กางกฎหมาย ยื่นทรัพย์สิน vs วาระ 8 ปี “บิ๊กตู่” ปมที่ศาล รธน.ยังไม่เคลียร์
ทั้งหมดคือข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมาย ที่ยังคงค้างคาใจสาธารณชนจำนวนหนึ่งว่า ในเมื่อ “ประยุทธ์” ดำรงตำแหน่งยังไม่ครบ 8 ปี และขาดตอนเมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้ ไฉนจึงไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินแก่ ป.ป.ช. แต่กลับใช้ช่องตามมาตรา 105 วรรคสี่ได้
เงื่อนปมวาระการดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงถูกพูดถึงอยู่
แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6:3 เสียง วินิจฉัยชี้ขาดว่า สถานะการดำรงตำแหน่งนายกฯของ “ประยุทธ์” จะไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 170 ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ เนื่องจากให้เริ่มนับการดำรงตำแหน่งในวันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลบังคับใช้คือในวันที่ 6 เม.ย. 2560
แต่ยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับประเด็นการยื่น “บัญชีทรัพย์สิน” ว่า ในเมื่อเป็น “นายกฯขาดตอน” ไฉนถึงไม่มีการยื่นหรือเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ “บิ๊กตู่” กรณีเข้ารับตำแหน่งนายกฯเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา
โดยขณะนั้นสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อ้างว่า “กฎหมายใหม่ ป.ป.ช.” ที่มีผลบังคับใช้เมื่อปี 2561 “เปิดช่อง” ให้ “บิ๊กตู่” ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน แบบ “ไม่เปิดเผย” เนื่องจากเป็นการดำรงตำแหน่งต่อเนื่องกัน ตามมาตรา 105 วรรคสี่
สวนทางกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำชี้แจงของ “ประยุทธ์” ที่ระบุว่า สถานะความเป็นนายกฯ “ขาดตอน” ตั้งแต่ตอนรัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้
สำหรับ พ.ร.ป.ป.ป.ช.ฉบับใหม่ปี 2561 มาตรา 105 วรรคสี่ บัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ้าพ้นจากตำแหน่งและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งใหม่ภายใน 1 เดือน ผู้นั้นไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีพ้นจากตำแหน่งและกรณีเข้าดำรงตำแหน่งใหม่ แต่ไม่ต้องห้ามที่ผู้นั้นจะยื่นเพื่อเป็นหลักฐาน
ส่วนมาตรา 105 วรรคห้า บัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าเจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอื่นใดที่มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินด้วย เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินใหม่ แต่ไม่ต้องห้ามที่ผู้นั้นจะยื่นเพื่อเป็นหลักฐาน
นั่นหมายความว่าในทางข้อเท็จจริงอิงตามกฎหมาย ป.ป.ช. “บิ๊กตู่” ดำรงตำแหน่ง “นายกฯ” ต่อเนื่องกัน และพ้นจากตำแหน่งไม่เกิน 30 วัน แต่ไม่ห้ามหากจะยื่นไว้เป็นหลักฐาน
แม้ว่า “นิวัติไชย เกษมมงคล” เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ชี้แจงประเด็นนี้เมื่อ 4 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา ระบุว่า เป็นเรื่องการตีความกฎหมายคนละฉบับกัน ในส่วนของ ป.ป.ช. ตีความตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ส่วนเรื่องการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นการตีความตามรัฐธรรมนูญ
“อย่างที่อาจารย์วิษณุ (เครืองาม รองนายกฯ) เคยพูดไปแล้วว่า การวินิจฉัยแต่ละองค์กรแตกต่างกัน กฎหมาย ป.ป.ช.ตีความเรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ส่วนรัฐธรรมนูญตีความเรื่องการดำรงตำแหน่งนายกฯ เป็นคนละส่วนกัน” นายนิวัติไชย กล่าว
