ลุ้นคดี"ประยุทธ์" เปลี่ยนฉากการเมืองไทย กองหนุน ล็อก “ประวิตร” นายกฯคนนอก ?

ลุ้นคดี"ประยุทธ์" เปลี่ยนฉากการเมืองไทย กองหนุน ล็อก “ประวิตร” นายกฯคนนอก ?

ลุ้นวันนี้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” อ่านคำวินิจฉัยปม 8 ปี “ประยุทธ์” หากรอดกลับมานั่งเก้าอี้นายกฯต่อ มีโอกาสปรับ ครม.ที่ยังว่าง 4 เก้าอี้ แต่หากร่วง ต้องสรรหานายกฯคนใหม่ “อนุทิน-อภิสิทธิ์-ชัยเกษม” ลุ้นส้มหล่น จับตา “ประวิตร” ตัวเต็งนายกฯคนนอก

เป็นอีกวันในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย 30 ก.ย.2565 เวลา ที่จะถูกบันทึกเหตุการณ์ว่า อดีตผู้นำ คสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป หรือหลุดจากเก้าอี้  หลังจาก“9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” อ่านคำวินิจฉัย ตามคำร้องของ “ฝ่ายค้าน” เกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158 วรรคสี่

จุดเริ่มต้นคดีนี้ เมื่อ “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” 171 คน นำโดย “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยื่นคำร้องต่อ “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 17 ส.ค. เมื่อผ่านขั้นตอนการตรวจสอบ คำร้องได้ส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า “พล.อ.ประยุทธ์ ที่เริ่มต้นดำรงตำแหน่งนายกฯ ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.2557 ติดต่อกันมาถึงปัจจุบัน รวมแล้วครบ 8 ปี นับตั้งแต่ 25 ส.ค.2565 หรือไม่”

มีการคาดการณ์ ถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อาจออกมาได้ 3 แนวทางคือ 

1.พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ และต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ ไปรักษาการตำแหน่งนายกฯแทน

2.พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งยังไม่ครบ 8 ปี โดยให้เริ่มนับเมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560 เท่ากับว่า จะเป็นนายกฯได้อีกถึงปี 2568 (หากได้รับเลือกให้เป็นนายกฯ ในการเลือกตั้งครั้งหน้าปี 2566)

3.พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งยังไม่ครบ 8 ปี โดยให้เริ่มนับเมื่อมีการถวายสัตย์ปฏิญาณฯ เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2562 เท่ากับว่า มีโอกาสจะเป็นนายกฯได้ถึงปี 2570 (หากได้รับเลือกให้เป็นนายกฯ ในการเลือกตั้งครั้งหน้าปี 2566)

“กรุงเทพธุรกิจ” ประเมินภาพรวมทางการเมืองมานำเสนอ หาก พล.อ.ประยุทธ์ “รอด” เกมทางการเมืองของเขา ซึ่งรวมถึงพี่น้อง 3 ป.และเครือข่ายจะเป็นไปอย่างไรต่อ และหากพล.อ.ประยุทธ์ “ร่วง”การเมืองของประเทศไทย จะเป็นไปในทิศทางใด

แนวทางที่เป็นบวก หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้รอดจากปมวาระ 8 ปี จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมามีอำนาจเต็มในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อทันที ภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไปเมื่อวันที่ 24 ส.ค.2565

จากนั้น ยังมีโอกาสที่จะปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องจากเก้าอี้รัฐมนตรีว่างอยู่ 4 ตำแหน่ง เป็นโควตาของพรรคพลังประชารัฐ 2 ตำแหน่ง โควตาพรรคภูมิใจไทย 1 ตำแหน่ง และโควตาของพรรคประชาธิปัตย์ 1 ตำแหน่ง 

ส่วนจะมีการปรับตำแหน่งอื่นหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะในช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาล อาจจะมีความจำเป็นในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ โดยเฉพาะ “ทีมเศรษฐกิจ” หากฟอร์มทีมใหม่จนมีความน่าเชื่อถือ ก็มีโอกาสพลิกฟื้นความเชื่อมั่นในโค้งสุดท้ายขึ้นมาได้

ต่อมาในช่วงเดือน พ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นประธานจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ซึ่งเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้เป็นเหตุผลในการยื้อชะตาของตัวเอง

หลังจากนั้น จะเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง ซึ่งหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ อาจประกาศยุบสภาเร็วสุดในช่วงปลายเดือน พ.ย. ถึงปลาย ธ.ค. 2565 และช้าสุดในช่วงต้น ม.ค.-ต้น มี.ค.2566 

