ลุ้น “2 ป.” ทิ้งทวนปรับ 7 รมต. วัดใจ“ประยุทธ์” เปิดทาง“ประวิตร”
"7เก้าอี้รัฐมนตรี"พรรคร่วมรัฐบาล กลายเป็นปมร้อนที่ "พี่น้อง 2 ป." จะต้องจัดสรรอำนาจกันแบบวิน-วินเพื่อเดินไปสู่เป้าหมายใหญ่หลังจากนี้
หลังพ้นอุปสรรคการเมืองในด่านเกือบสุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีภารกิจนายกรัฐมนตรี ที่ต้องเดินไปสุดโรดแมพรัฐบาล งานใหญ่เอเปกเดือนหน้านี้
แต่ที่อาจจะทำให้รัฐบาลต้องสะดุด คือ เสียงทวงถึงการปรับครม.จากพรรคร่วมรัฐบาล ที่ประชาธิปัตย์ เสนอปรับในส่วนของตัวเอง หลังจาก “นิพนธ์ บุญญามณี” ลาออกจาก รมช.มหาดไทย เพื่อใส่คนใหม่เข้าไปแทน
ทำให้พรรคที่จดๆ จ้องๆ พร้อมจะพ่วงด้วย ทั้งพลังประชารัฐ และภูมิใจไทย เริ่มขยับ
แม้ที่ผ่านมา นายกฯ ประยุทธ์ จะปฏิเสธการปรับ ครม.ทดแทน 2 เก้าอี้ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และ รมช.แรงงาน ที่ปลดเองกับมือ ฐานกบฎ แต่เที่ยวนี้ พรรคร่วมรัฐบาลอื่นขอใช้สิทธิ์ของตัวเอง นายกฯ ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้จะเหลือเวลาราวๆ 5-6 เดือน เพราะระยะเวลา และสถานะความเป็นรัฐมนตรี มีความสำคัญต่อนักเลือกตั้งในการทำพื้นที่อย่างยิ่ง
เมื่อตรวจสอบความเคลื่อนไหวแต่ละพรรค โดยเฉพาะประชาธิปัตย์(ปชป.)ที่เปิดฉากทวงถามนายกฯ ตรงไปตรงมา หลังรอจังหวะให้ที่ พล.อ.ประยุทธ์พ้นบ่วงวาระ 8 ปีเสียก่อน
ที่น่าสนใจ โควตาทดแทน “นิพนธ์ บุญญามณี” ทำให้มีการจับตาไปที่สัดส่วนของ ส.ส.ภาคใต้ ซึ่งแคนดิเดตที่อยู่ในลิสต์ หนีไม่พ้น เดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา ในฐานะรองหัวหน้าพรรคภาคใต้ นริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง 5 สมัย ชินวรณ์ บุญเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช และรองประธานวิปรัฐบาล
ในส่วนของ “เดชอิศม์” หรือที่เรียกขานกันว่า นายกชาย แม้ยามนี้เจ้าตัวจะสวมหมวกแม่ทัพภาคใต้ และได้โชว์ผลงานคว้าชัยชนะใน 2 สนามเลือกตั้งซ่อมครั้งล่าสุดที่ จ.ชุมพร และจ.สงขลา ไว้ได้
แต่ความเคลื่อนไหวของ “กลุ่มก๊วน” ภายใน ปชป.ดูเหมือนจะพยายามส่งเสียงคัดค้าน โดยท้วงติงไปยัง “บิ๊ก ปชป.” ประเด็นพรรษาทางการเมือง ที่เพิ่งเป็น ส.ส.สมัยแรก ยังเป็นรอง ส.ส.รุ่นเก๋า อยู่หลายช่วงตัว
กระทั่ง ล่าสุดเจ้าตัวพอจะรู้สัญญาณ จึงไม่หวังโตทางลัด โดยออกมายืนยันระหว่างลงพื้นที่เปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.กระบี่ เมื่อ 2 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า “หากมีการปรับครม.จะไม่ขอรับตำแหน่งรัฐมนตรี เพราะยังไม่ได้สร้างผลงาน แต่สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า ก็ต้องรอดูผลการเลือกตั้ง ที่มีผมเป็นแม่ทัพภาคใต้เสียก่อน”