อ่านข่าว: ตีความ กม.คนละฉบับ ป.ป.ช.แจงปมยื่นทรัพย์สิน-วาระ 8 ปี “นายกฯ” เทียบกันไม่ได้
ย้อนกลับไปดูคำอธิบายของ “ครุฑกฎหมาย” วิษณุ เครืองาม รองนายกฯฝ่ายกฎหมาย เคยชี้แจงในศึกซักฟอกเมื่อต้นปี 2564 ไว้เช่นกัน คอนเฟิร์มว่าอย่างน้อย ตัวเอง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้ยื่น “บัญชีทรัพย์สิน” ต่อ ป.ป.ช. เพื่อเป็นหลักฐาน เนื่องจากเข้ารับตำแหน่งต่อเนื่องไว้แล้ว
วิษณุ อธิบายว่า เหตุที่ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินแก่ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี เนื่องจากได้รับอานิสงส์ตามพระราชบัญญัติ ป.ป.ช.ฉบับใหม่ ว่า กฎหมายฉบับใหม่ กำหนดเอาไว้ว่า บุคคลที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่เคยดำรงตำแหน่งนี้มาก่อน และมาดำรงตำแหน่งใหม่ภายใน 1 ปี ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินใหม่ หลายคนอาศัยอานิสงส์ตรงนี้ ยอมรับว่าได้รับอานิสงส์ แต่เรียนว่ารัฐมนตรีหลายคน ไม่กล้าบอกว่าทั้งหมด แต่อย่างน้อยเท่าที่รู้คือนายกรัฐมนตรี และตนเองได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เสมือนรับตำแหน่งใหม่ทุกประการ ตามแบบฟอร์มที่ ป.ป.ช. กำหนด ส่วน ป.ป.ช. จะประกาศหรือไม่นั้น เป็นเรื่องของ ป.ป.ช. แต่ตนทำหน้าที่ในการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเหมือนรัฐมนตรีคนอื่น ๆ อีก 30 กว่าคนที่เข้ามาช่วงเวลาเดียวกันทุกประการ
ขณะที่ “บิ๊กตู่” เคยชี้แจงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งดังกล่าวเมื่อปี 2564 ว่า รู้ว่ากติกากฎหมายเป็นอย่างไร และได้แจ้งเพิ่มเติมไปแล้วเป็นครั้งที่ 2 แต่ขึ้นอยู่กับว่าสำนักงาน ป.ป.ช. จะเปิดเผยเมื่อไร ขอให้ดูกฎหมายด้วย อย่าพาลมาให้แก้กฎหมายอีก เพราะไม่เกี่ยวข้องกับตน เพราะทุกเรื่องก้าวล่วงไม่ได้อยู่แล้ว
ส่วน “บิ๊กป๊อก” ชี้แจงว่า เมื่อพูดก็ต้องพูดให้สังคมเข้าใจว่าบ้านเมืองเรามีคนบริหารบ้านเมืองที่อยู่ในสิ่งที่ควรจะเป็น แม้ว่ากฎหมายให้ช่องไว้ว่าง หากดำรงตำแหน่งต่อภายใน 1 เดือนไม่ต้องทำรายงานบัญชีทรัพย์สิน อย่างไรก็ตามตนได้ทำรายงานส่งไปให้ ป.ป.ช. ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย.2562 ทันเวลาทุกอย่าง ส่วนเรื่องการปิดประกาศหรือไม่ เป็นส่วนของ ป.ป.ช.ที่จะดำเนินการ
นั่นหมายความว่า บรรดารัฐมนตรีอย่างน้อย 6 รายในยุครัฐบาล “คสช.” ที่กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งอีกครั้งในรัฐบาล “บิ๊กตู่ 2” มีอย่างน้อย 3 ราย ยืนยันอย่างเป็นทางการว่า ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินให้แก่ ป.ป.ช. “เพื่อเป็นหลักฐาน” คือ วิษณุ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อนุพงษ์
ส่วนอีก 2 ราย คือ พล.อ.ประวิตร พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม และดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ยังไม่มีข้อมูลอย่างเป็นทางการ
การยื่นบัญชีทรัพย์สินเพื่อเป็นหลักฐานของ “บิ๊กตู่” โดยที่ ป.ป.ช. ไม่เปิดเผย จึงถูกฝ่ายค้านและนักวิชาการด้านกฎหมายบางส่วน มองว่า เป็นการ “กลับเข้ามารับตำแหน่งใหม่” คือการเข้ามาดำรงตำแหน่งในวาระที่ 2 นั่นหมายความว่าหากนับรวมเวลาตั้งแต่เป็นนายกฯเมื่อ ส.ค. 2557 จะครบวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีในช่วงเดือน ส.ค. 2565
