คิกออฟสงครามยาเสพติด! ปลัด มท.-ผบ.ตร.ถกมาตรการกวาดล้าง ปปส.ชง 7 ข้อแก้ด่วน
คิกออฟประกาศสงครามยาเสพติด! ปลัด มท.ประชุมร่วม ผบ.ตร.-หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางมาตรการกวาดล้างเข้มข้น ปปส.สรุป 7 แนวทางแก้ด่วน ย้ำเร่งนำผู้ติดยาเข้าสู่การบำบัด เพื่อลูกหลานคนไทยทุกคนปลอดภัยอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2565 ที่ห้องประชุมราชบพิธ อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นประธานร่วมการประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยมีนายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พล.ต.อ.ชินภัทร สารสิน รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นางสาวปาณี นาคะนาท ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย พล.ต.ท.สรายุทธ สงวนโภคัย ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด นายแพทย์ศักดา อัลภาชน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตามที่พี่น้องประชาชนชาวไทยและคนทั่วโลกได้รับทราบโดยทั่วกันแล้วว่าได้เกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมสร้างความเศร้าเสียใจไปทั่วประเทศและทั่วโลก ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากผลกระทบจากปัญหายาเสพติด จึงเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่ต้องช่วยกันนำเหตุการณ์ที่เศร้าสลดสะเทือนขวัญในครั้งนี้ มาร่วมกันพูดคุยกำหนดมาตรการเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหา ทั้งในเชิงป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษา เพื่อจะให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่ปล่อยให้สิ่งที่ไม่ดีมาทำให้เกิดความสูญเสียและเกิดความไม่เป็นปกติสุข ทั้งนี้ จากการดำเนินการสำรวจความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในการแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยแพลตฟอร์ม ThaiQM ของกรมการปกครอง ซึ่งจากฐานข้อมูลพบว่า มีพี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากปัญหายาเสพติดตัวเลขสูงถึง 279,094 ครัวเรือน ใน 31,744 หมู่บ้าน ซึ่งถ้าเราเอาจำนวนสมาชิกในครอบครัวมาคูณจะทำให้ตัวเลขประชาชนที่ได้รับผลกระทบถึงเป็นหลักล้านคน ดังนั้น เราทุกคนจึงต้องดำเนินการกับปัญหายาเสพติดเชิงรุก ด้วยการเข้าไป Approach ปัญหา
“กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง ขีดเส้นตายว่า ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2565 เราจะมีข้อมูลผู้เสพผู้ค้ายาเสพติดทั่วประเทศในเบื้องต้น เพื่อนำมาใช้วางแผนการแก้ไขปัญหาร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ ทหาร ปปส. และสาธารณสุข เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน สนธิและกรองข้อมูลอีกชั้นหนึ่งในระดับพื้นที่ โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ เป็นแม่งานในการค้นหาผู้ที่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดทุกตำบล/หมู่บ้าน ทั้งผู้ใช้ ผู้เสพ และผู้ค้า ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนร่วมกับฝ่ายบ้านเมือง ดำเนินมาตรการปราบปราบควบคู่กับการค้นหาข้อมูล โดยกระทรวงมหาดไทย จะรวบรวมข้อมูลจากพื้นที่ที่มีการดำเนินการปราบปราบเกี่ยวกับยาเสพติดมาเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้กับสังคม เพื่อสร้างความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนว่าเราไม่นิ่งนอนใจและเอาจริงเอาจัง และเพื่อให้เกิดความร่วมไม้ร่วมมือของพี่น้องประชาชนในการให้ข้อมูลกับฝ่ายบ้านเมืองเพิ่มขึ้น ไม่ว่าเป็นการจับกุม 1 เม็ด 2 เม็ด สามารถแจ้งข้อมูลได้ทั้งหมด นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ประสานทุกจังหวัดและอำเภอ สร้างความเข้าใจกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งในการให้การสนับสนุนในด้านวัสดุอุปกรณ์เพื่อใช้ในการตรวจหาสารเสพติด ซึ่งมีระเบียบกระทรวงมหาดไทยรองรับภารกิจของ อปท. ในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า กระทรวงมหาดไทยมีความมุ่งมั่นในการประกาศสงครามกับปัญหายาเสพติดทุกประเภท ทุกรูปแบบอย่างจริงจัง ด้วยการเป็นกลไกหลักในการประสานงานระดับพื้นที่ โดยขอให้มั่นว่าฝ่ายปกครองจะเต็มที่ ทั้งการกวาดบ้านตนเอง คนของเราต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และพุ่งเป้าทำทุกมาตรการอย่างจริงจัง นอกจากนี้ ขอให้กรมการปกครอง เป็นแม่งานหลักให้ทุกจังหวัด ทุกอำเภอ ช่วยกันหาสถานที่ ทั้งวัด โรงเรียน หรือสถานที่ที่เหมาะสมในพื้นที่ ปรับปรุงเป็นศูนย์บำบัดฟื้นฟูผู้เสพยาเสพติด พร้อมทั้งสนธิกำลังสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. ในการดูแลอย่างใกล้ชิด มีแพทย์เป็นผู้จ่ายยาบำบัดรักษา โดยคนเสพต้องอยู่ในศูนย์ฯ รับยาบำบัดใช้ชีวิตในศูนย์คนละอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เพราะคนติดยาจิตใจอ่อนแอ ไม่สามารถให้ไปใช้ชีวิตในสังคมร่วมกับคนปกติได้ เพื่อจะได้มีหลักประกันให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่าลูกหลานที่พามาส่งบำบัดรักษา จะอยู่ในความดูแลของพวกเรา
“ยาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ ตอนนี้ไฟยาเสพติดไหม้ประเทศของเราแล้ว เราจึงต้องประกาศสงครามกับยาเสพติดอย่างเข้มข้น ต้องช่วยกันทำให้ผู้เสพเข้าสู่ระบบการบำบัดรักษา บุคลากรภาครัฐในทุกสังกัด ทุกพื้นที่ ต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และได้รับการสุ่มตรวจทุกคน นอกจากนี้ ต้องทำให้หมู่บ้านในกองทุนแม่ของแผ่นดินทั้ง 100% ต้องสะอาด ต้องไม่มีผู้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด เพื่อเป็นตัวอย่างและเฝ้าระวังไม่ให้ยาบ้าแพร่เข้าไปในหมู่บ้านได้ โดยมี อปท. เป็นหน่วยในการสนับสนุนด้านงบประมาณบริหารจัดการแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งผลจากการประชุมวันนี้ จะได้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงมหาดไทย โดยอธิบดีกรมการปกครอง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงาน ป.ป.ส. พร้อมทั้งมุ่งมั่นทุ่มเทขับเคลื่อนงาน ไม่นำปัญหาและข้อจำกัดมาเป็นอุปสรรคในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบบำบัดรักษา เราจะทำด้วยความรัก ความเมตตา ในการทำให้คนหลงผิดเป็นคนดีกลับสู่อ้อมอกพ่อแม่ ผมมั่นใจว่าองค์ความรู้ด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (knowhow) เราดีอยู่แล้ว จึงขอให้ช่วยกัน “ค้นหา ปราบปราม รณรงค์ประชาสัมพันธ์ ต้องทำควบคู่ไปด้วยกัน” ปลุกจิตวิญญาณความเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีใจรุกรบในการประกาศสงครามกับยาเสพติด เพื่อให้ปัญหายาเสพติดหมดไปจากประเทศไทย ลูกหลานและพี่น้องประชาชนทุกคนมีความปลอดภัยอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
ขณะที่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ บูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย วางมาตรการกวาดล้างผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอย่างจริงจัง “เพราะปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ” จึงเป็นที่มาของการหารือกันเพื่อบูรณาการการขับเคลื่อนการทำงานในวันนี้ โดยจากสถิติพบว่า ในปัจจุบันสถานการณ์ผู้เสพยาเสพติดมีแนวโน้มเพิ่ม และมีผู้เสพจำนวนมากยังไม่ได้เข้ารับการบำบัดในทางสาธารณสุข ในจำนวนเหล่านั้น มีกลุ่มผู้เสพที่เกิดอาการทางจิตเวช มีภาวะคุ้มคลั่ง ทำร้ายร่างกายบุพการี คนใกล้ชิด และพี่น้องประชาชน ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการให้ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดและผู้กำกับการสถานีตำรวจทั่วประเทศ ต้องเข้าไปเยี่ยมชุมชนบ่อยครั้งเพื่อสร้างความสัมพันธ์และความเชื่อมั่น อันจะเกิดความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน
“ที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะได้รับข้อมูลเบาะแสเรื่องยาเสพติดกับกระทรวงมหาดไทย โดยฝ่ายปกครองในทุกพื้นที่ ซึ่งเราได้ทำงานประสานบูรณาการกันอย่างต่อเนื่อง โดยมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และท่านนายอำเภอเป็นแม่ทัพ และมีขุนพล คือ ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ตำรวจ ท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. แต่ทั้งนี้ แม้ว่าเราจะทำงานในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหนักเพียงใด จะจับได้กี่ล้านเม็ด ถ้ายังไม่เป็นที่พึงพอใจของพี่น้องประชาชน ก็ถือว่าประเมินไม่ผ่าน ต้องยึดเอาความพึงพอใจของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ต้องค้นหาให้เร็ว เพื่อจะได้แก้ปัญหาด้วยกัน โดยนอกจากจะมีคณะกรรมการชุดใหญ่แล้ว ต้องมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการย่อย 3 ส่วน คือ คณะอนุกรรมการป้องกัน มีกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลัก คณะอนุกรรมการปราบปราม มี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศาล อัยการ เป็นหน่วยงานหลัก และคณะอนุกรรมการบำบัดรักษา มีกระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานหลัก โดยทุกส่วนต้องทำงานในลักษณะ Area บูรณาการแต่ละหน่วย มีโต๊ะข่าวในพื้นที่เพื่อให้มีข้อมูลในการดำเนินการ ทั้งนี้ ขอยืนยันว่า จะต้องกวาดล้างยาเสพติดในวงการตำรวจ ด้วยความร่วมมือและบูรณาการระดับพื้นที่ร่วมกันอย่างจริงจัง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาประสบความสำเร็จอย่างจริงจังและยั่งยืน” ผบ.ตร. กล่าว
ส่วน นายมานัส ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า ปี 2566 เราเตรียมความพร้อมดำเนินการตามนโยบายชาติ แผนปี 2566-2570 โดยแนวทางการดำเนินการมี 6 นโยบายและแผน 45 แนวทาง อาทิ การป้องกัน ปราบปราม การยึด-อายัดทรัพย์สิน การบำบัดรักษา และความร่วมมือระหว่างประเทศ นโยบายและแผนในการบริหารจัดการ รวมถึงการเตรียมการดำเนินการกับผู้เสพยาเสพติดที่มีอาการทางจิต
โดย ป.ป.ส. ได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีข้อสรุปแนวทาง คือ
- ต้องปิดล้อมตรวจค้นเพื่อมุ่งหาข้อมูลเป้าหมาย โดยดำเนินการหาทั้งผู้เสพ ผู้ค้า และผู้หลบหนีหมายจับ รวมทั้งขยายผลยึดทรัพย์สินผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ
- การดำเนินการตามข้อร้องเรียน เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการดำเนินการปิดล้อมตรวจค้นและวางเป้าหมายการดำเนินการ
- การขยายผล ภายหลังจากการกระทำความผิด โดยเมื่อมีการจับกุมต้องมีการขยายผลหาที่มาและเบื้องหลัง
- การบูรณาการการทำงานร่วมกันโดยมี ป.ป.ส. เป็นแกนกลางในการบูรณาการทำงานร่วมกัน
- ข้อมูลต่าง ๆ ที่แต่ละหน่วยมีอยู่ ต้องมาบูรณาการดำเนินการร่วมกัน
- การจับกุมบุคลากรของรัฐที่ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดทุกกรณี
- การบริหารจัดการด้านงบประมาณ
ส่วน นายแพทย์ศักดา อัลภาชน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข พร้อมให้ความร่วมมือในการบูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ป.ป.ส. ในด้านการบำบัดรักษาผู้เสพยาเสพติด โดยจะได้นำผลการประชุมหารือในวันนี้ ไปกำหนดนโยบายไปสู่การปฏิบัติของโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลจังหวัด และโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนภารกิจศูนย์บำบัดฟื้นฟูของกระทรวงมหาดไทย และการทำให้พี่น้องประชาชนมีความมั่นใจ และจะได้หารือร่วมกับ ป.ป.ส. ในการเตรียมการดำเนินการด้านการบำบัดรักษาให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงต่อไป