศึกกัญชา” ปมร้อนล่าสุด ที่ปรากฏภาพเกมช่วงชิงความได้เปรียบของบรรดาพรรคการเมือง หลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติถอนร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง (ฉบับที่..) พ.ศ....ออกจากวาระประชุม
เริ่มที่ “สาทิตย์ วงศ์หนองเตย” จากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นผู้เสนอญัตติให้ถอน โดยให้เหตุผลในการกลับลำ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ “รับหลักการ” ในวาระแรกว่า การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ(กมธ.)มีการปรับแก้แบบ “สุดโต่ง” เพื่อเปิดให้มีการใช้กัญชาเพื่อการสันทนาการ อันจะส่งผลตามมาในภายหลัง
ไม่ต่างจากฝ่ายค้าน “ประเสริฐ จันทร์รวงทอง” และ “สุทิน คลังแสง” จากเพื่อไทย ให้เหตุผลในการลงมติในทิศทางเดียวกับ ปชป.ว่า ร่างที่เสนอเข้าสภาในวาระ 2-3 ไม่ต่างอะไรกับการ “ตัดกางเกงผิดแบบ” การพิจารณาชั้น กมธ.เป็นไปอย่างรวบรัด และปิดกั้น
สวนทางกับ “ภูมิใจไทย” ในฐานะผู้เสนอร่างที่ยื่นคำขาดมาตั้งแต่แรกเริ่มเดิมพันถึงขั้นถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล หากไม่มีการผลักดันกฎหมายฉบับนี้
กระทั่งเหตุการณ์ที่กำลังสดๆ ร้อนๆ อยู่ ณ เวลานี้ ซึ่งภูมิใจไทยมองว่า กลเกมการเมืองที่เกิดขึ้นไม่ต่างอะไรกับ “เกมฮั้ว” ที่จ้องรุมกินโต๊ะหวังเตะสกัดนโยบายกัญชา ซึ่งเป็นนโยบาย “จุดขาย”ของพรรคอันอาจส่งผลไปถึงแต้มต่อการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น
โดยเฉพาะในส่วนค่ายสีฟ้า ปชป.ในช่วงที่ผ่านมา บลัฟด้วยเรื่องนโยบายหาเสียง การแก้หนี้ “กองทุนเงินกู้เพื่อการศึกษา” หรือ ก.ย.ศ. อันเป็นเสมือนศึกชิงฐานคนรุ่นใหม่ ซึ่งกฎหมายเพิ่งผ่านสภาวาระ 3 ไม่กี่วันที่ผ่านมา พยายามหยิบยกจุดเริ่มต้นของนโยบายที่เกิดขึ้นในยุครัฐบาล ปชป. ที่มี “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภา เป็นนายกฯ เพื่อหวังให้ประชาชนได้เข้าถึงโอกาสในการศึกษาอย่างเท่าเทียม
โดยเฉพาะ “ราเมศ รัตนเชวง” โฆษกปชป. ที่ออกมาพูดถึง “บางพรรค” ในทำนองว่า พยายามสวมรอย ชูเรื่อง กยศ. เสมือนว่าเป็นพรรคที่คิดและทำ
ขณะที่มุมน้ำเงิน อย่างภูมิใจไทย ออกมาบลัฟกลับถึงจุดอ่อนของนโยบายในอดีต ทั้งการกำหนดดอกเบี้ยที่สูง การสร้างภาระให้กับผู้กู้และผู้ค้ำ จนส่งผลระยะยาวมาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อไล่ลึกลงไปในการอภิปราย โดยเฉพาะไฮไลท์สำคัญ คือประเด็นการจัดเก็บดอกเบี้ย
ฝั่ง “ปชป.”สนับสนุนให้จัดเก็บดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนและสร้างวินัยการคลัง สวนทางกับฝั่ง “ภท.” ที่สนับสนุนการกู้ที่ปลอดดอกเบี้ย และปลดภาระผู้ค้ำประกัน
กระทั่งสภามีมติเห็นชอบร่างดังกล่าว โดยให้ “ปลอดดอกเบี้ยและปลดภาระผู้ค้ำประกัน” ในท้ายที่สุด
ไม่ต่างจากอีกประเด็นร้อน นั่นคือ กรณีคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ก.ย.2565 มีมติโอนย้าย 3 สนามบิน ประกอบด้วย สนามบินกระบี่ สนามบินบุรีรัมย์ และสนามบินอุดรธานี จากกรมท่าอากาศยาน ไปอยู่ในความดูแลของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. หรือ AOT