ขณะที่ฝ่ายรัฐบาล ยืนยันว่า เป็นการบังคับใช้รัฐธรรมนูญคนละฉบับ กล่าวคือ “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯเมื่อปี 2557 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว และเมื่อมีรัฐธรรมนูญปี 2560 แล้ว มีบทเฉพาะกาลในมาตรา 263 และ 264 เขียนครอบคลุมให้รัฐมนตรีที่ทำงานอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้ ทำหน้าที่ต่อไปเพราะไม่มีฝ่ายบริหาร ขณะเดียวกันการเข้ามาสู่ตำแหน่งนายกฯของ “บิ๊กตู่” ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ไม่ได้ใช้หลักเกณฑ์เดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2560
จนนำไปสู่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีมติ “เสียงข้างมาก” ชี้ขาดว่า สถานะความเป็นนายกฯของ “บิ๊กตู่” ยังไม่สิ้นสุดลง เนื่องจากดำรงตำแหน่งไม่ครบ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 170 ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่
แต่ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่อ่านผ่านการถ่ายทอดสดเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2565 กลับไม่มีการกล่าวถึงประเด็นนี้แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม 1 ใน 3 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อยอย่าง “ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ” เขียนในคำวินิจฉัยส่วนตน ชี้ให้เห็น “จุดตาย” ของ “บิ๊กตู่” ต้องพ้นเก้าอี้เนื่องจากดำรงตำแหน่งนายกฯครบ 8 ปีว่า การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งที่สองของพล.อ. ประยุทธ์ ในวันที่ 9 มิ.ย. 2562 นั้น พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เนื่องจาก พ.ร.ป.ป.ป.ช. 2561 มาตรา 105 วรรคสี่ บัญญัติไว้
โดยข้อเท็จจริง พล.อ.ประยุทธ์ ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินแล้ว แต่สำนักงาน ป.ป.ช. ไม่เปิดเผย แม้จะมีการร้องขอจากสาธารณะ โดยให้เหตุผลว่า ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจเปิดเผย หมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีมาก่อนแล้ว และดำรงตำแหน่งต่อ ทำให้ได้ประโยชน์ตามมาตรา 105 วรรคสี่ ของ พ.ร.ป.ป.ป.ช. 2561 ซึ่งมิได้มีฐานะเดียวกันกับพระราชบัญญัติทั่วไปแต่เป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ คือ กำหนดรายละเอียดโดยตรงตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าต้องนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2557 “รวมกัน” เข้าไปด้วย
“ทวีเกียรติ” ระบุด้วยว่า จึงถือว่าการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ ทั้งในข้อเท็จจริงและในข้อกฎหมาย ถูกต้องต่อเนื่องกันมาโดยตลอดแล้ว และเมื่อมีการเข้าสู่ตำแหน่งโดยชอบอย่างเป็นทางการแล้ว ได้มีการใช้อำนาจบริหารประเทศตามความเป็นจริงระยะเวลา หรือวาระการดำรงตำแหน่งจึงต้องเริ่มนับทันทียิ่งเมื่อรัฐธรรมนูญใหม่กำหนดระยะเวลาดังกล่าวไว้ยิ่งแสดงให้เห็นว่า หากมีการดำรงตำแหน่งดังกล่าวมาเป็นระยะเวลา 8 ปี แล้ว ไม่ต้องการให้ผู้นั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญใหม่นี้อีก
ทั้งหมดคือข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมาย ที่ยังคงค้างคาใจสาธารณชนจำนวนหนึ่งว่า ในเมื่อ “ประยุทธ์” ดำรงตำแหน่งยังไม่ครบ 8 ปี และขาดตอนเมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้ ไฉนจึงไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินแก่ ป.ป.ช. แต่กลับใช้ช่องตามมาตรา 105 วรรคสี่ได้