“อนุพงษ์”มั่นใจบริหารสถานการณ์ได้ไม่น้ำท่วมซ้ำรอยปี 54
“อนุพงษ์”มั่นใจบริหารสถานการณ์ได้ แม้จะมีมรสุมเข้ามาเพิ่ม ยันไม่ท่วมซ้ำรอยปี 54 เผยนายกฯสั่งเร่งเยียวยาความเดือดร้อนประชาชน
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงสถานการณ์น้ำท่วม ว่า เราคาดว่ามวลน้ำจะมาถึง จ.อุบลราชธานี วันที่ 8 ตุลาคมนี้ ซึ่งจะเป็นวันที่พีคสุด อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ระดับแม่น้ำโขงยังต่ำกว่าตลิ่ง ฉะนั้นจะเร่งระบายน้ำเพื่อลดผลกระทบ ของ จ.อุบลราชธานีได้มากที่สุด ส่วนลุ่มน้ำเจ้าพระยา การระบายน้ำของเขื่อนชัยนาทและเขื่อนเจ้าพระยา เมื่อบวกกับแม่น้ำป่าสัก ปริมาณน้ำยังไม่ส่งผลกระทบต่อกรุงเทพมหานคร ถ้าไม่มีฝนเติมเข้ามาอีก
ผู้สื่อข่าวถามว่า สถานการณ์น้ำภาพรวมจะไม่ซ้ำรอยกับปี 2554 ใช่หรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ต้องมีสมมุติฐาน ถ้าไม่มีพายุหมุนฤดูร้อนเข้ามาอีก หรือร่องมรสุมพาดผ่าน ซึ่งขณะนี้คาดว่าจะมีร่องมรสุมที่มาจากอิทธิพลความกดอากาศจากประเทศจีน ทำให้ร่องมรสุมต่ำทำให้เกิดฝนทางภาคใต้ของไทย ถ้าเป็นอย่างนั้น ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือจะได้รับผลกระทบน้อย
“ส่วนปี 2554 มีพายุหมุนฤดูร้อน 3 ลูก และมีร่องมรสุมพาดผ่านติดต่อกัน 3 ครั้ง จึงทำให้มีฝนมาก และระบายน้ำไม่ทัน แต่ปีนี้จะหนักในบริเวณน้ำไหลผ่าน ถ้าไม่มีมรสุมหรือร่องมรสุมเข้ามาอีก จะสามารถบริหารจัดการน้ำได้”
เมื่อถามว่า ทุกพื้นที่มีแผนการรับมือ และแผนการเยียวยาประชาชนไว้พร้อมแล้วใช่หรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า เมื่อเรารู้สถานการณ์น้ำก็จะต้องประเมินสถานการณ์ เมื่อทราบว่ามวลน้ำอยู่ที่ไหนแล้วจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในเรื่องที่อยู่อาศัย การดำรงชีวิต และการสัญจร เราต้องเตรียมการ เช่น ที่พักพิงและการจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ให้พร้อม
โดยขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ในทุกพื้นที่ เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายร่วมกันดำเนินการ ส่วนเรื่องแผนเยียวยาเรามีระเบียบกระทรวงการคลังอยู่แล้วว่าจะทำอย่างไร โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการว่า ถ้าเริ่มฟื้นฟูเยียวยาได้ ก็ให้เร่งสำรวจความเสียหายโดยเร็ว ดังนั้น ทุกฝ่ายเตรียมการเรื่องข้อมูลในทุกพื้นที่ไว้แล้ว จะเร่งสำรวจและเร่งจ่ายเงินเยียวยาโดยเฉพาะเรื่องที่อยู่ที่อาศัยที่จะเข้าไปซ่อมแซม
เมื่อถามถึงกรณีที่ชาวบ้านเกิดความขัดแย้งให้ระบายน้ำ จะทำความเข้าใจอย่างไร พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ประชาชนบางส่วนไม่อยากให้ปล่อยน้ำไปที่ทุ่ง ต้องสร้างความเข้าใจว่า เราไม่สามารถยั้งน้ำเหนือได้ อย่างไรก็ต้องไหลผ่าน ถ้าไม่เปิดก็อาจจะท่วม และเปิดประตูระบายน้ำ ฉะนั้นต้องปล่อย ในขณะที่ชาวบ้านบางคนขอให้ทยอยปล่อย เพื่อให้น้ำทยอยไป และส่งผลกระทบน้อยลง ถ้าปล่อยมากจะได้รับผลกระทบมาก
ฉะนั้นจึงต้องสร้างความเข้าใจต่อประชาชนว่าเราต้องปล่อยเพื่อให้น้ำผ่านไปทัน ไม่ใช่ปล่อยจนกระทบมาก โดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ดูแลเรื่องนี้เพราะน้ำจะเชื่อมต่อกันหมด จึงต้องดูว่าจะเปิดหรือปล่อยน้ำที่ไหน