ทำให้ ลำดับถัดไปต้องวัด ระหว่าง “นริศ ขำนุรักษ์” ส.ส.พัทลุง 5 สมัยซ้อน ซึ่งสนิทสนมกับ หัวหน้าจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ซึ่งก่อนหน้านี้ “นริศ” ก็เคยติดโผในการปรับ ครม.ประยุทธ์ 2/4 เพื่อแทน “ถาวร เสนเนียม” อดีต รมช.คมนาคม แต่ก็ต้องวืดไป เมื่อแกนนำพรรคตัดสินใจ สลับกระทรวง กับพรรคภูมิใจไทย เพื่อคุมงานในกระทรวงเดียวเบ็ดเสร็จ
ทำให้ “สินิตย์ เลิศไกร” คว้าเก้าอี้ รมช.พาณิชย์ ไปช่วยงานหัวหน้าจุรินทร์ในท้ายที่สุด
ส่วน “ชินวรณ์” ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในแคนดิเดต ชิงรองหัวหน้าพรรคภาคใต้กับ“เดชอิศม์” หากนับในเรื่องพรรษาการเมืองทั้งการเป็น ส.ส.9 สมัย ตั้งแต่ปี 2535 อดีต รมช.ศึกษาธิการ รวมถึงบทบาทการคุมเกมในสภา ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล ต้องถือว่าไม่ได้ด้อยไปกว่าคนอื่น
แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า เวลานี้เป็นช่วงเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง ฉะนั้น นอกเหนือจากเกมสภา สิ่งที่จะต้องโฟกัสยิ่งกว่า คือ ศึกเลือกตั้ง โดยเฉพาะเก้าอี้ รมช.มหาดไทย ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการเลือกตั้ง
ฉะนั้น นอกเหนือจากความเก๋าเกมในสนามการเมือง บวกเสียงหรือกลุ่มก้อนในพรรคแล้ว โจทย์ใหญ่ที่บิ๊ก ปชป.อาจจะต้องคิดอีกชั้นคือ การหาคนที่จะมานั่งเก้าอี้ มท.2 เพื่อทำหน้าที่ “ตอบโจทย์พรรค” ในโหมดเลือกตั้งให้มากที่สุด เผลอๆถึงเวลาจริงอาจมีม้ามืดเสียบเข้ามาแบบไม่มีใครคาดคิดเป็นได้
ขณะที่อีกเก้าอี้ ที่ต้องจับตาคือ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ “จุติ ไกรฤกษ์” นั่งอยู่ เกิดแรงกระเพื่อมภายในพรรคอย่างหนัก
หลังจากมีกระแสว่า “จุติ” จ่อย้ายไปสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ ทำให้ ส.ส.กลุ่มยังเติร์ก เสนอให้แกนนำพรรคยึดโควตาคืน โดยมีชื่อของ “จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร” ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นหนึ่งในรายชื่อที่ถูกพูดถึงในช่วงที่ผ่านมา
ทางด้าน “ภูมิใจไทย” หลังจากที่ศาลฎีกา มีคำสั่งให้ “กนกวรรณ วิลาวัลย์” หยุดปฏิบัติหน้าที่ รมช.ศึกษาธิการ ทำให้มีการจับตาไปที่โควตาเสมา 3 ที่จะมาแทน
ย้อนกลับไปเมื่อครั้งมีการจัดโผ ครม.ประยุทธ์ 2/1 ชื่อของ “กนกวรรณ” นอนมาเป็นชื่อแรก ในสัดส่วนโควตาปราจีนบุรี ที่ยึดพื้นที่มาได้ 3 ส.ส. และอีกเงื่อนไขคือ การเป็น “กลุ่มทุน”ของพรรค
สอดคล้องกับที่“สุนทร วิลาวัลย์” นายก อบจ.ปราจีนบุรี บิดา ที่ระบุเวลานั้นว่า “เก้าอี้รัฐมนตรีถูกล็อกไว้ให้กนกวรรณโดยเฉพาะ”
ฉะนั้น หากจะมีการปรับคนใครเข้ามาแทน ย่อมเป็น “โควตาปราจีนบุรี” เป็นอันดับแรก ซึ่งเหลียวไปดูในพื้นที่ ก็ยังมี “ชยุต ภุมมะกาญจนะ” ส.ส.ปราจีนบุรี 5 สมัย ลูกชายของ สมาน ภุมมะกาญจนะ อดีต ส.ส.ปราจีนบุรี 8 สมัย อีกทั้งยังสนิทสนมกับ“โกทร” เป็นอย่างดี