ซึ่งโอกาสในการยุบสภา มีสูงกว่าการอยู่จนครบเทอมสภาในวันที่ 23 มี.ค. 2566 เพราะมีเงื่อนไขของการสังกัดพรรคการเมืองของ “ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.” และการเป็นรัฐบาลรักษาการ

ลุ้นไปต่อ พปชร.-หาพรรคใหม่

อย่างไรก็ตาม หาก พล.อ.ประยุทธ์ ยังต้องการอยู่ในอำนาจต่อ อาจหลีกเลี่ยงการสังกัดพรรคการเมืองไม่ได้ แม้พรรคพลังประชารัฐจะเป็นตัวเลือกแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะฝากอนาคตเอาไว้ แต่บรรดา “ทีมลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่คอยใช้กลเกมการเมืองทิ่มแทงในหลายโอกาส ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องคิดหนัก

เพราะหากอยู่ร่วมหัวจมท้ายกับพรรคพลังประชารัฐ แต่มีการเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร พ่วงเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี สถานะเบอร์หนึ่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ย่อมสั่นคลอนแน่นอน เพราะอาจจะโดนหักหลัง ไม่เสนอชื่อในการโหวตตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง

ดังนั้น จึงมีโอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะไปสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ หรือเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งเป็นพรรคสำรองของตัวเอง แม้ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” หัวหน้าพรรค จะยืนยันไม่ใช่พรรคอะไหล่ แต่ในทางการเมืองเป็นที่รับรู้กันดี

ในทางกลับกัน หาก พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจไม่เล่นการเมืองต่อ และไม่อนุญาตให้พรรคการเมืองเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ก็จะเป็นการปิดสวิตซ์ตัวเองลงโดยอัตโนมัติเช่นกัน

ลุ้นคดี\"ประยุทธ์\" เปลี่ยนฉากการเมืองไทย กองหนุน ล็อก “ประวิตร” นายกฯคนนอก ?

“ประยุทธ์”ร่วงเลือกนายกฯคนใหม่

แนวทางที่เป็นลบ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ไปต่อ เพราะนั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครบ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 167 (1) กำหนดให้เป็นเหตุ “รัฐมนตรีทั้งคณะ” ต้องพ้นจากตำแหน่ง และต้องดำเนินการให้มี “คณะรัฐมนตรี” ชุดใหม่

ตามมาตรา 158 และ มาตรา 159 และประกอบกับมาตรา 272 ที่เขียนไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ คือตั้งแต่ 24 มี.ค.2562 - 24 มี.ค.2566 ให้ใช้ที่ประชุมร่วมรัฐสภา พิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี

โดยขั้นตอนแรกจะเริ่มจากการขอเปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ เนื่องจากช่วงนี้ ถึง 1 พ.ย.คือช่วงปิดสมัยประชุม จากนั้น “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภา ที่ประกอบด้วย ส.ว. 250 คน และ ส.ส. 478 คน รวม 728 คน เพื่อดำเนินการเลือกนายกฯ คนใหม่

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 158 ประกอบ 159 กำหนดเงื่อนไขสำคัญ เลือกนายกฯ คือ 1.บุคคลที่จะถูกเสนอชื่อ ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามของการเป็นรัฐมนตรี ตามมาตรา 160 2.ต้องเป็นบุคคลที่อยู่ในบัญชีของพรรคการเมือง ซึ่งพรรคที่จะเสนอชื่อได้ ต้องมีส.ส.ไม่น้อยกว่า 5% ของสมาชิกสภาฯ หรือ 25 คน

3.ชื่อที่ถูกเสนอต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิก คือ 100 หรือ 48 คน 4.การลงมติต้องทำโดยเปิดเผย ซึ่งปกติที่เคยทำมา คือ การขานชื่อสมาชิกทีละคนเรียงตามลำดับ เพื่อให้สมาชิกเอ่ยชื่อบุคคลที่ถูกเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี

สำหรับมตินั้นต้องใช้เสียงข้างมาก และต้องเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 365 เสียงขึ้นไป

“อนุทิน-อภิสิทธิ์-ชัยเกษม”ลุ้นเสียบ

อย่างไรก็ดี สำหรับบัญชี “แคนดิเดต” นายกรัฐมนตรี ที่เข้าเกณฑ์ตามเงื่อนไข จะมีทั้งสิ้น 3 พรรคการเมือง คือ พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ เพราะ มีส.ส.ในสภาฯ เกิน 25 คน

บุคคลที่มีสิทธิ์จะถูกเสนอชื่อรอบนี้ ประกอบด้วย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. นายชัยเกษม นิติสิริ แต่ทั้ง “สุดารัตน์-ชัชชาติ” คงไม่ได้รับการเสนอชื่อ เพราะไม่ใช่คนของพรรคเพื่อไทยแล้ว ทำให้พรรคเพื่อไทย มีเพียงชื่อของ “ชัยเกษม” ที่มีคุณสมบัติของพรรคที่จะเข้าแข่งขัน

