Lisa Su ซีอีโอ AMD เผยหลักคิด ‘ไม่มีใครเกิดมาเป็นผู้นำ แต่เป็นด้วยการฝึกฝน’
Lisa Su ยานแม่แห่ง AMD เผยแนวคิดการทำงานของเธอในฐานะผู้นำ เธอเชื่อว่า ‘ไม่มีใครเป็นผู้นำตั้งแต่เกิด แต่เป็นได้ด้วยการฝึกฝน’ กว่าที่จะก้าวมาเป็นซีอีโอหญิงคนแรกในองค์กรได้ เส้นทางนี้ไม่ง่าย และใช้เวลานานเป็น 10 ปี
KEY
POINTS
- Lisa Su ผู้นำหญิงแห่ง AMD เพิ่งจะได้รับเลือกให้เป็น CEO แห่งปี 2024 ของนิตยสาร Time เธอเผยตัวตนในวัยเด็ก พร้อมเปิดหลักคิดในการทำงานว่า การเป็นผู้นำมาจากการฝึกฝนตัวเอง ไม่มีใครเป็นผู้นำมาตั้งแต่เกิด
- กว่าจะได้ก้าวขึ้นเป็นซีอีโอ เส้นทางการเติบโตในอาชีพของเธอใช้เวลาหลายปี เหมือนเป็นการเล่นเกมที่ยาวนาน แต่ในที่สุดทุกคนก็ยอมรับ
- ซู เป็นหนึ่งในซีอีโอไม่กี่คนของบริษัท Fortune 500 ที่มีปริญญาเอก และมีประสบการณ์ด้านวิศวกรรม
- เธอเป็นผู้นำในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงชิป CPU รุ่นใหม่ที่เร็วขึ้นสำหรับคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้ AMD ประสบความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมา
ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อนซึ่งเป็นช่วงที่ “ลิซ่า ซู” (Lisa Su) เพิ่งจะเข้ามาดำรงตำแหน่งซีอีโอของบริษัท Advanced Micro Devices (AMD) ใหม่ๆ ตอนนั้นบริษัทกำลังย่ำแย่มาก และดูไม่เหมือนบริษัทที่จะมีมูลค่าหลักแสนล้านดอลลาร์เหมือนตอนนี้ได้เลย
ในตอนนั้นราคาหุ้นของ AMD ตกต่ำลงเหลือราว 3 ดอลลาร์ต่อหุ้น โดยบริษัทได้ลดพนักงาน (LayOff) ประมาณ 25% ตามรายงานของนิตยสาร Time แต่หลังจากนั้นไม่นานภายใต้การบริหารงานของผู้นำหญิงคนแรกขององค์กรอย่าง ลิซ่า ซู บริษัทผู้ผลิตชิปรายนี้ก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ ตัดภาพมาในปัจจุบัน AMD มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ประมาณ 200,000 ล้านดอลลาร์ (ข้อมูล ณ 20 ธ.ค.2024) หรือราวๆ 6.89 ล้านล้านบาท
เมื่อไม่นานมานี้ ซู เพิ่งจะได้รับเลือกให้เป็น CEO แห่งปี 2024 ของนิตยสาร Time และทรัพย์สินสุทธิของผู้นำหญิงวัย 55 ปีคนนี้ก็พุ่งสูงขึ้นควบคู่ไปกับความสำเร็จของ AMD โดย Forbes ประมาณการมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของเธอในเดือนเมษายน 2024 มีอยู่สูงถึง 1.3 พันล้านดอลลาร์ (ราวๆ 45,000 ล้านบาท)
เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2014 ซึ่งเป็นช่วงที่เธอเพิ่งรับตำแหน่ง CEO นั้น ซู ได้รับเงินเดือนขั้นพื้นฐาน 1 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 34 ล้านบาท) และโบนัสตามผลงาน 1.2 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 41 ล้านบาท) ตามข้อมูลของ Seattle Times ที่ได้รายงานไว้ในปี 2020
ย้อนรอยวัยเด็ก ลิซ่า ซู ไม่ได้อยากทำสายงาน STEM แต่อยากเป็นนักเปียโน
ซูเกิดที่ไต้หวัน และอพยพมาสหรัฐอเมริกา พร้อมพ่อ แม่ตั้งแต่อายุ 3 ขวบ เพื่อให้พ่อของเธอซึ่งเป็นนักคณิตศาสตร์ได้เข้าเรียนต่อในระดับบัณฑิตศึกษาที่นิวยอร์ก ซูให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Forbes เมื่อปีที่แล้วว่า “พ่อมักจะถามคำถามคณิตศาสตร์กับฉันที่โต๊ะอาหาร นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ฉันเริ่มสนใจคณิตศาสตร์”
ในตอนแรกซูไม่ได้สนใจที่จะเดินตามรอยเท้าพ่อของเธอ ในการประกอบอาชีพด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ (กลุ่มอาชีพสาขา STEM) เมื่อเป็นวัยรุ่นเธอใฝ่ฝันที่จะเป็นนักเปียโน
เธอบอกว่า “ฉันไม่เก่งพอที่จะทำตามฝันนั้น ในที่สุดฉันก็เข้าสู่สายอาชีพวิศวกร” โดยเธอได้รับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์
เส้นทางการเติบโตของ ซู ในสายอาชีพวิศวกรและเทคโนโลยี