ฉะนั้นโอกาสที่ “ชยุต” ก็จะแบเบอร์ เข้ามาเสียบแทนย่อมเป็นไปได้สูง
อย่างไรก็ตาม “บุญลือ ประเสริฐโสภา”ส.ส.ราชบุรี พรรคภูมิใจไทย อดีตรมช.ศึกษาธิการ ในรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ซึ่งออกตัวพร้อมนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีมาโดยตลอด
โดยเฉพาะเมื่อครั้ง ครม.ประยุทธ์ 2/4 “บุญลือ” ก็ปรากฎชื่อเบียด "วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล" รมช.คมนาคม อีกทุนใหญ่ของพรรคในโคราช แต่ก็ไม่สำเร็จ เมื่อ “เสี่ยแป้งมัน” ยังไม่อยากลุกออกจากเก้าอี้ แม้จะมีข่าวในพรรคเป็นระยะว่า เจ้าตัวเตรียมออกไปตั้งพรรคเป็นของตัวเอง แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่ชัดเจน
อีกราย ที่ไม่อาจมองข้าม “นภินทร ศรีสรรพางค์” เจ้าของตลาดศรีเมือง แห่งราชบุรี ที่เริ่มขยับขยายเครือข่ายการเมือง และธุรกิจอย่างกว้างขวาง วันนี้ขยับขึ้นมานั่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สเต็ปต่อไป จ่อคิวขึ้นรัฐมนตรีได้ไม่ยาก
การปรับเก้าอี้ของภูมิใจไทย ไม่เคยเป็นปัญหา เพราะหลักการ หลักเกณฑ์ที่รู้กันดีว่า แต่ละเก้าอี้เป็นโควตาของกลุ่มที่มีผลงาน และทุนไหนที่ทุ่มให้พรรค
แต่ที่ลงตัวยาก คือพลังประชารัฐ(พปชร.) เก้าอี้รัฐมนตรีที่ยังว่างอยู่ 2 ตำแหน่ง หลัง พล.อ.ประยุทธ์ ปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า พ้น รมช.เกษตรและสหกรณ์ และ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ พ้นรมช.แรงงาน สายตรงของ พล.อ.ประวิตร หลังเหตุการณ์ครั้งนั้น ส่งผลให้ พปชร.ระส่ำระสาย และสร้างความไม่พอใจกับคนที่เกี่ยวข้องอย่างมาก
การเตรียมการเลือกตั้งเพื่อความได้เปรียบ จึงมีความเป็นไปได้ที่ พล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร จะต้องหาข้อสรุปให้ลงตัว ไม่เช่นนั้น การเดินเข้าสู่สนามเลือกตั้งอาจไม่ราบรื่น
ล่าสุด เริ่มมีความเคลื่อนไหวว่า พปชร.อาจจะขยับมากกว่า 2 เก้าอี้ที่ว่างลง โดยมีการพูดถึงตัวเลข 4 เก้าอี้ ที่จะต้องปรับขยับเติมคน และเปลี่ยนตัวใหม่
สำหรับ 2 เก้าอี้ที่ว่างอยู่ น่าสนใจว่า พล.อ.ประวิตร จะวางตัวใครมารับตำแหน่ง หวยจะไปออกที่กลุ่ม ส.ส.สมุทรปราการ หรือไม่ หลังจากที่ พล.อ.ประวิตร เคยรับปากเอาไว้
นอกจากนี้ อีก 2 เก้าอี้ ที่มีกระแสข่าว ตำแหน่ง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่“ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” ยังเหนียวแน่นอยู่ ซึ่งว่ากันว่า ปัจจุบันถือเป็นโควตาของนายกฯ ประยุทธ์ โดยหลุดจากโควตาผู้มากบารมีในแวดวงธุรกิจ ที่เคยส่ง “ชัยวุฒิ” มาเป็นตัวแทน แต่ระยะหลังมาโดนข้อหาแปรพักตร์
