23 ก.ย. กกต.คลอดหลักเกณฑ์หาเสียง หวั่นชิง “ยุบสภา” ก่อน กม.ลูกบังคับใช้
จ่อชงที่ประชุม กกต.หารือประกาศ สร้างความชัดเจนปม 180 วันก่อนสภาฯครบเทอม คาด 23 ก.ย.ชัดเจน ห่วง “ยุบสภา” ก่อนกฎหมายลูกบังคับใช้ พรรคการเมืองจะเกิดปัญหา ทำไพรมารีโหวตแบบเก่า
เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2565 นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณี กกต.เตรียมประกาศหลักเกณฑ์ให้พรรคการเมืองได้ทราบและปฏิบัติ เพื่อเตรียมพร้อมในช่วง 180 วันที่สภาผู้แทนราษฎรจะหมดวาระ โดยจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย. 2565 ว่า วิธีการหาเสียงมีกำหนดอยู่ในระเบียบของ กกต.อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกรณี 180 วัน กรณีสภาอยู่ไม่ครบวาระ หรือยุบสภา คือมาตรฐานแบบเดียวกัน
นายแสวง กล่าวว่า แต่ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้อาจจะแต่ต่างออกไป เพราะมีกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับรอการประกาศใช้ ทำให้เงื่อนไขในการหาเสียงบางอย่างยังไม่เกิดขึ้น เช่น หน่วยเลือกตั้ง เขตเลือกตั้ง ต้องรอกฎหมายฉบับใหม่ ทำให้ฐานของผู้สมัครและพรรคการเมืองที่จะนำไปใช้ในการหาเสียงยังไม่เกิดขึ้น โดยช่วงบ่ายวันนี้สำนักงาน กกต. จะเสนอร่างประกาศดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม กกต. เพื่อพิจารณาก่อนจะแจ้งให้พรรคการเมืองทราบในวันที่ 23 ก.ย. 2565 เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้เกิดความชัดเจนในการหาเสียง
นายแสวง กล่าวถึงข้อกังวลที่พรรคการเมืองกลัวว่าในช่วง 180 วันอะไรทำได้ทำไม่ได้บ้างนั้น ว่า ตัวระเบียบมีกำหนดไว้อยู่แล้ว พรรคการเมืองเคยใช้แล้ว สิ่งที่ต่างออกมาคือระยะเวลาที่มากขึ้น แต่ก่อนมีพระราชกฤษีกาเลือกตั้ง กรณีไม่ครบวาระจะใช้เวลาหาเสียงประมาณ 30 วันก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง แต่ครั้งนี้แตกต่างออกไปเพราะ 180 วัน หรือ 6 เดือน มีกิจกรรมที่พรรคการเมืองจะหยุดไม่ได้ เช่น การประชุมใหญ่ การทำไพรมารี่โหวต การทำกิจกรรมทางการเมืองตามที่กฎหมายกำหนด กกต.จะมีการชี้แจงให้พรรคการเมืองได้รับทราบ ในการประชุมชี้แจงพรรคการเมืองที่จะมีขึ้นในวันที่ 23 ก.ย.นี้ เพราะระยะเวลา 6 เดือน หาเสียงทอดยาวมาก ต้องดูองค์ประกอบว่าจะเข้าข่ายการหาเสียงการเลือกตั้งหรือไม่
เมื่อถามว่า จะมีความชัดเจนเรื่องการหาเสียงกับการช่วยเหลือประชาชนหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า เส้นแบ่งทางกฎหมายมีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าข้อเท็จจริงเป็นอบ่างไรต้องดูเป็นกรณีไป ทั้งนี้ตัวระเบียบมีอยู่แล้ว เพียงแต่เงื่อนเวลาเพิ่มขึ้นมา ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ใช้ระยะเวลา 180 วันเพิ่มขึ้นมา และมีกฎหมาย 2 ฉบับที่จะเป็นเครื่องมือในการเลือกตั้งครั้งต่อไป แต่ยังไม่มีผลใช้บังคับ เพื่อเป็นฐานในการทำงาน เมื่อถามย้ำว่าการไม่มีกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับจะมีปัญหาในการปฏิบัติหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ถ้าไปถึงวันที่ 23 มี.ค.2566 ทุกอย่างจะเรียบร้อย และพรรคการเมืองก็จะมีเวลาเตรียมตัว และมีช่วงเวลาในการหาเสียง การทำไพรมารี่โหวตตามกฎหมายใหม่ แต่ถ้าสถานการณ์การเมืองทำให้พรรคต้องทำไพรมารี่โหวตตามกฎหมายเดิม จะมีพรรคการเมืองทำไพรมารี่ตามกฎหมายดังกล่าวได้หรือไม่ สามารถส่งผู้สมัครได้หรือไม่
“ผมไม่ได้ห่วงสำนักงาน กกต. เพราะมีการเตรียมพร้อมไว้อยู่แล้ว แต่กังวลกับพรรคการเมือง เนื่องจากปัจจุบันมีพรรคการเมืองเป็นจำนวนมาก ถ้ากฎหมายใหม่ใช้บังคับก็จะทำไพรมารี่โหวตตามกฎหมายใหม่ ซึ่งจะง่ายกว่าการทำไพรมารี่แบบเก่า เพราะใช้เขตจังหวัดเป็นเขต แต่หากใช้กฎหมายฉบับเก่าจะต้องไปทำไพรมารี่โหวตในทุกเขต ตั้งมีการจัดตั้งสาขาและตัวแทนพรรคในทุกเขต ต้องมีการจัดประชุม ตรวจเช็คองค์ประชุม บันทึกการประชุม ซึ่งจะต้องลงรายละเอียดคะแนนของการโหวตผู้สมัครที่อาจจะเป็นปัญหายุ่งยากต่อพรรคการเมือง” นายแสวง กล่าว
เมื่อถามว่า จะมีการตรวจสอบกรณีที่พรรคการเมืองลงพื้นที่และแอบแฝงการหาเสียงอย่างไร นายแสวง กล่าวว่า ทุกเรื่องกฎหมายกำหนดไว้อยู่แล้ว ต้องดูข้อเท็จจริงแต่ละเรื่องว่าเป็นอย่างไร แต่ทุกคนต้องทำตามกฎหมาย ส่วนการลงพื้นที่ของรักษาการนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีก็ต้องจับตาตามปกติอยู่แล้ว