เธอเริ่มต้นอาชีพสายวิศวกรในช่วงปี 1990 เป็นต้นไป ด้วยการทำงานในบทบาทต่างๆ ที่ Texas Instruments และ IBM ซึ่งทั้งคู่เป็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในยุคนั้น เธอเล่าย้อนวันวานผ่านนิตยสารไทม์ว่า “ฉันโชคดีมากในช่วงเริ่มต้นอาชีพ ทุกๆ สองปี ฉันจะทำงานในพาร์ทที่แตกต่างกันออกไป”
ต่อมาในปี 2012 ซูได้รับการว่าจ้างให้ดำรงตำแหน่ง “รองประธานอาวุโสและผู้จัดการทั่วไปของหน่วยธุรกิจทั่วโลก” ของบริษัท AMD ตามข้อมูลในโปรไฟล์ LinkedIn ของเธอ จากนั้นอีกสองปีต่อมา เธอก็ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นซีอีโอ กลายเป็นผู้นำหญิงคนแรกที่เป็นผู้นำ AMD นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทในปี 1969
“ฉันรู้สึกว่าการทำงานตำแหน่งต่างๆ ที่ผ่านมา เหมือนกำลังได้ฝึกฝนเพื่อรอโอกาสที่จะทำบางอย่างที่มีความหมายในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และ AMD คือโอกาสของฉัน” เธอเล่า
กว่าจะได้ก้าวขึ้นเป็นซีอีโอ เส้นทางการเติบโตในอาชีพของเธอใช้เวลาหลายปี เหมือนเป็นการเล่นเกมที่ยาวนาน แต่ในที่สุดทุกคนก็ยอมรับในความสามารถของเธอ ซูเป็นหนึ่งในซีอีโอไม่กี่คนของบริษัท Fortune 500 ที่มีปริญญาเอก และด้วยประสบการณ์ด้านวิศวกรรมของเธอช่วยให้เธอเป็นผู้นำในการคิดค้นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีบางอย่าง รวมถึงชิป CPU รุ่นใหม่ที่เร็วขึ้นสำหรับคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้ AMD ประสบความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมา
ซีอีโอหญิงแห่ง AMD ไม่เชื่อว่าผู้นำจะเป็นได้ตั้งแต่เกิด แต่ต้องได้รับการฝึกฝน และบทพิสูจน์ความสำเร็จต้องใช้เวลา
เพื่อนสนิท และเพื่อนร่วมงานต่างบรรยายถึงเธอว่าเป็น “นักวางแผนที่ชาญฉลาด” และบางครั้งเธอก็จัดการประชุมในช่วงสุดสัปดาห์ และคาดหวังให้พนักงานทำงานหลังเที่ยงคืน แพทริก มัวร์เฮด นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมเทคโนโลยีและอดีตผู้บริหารของ AMD กล่าวกับนิตยสาร Time ว่า ความคาดหวังที่สูงของเธออาจทำให้พนักงานต้องเผชิญกับความท้าทายในการอยู่รอดที่ AMD ในระยะยาว
แต่การทำงานหนัก และลับคมฝีมือบ่อยๆ จนเชี่ยวชาญ ก็อาจเป็นวิสัยทัศน์และหลักคิดในการทำงานของเธอ เพราะเธอเคยบอกไว้ว่า “ฉันไม่เชื่อว่าผู้นำจะเป็นได้ตั้งแต่เกิด ฉันเชื่อว่าผู้นำเป็นได้ด้วยการฝึกฝน (I don't believe leaders are born. I believe leaders are trained)”
เมื่อได้เป็นซีอีโอ ซูได้เสนอแผนสามส่วนเพื่อช่วยให้ AMD แข่งขันกับคู่แข่งอย่าง Intel และ Nvidia ได้ โดย Time รายงานว่านโยบายหลักของเธอคือ ขายเฉพาะผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง สร้างความไว้วางใจกับลูกค้าให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และลดความซับซ้อนในการดำเนินงานของบริษัท แผนการทำงานของเธอต้องใช้เวลาหลายปีในการจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น แต่ในที่สุดเมื่อปี 2022 AMD ก็แซงหน้า Intel ทั้งในด้านมูลค่าตลาดและรายได้ต่อปี
ขณะที่ Nvidia ยังคงครองแชมป์ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดในโลก และยังเป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกอีกด้วย (AMD ยังตามหลังอยู่) อย่างไรก็ตาม ซู มองว่า ความสำเร็จนั้นวัดจากระยะเวลาหลายทศวรรษ ไม่ใช่รายไตรมาส “เมื่อคุณลงทุนในตลาดใหม่ ต้องใช้เวลา 5-10 ปีในการสร้างส่วนต่างๆ ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด สิ่งสำคัญเกี่ยวกับธุรกิจเทคฯ คือ ทุกอย่างต้องใช้เวลา” ซีอีโอ AMD ย้ำให้เห็นภาพรวมของธุรกิจในสมรภูมิเทคโนโลยี
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์