และอีกตำแหน่ง ที่ถูกเพ่งเล็ง คือ รมช.กลาโหม ที่ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ทำหน้าที่เป็นหลัก เป็นมือเป็นไม้ แทนนายกฯ ประยุทธ์ ในการกำกับดูแลกระทรวงกลาโหม มาถึงจุดนี้ เริ่มมีกระแสระหว่างกองหนุนของ 2 ป. ให้วางคนของ “พล.อ.ประวิตร” เข้ามาแทน
ถึงอย่างนั้นก็ตาม การจะบรรลุความต้องการเรื่องการปรับ ครม. ก็อยู่ที่คน 2 คนเท่านั้น คือ พล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร ว่ายังมีความไว้วางใจกันเหมือนเดิมจริงหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อเผชิญปัจจัยทางการเมืองมากมายที่รุมเร้า
บรรดาคนข้างกายของทั้ง 2 พี่น้อง ต่างตั้งแง่ใส่กัน คิดเห็นอะไร ก็ไปในคนละแนวทาง ถือเป็นอุปสรรคในการปรับ ครม. อย่างแท้จริง
เคยมีกรณีตัวอย่างมาแล้ว ในการปรับ ครม.ครั้งที่ผ่านมา ส.ส.พลังประชารัฐ ลงชื่อคัดค้านคนนอกพรรคมากินโควตา หลังระแคะระคายว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะเอาคนที่ไว้ใจมานั่งรัฐมนตรี ในสัดส่วน พปชร.
รวมถึงกรณีที่ ส.ส.พลังประชารัฐ ออกหน้าออกตา เชียร์ พล.อ.ประวิตร นั่ง มท.1 หรือ รมว.มหาดไทย เพราะคิดว่าจะได้โครงการเอาไปขยายฐานทางการเมืองในพื้นที่ เนื่องจากตลอดกว่า 3 ปี “พี่กลาง 3 ป.” อย่าง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ก็ไม่ตอบสนอง ส.ส.พรรค แม้จะมีการเคลียร์ใจกันหลายต่อหลายครั้ง
ยิ่ง ส.ส.พลังประชารัฐ กระเพื่อมหนักเท่าไหร่ ก็ยิ่งเจอแรงต้านจาก พล.อ.ประยุทธ์ มากเท่านั้น ความไม่ลงรอยระหว่างกัน จึงยิ่งร้าวลึก จนยากจะสมาน เมื่อต่างฝ่ายต่างไม่ลดราวาศอก
จากนี้ไป จึงต้องวัดใจ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า ที่สุดแล้วจะเคลียร์กับ พล.อ.ประวิตร ได้หรือไม่ เพราะการปรับครม.รอบสุดท้ายครั้งนี้ ถูกจับตาถึงความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง “2 ป.” อย่างมีนัย
เมื่อเส้นทาง พี่ใหญ่ ประวิตร ชัดเจนว่าพร้อมเดินหน้าในเส้นทางการเมือง และขับเคลื่อนพรรคพลังประชารัฐไปต่อ
ขณะที่เส้นทางของน้องเล็ก ประยุทธ์ กลับยังไม่แน่ชัด อีกทั้งยังมีข้อด้อย ให้ถูกคู่แข่งโจมตี กรณีที่เหลือวาระการเป็นนายกรัฐมนตรีในอนาคตได้อีกเพียง 2 ปีเศษ และหากจะเลือกเล่นการเมืองต่อ หลายฝ่ายก็ไม่เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะยอมลดเพดานบิน ลงมานั่งตำแหน่งอื่นๆ ในรัฐบาล
ดังนั้น การปรับ ครม.ในรอบสุดท้ายนี้ อย่างน้อย “7 เก้าอี้ของพรรคร่วมรัฐบาล” พี่น้อง 2 ป.จะต้องจัดสรรอำนาจกันอีกครั้ง จนเงื่อนไขเป็นที่พอใจ วินวินกันทั้งคู่ เพื่อเดินไปสู่เป้าหมายใหญ่ การเลือกตั้ง
หากยังระแวง ฟังคำยุแยงจากบรรดาลูกหาบ สุดท้ายจะกลายเป็นความบาดหมาง กระทบต่อ พปชร.และกระเทือนการต่อท่ออำนาจในที่สุด