ส่วนพรรคภูมิใจไทย คือ “อนุทิน ชาญวีรกูล” และ พรรคประชาธิปัตย์ คือ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"

ดังนั้น เมื่อดูชื่อชั้นของ 3 แคนดิเดต จึงเชื่อแน่ว่า จะไม่มีผู้ใดที่ได้รับเสียงเห็นชอบข้างมาก และเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา

เพราะ “ชัยเกษม” แม้จะเป็นตัวแทนของ “ฝ่ายค้าน” แต่เสียงเท่าที่มีในสภาฯ มีไม่ถึง 200 เสียง ขณะที่ “อนุทิน - อภิสิทธิ์” แม้จะเป็นตัวแทนของ “ฝ่ายรัฐบาล” ครองเสียงข้างมาก 278 เสียงในสภาฯ แต่หาก “ส.ว.และพรรค พลังประชารัฐ” พ่วงกับ “พรรคเล็ก” ไม่เอาด้วย ก็ยากที่จะ “ฝ่าด่าน”ไปได้

เว้นแต่ “เพื่อไทย-ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์” จะเล่นเกม รวมพลังฝั่งประชาธิปไตย เทเสียง “ส.ส.” ให้กับคนที่ถูกวางหมากให้เกิน 365 คะแนน ด่าน “ส.ว.” ที่ตั้งป้อมสกัด จึงจะผ่านไปได้ แต่หนทางนี้ “ยังเป็นไปได้ยาก” ในช่วงโค้งวัดใจการเลือกตั้งที่แต่ละพรรค โดยเฉพาะ “เพื่อไทย” ที่ตั้งเป้าแลนด์สไลด์ และ “ภูมิใจไทย”เดินเกมกวาดส.ส.ให้ได้เป็นขั้วใหม่การเมือง

“ประวิตร”ตัวเต็งนายกฯคนนอก

หากพรรคใด ได้ตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายบริหาร อาจเข้าทางกับประโยชน์ทางการเมืองที่จะได้รับ ทั้ง การต่อแขน ต่อขา และอำนาจบารมีของ “พรรคใหญ่” และสร้างพลังดูดทางการเมืองของ “พรรคที่คิดการใหญ่"

ทำให้กระแสในสภาฯ มองข้ามช็อตไปถึง “นายกฯนอกบัญชีพรรคการเมือง” และเตรียมเล่นเกมสภาฯ เล่นแง่ทางการเมือง เพื่อไม่ให้การโหวต “นายกฯในบัญชี” เกิดขึ้นได้

โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา272 วรรคสอง กำหนดเปิดช่องให้มี “นายกฯนอกบัญชีพรรคการเมืองได้” และมีขั้นตอนคือ

1. สมาชิกของทั้งสองสภารวมกัน ไม่น้อยกว่า กึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีของสองสภา คือ 365 เสียง เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภา "ลงมติ” ยกเว้น “บัญชีนายกฯของพรรคการเมือง” 2.ประธานรัฐสภาต้องเรียกประชุมโดยเร็ว

3.สำหรับการลงมติต้องใช้ เสียงเห็นชอบ ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 หรือ 243 เสียง จึงถือเป็น “มติให้ยกเว้น” ได้ ทั้งนี้เมื่อรัฐสภามีมติยกเว้นแล้ว ไม่ได้ปิดกั้น “ชื่อบัญชีนายกฯ” ที่พรรคการเมืองเสนอ

จากปัจจัยทางการเมืองในปัจจุบัน ที่อยู่ในช่วงโหมดเลือกตั้ง อีกทั้งการพยายามไปต่อของ “3 ป.” เพื่อรักษาอำนาจ และเครือข่าย ยังเป็นปัจจัยที่ต้องคำนึง ดังนั้นหาก “ประยุทธ์" ไม่รอดคดี 8 ปี นายกฯ คนต่อไป ย่อมไม่พ้น “พล.อ.ประวิตร”

เนื่องจาก ส.ว.250 เสียง ที่เป็นกองหนุน พ่วงกับ ส.ส.ในขั้วรัฐบาล ที่เกิน 200 เสียง จึงเป็นทางที่ปูไว้ให้ เครือข่าย “3 ป.” ครองอำนาจไปจนจบโรดแมพ

ลุ้นคดี\"ประยุทธ์\" เปลี่ยนฉากการเมืองไทย กองหนุน ล็อก “ประวิตร” นายกฯคนนอก ?