นอกเหนือจากการถกเถียงในแง่ของข้อกฎหมาย โดยอ้างถึงความเห็นของกฤษฎีกา ประเด็นดังกล่าวยังถูกจับตาไปที่ “นัยการเมือง” ในช่วงเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง โดยเฉพาะ 3 สนามบินที่อาจเป็น “จุดยุทธศาสตร์” สำคัญของบางพรรคการเมือง
ย้อนไปในช่วงปี 2563 ในสมัยที่ “ถาวร เสนเนียม” อดีต ส.ส.สงขลา ปชป. เป็นรมช.คมนาคม ที่กำกับดูแลกรมท่าอากาศยาน
ครั้งนั้น “ถาวร” ได้คัดค้านการโอน 3 สนามบินด้วยเหตุผลเรื่องความคุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์
แม้กระทั่งท่าทีของ “ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กระบี่” ปชป.อย่าง “พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล” ที่ล่าสุดออกมาตั้งข้อสงสัยไปยัง “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย เกี่ยวกับการจัดเก็บรายได้หลังโอน 3 สนามบิน โดยเฉพาะสนามบินกระบี่ ที่ริเริ่มในยุครัฐบาล ปชป. และมีรายได้มากที่สุดของประเทศ
ต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นการสะท้อนภาพเกมชิงไหวชิงพริบในห้วงที่การเมืองเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง โดยเฉพาะ “สนามภาคใต้” ซึ่งก่อนหน้านี้ปรากฎภาพของการงัดสารพัดกลเม็ด บลัฟกันไปมาระหว่าง ภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์
ค่ายสีน้ำเงิน ที่นำโดย “ทัพหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค บุกพื้นที่ประกาศ “แลนด์สไลด์ฝั่งอันดามัน” รวมทั้ง “ตอกเสาเข็ม...ล้มเสาไฟฟ้า” ชูสงขลาโมเดล ปักธงจังหวัดอื่นๆ ที่เหลือ
ย้ำชัดจากศึกกัญชาล่าสุด ซึ่ง“อนุทิน” ถึงขั้นควันออกหู ประกาศกร้าวว่า “ใกล้เลือกตั้ง แล้วมาทำแบบนี้ เป็นพรรคร่วมรัฐบาล แล้วไม่สนับสนุนกันเอง ก็ไม่ต้องเกรงใจกันแล้ว”
สอดคล้องกับ “เจ๊เปี๊ยะ" นาที รัชกิจประการ แม่ทัพคนสำคัญของภูมิใจไทย ประกาศก่อนหน้านี้ ขอใช้ “บุรีรัมย์โมเดล” อีกครั้ง เพื่อปักธงที่นั่งส.ส.เขต 20+ ทั้งฝั่งอันดามัน และอ่าวไทยให้จงได้
ขณะที่ ปชป. ไม่น้อยหน้า เมื่อ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” หัวหน้าพรรค ขนแกนนำ และส.ส.ลงใต้ เปิดตัว “ว่าที่ผู้สมัคร” ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน พร้อมชูแบรนด์ “พรรคของคนใต้” ที่เป็นพรรคเดียวที่มีหัวหน้าพรรคเป็นคนใต้ถึง 3 คน ทั้ง จุรินทร์ ชวน หลีกภัย บัญญัติ บรรทัดฐาน
โดยรอบนี้ ปชป.ประกาศทวงคืนภาคใต้ หวังปักธงให้ได้ 35-40 จากทั้งหมด 58 ที่นั่งให้จงได้
พื้นที่ภาคใต้ยุคนี้ แม้จะเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของ“ประชาธิปัตย์” ที่“ภูมิใจไทย”เจาะทะลุเข้ามาได้ และมีแนวโน้มจะรุกคืบได้อีก ขณะที่หลายพรรคทั้งเก่าและใหม่ ตั้งเป้าเบียดแทรกเข้ามาให้ได้
ยิ่งนับถอยหลัง เข้าสู่โหมดเลือกตั้งมากเท่าไร การช่วงชิงความได้เปรียบ การเปิดศึกชิงพื้นที่ ก็ยิ่งดุเดือด สถานะ"พรรคร่วมรัฐบาล" ที่ต้องปรองดองประคับประคองรัฐบาลให้รอด ที่เคยมีในช่วงต้นรัฐบาล จะไม่มีให้เห็นอีกต่อไป เพราะเวลานี้ต่างฝ่าย ต้องกลับสู่สถานะคู่แข่งขัน ที่ไม่มีใครยอมใคร
“ใครดีใครได้” ที่ “อนุทิน” ลั่นวาจา สวนหมัดประชาธิปัตย์ เริ่มทำให้สมรภูมิเลือกตั้งเริ่มระอุคุกรุ่น ภูมิใจไทยส่งสัญญาณพร้อมเปิดศึกทุกพรรคร่วมรัฐบาล ที่แม้แต่พลังประชารัฐก็ไม่พ้น ต้องถูกลากเข้ามาร่วมในสนามรบอย่างเลี่ยงไม่ได้