“เพื่อไทย” เกทับ “อีอีซี” ชู “เขตธุรกิจใหม่ 4 ภาค” กับ 10 ความต่างที่เหนือกว่า
“เผ่าภูมิ” เผย นโยบายเพื่อไทย ”เขตธุรกิจใหม่ 4 ภาค” เหนือกว่า “อีอีซี” 10 ข้อ ชี้ ไม่ครบวงจร หนุนทุนใหญ่ผูกขาด ไม่เปิดโอกาสรายย่อย ระบุ ต้องเปิดกว้าง ให้ ปชช. ปลดปล่อยศักยภาพทุกด้าน ไร้ขีดจำกัด ปลดล็อกกฎหมาย อะไรไม่ได้ห้าม คือทำได้
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย เปิดเผยถึงข้อแตกต่างที่ทำให้นโยบาย “เขตธุรกิจใหม่ 4 ภาค” ของพรรคเพื่อไทย เหนือกว่า อีอีซี (EEC) 10 ข้อ ดังนี้
1.อีอีซี แก้ปัญหาด้วยปลายเหตุด้วยสิทธิประโยชน์มาล่อใจ “เขตธุรกิจใหม่” เข้าไปแก้ไขต้นตอทั้งด้านกฎหมายที่เป็นอุปสรรค (โดยการสร้างกฎหมายธุรกิจชุดใหม่) สร้างสิทธิประโยชน์ชุดใหม่ และสร้างระบบนิเวศน์ใหม่ทั้งระบบ
2.กฎหมายพิเศษในอีอีซี คือกฎหมายเพื่อส่งเสริมสิทธิประโยชน์ แต่ใน “เขตธุรกิจใหม่” จะมีแพ็คเกจกฎหมายธุรกิจชุดใหม่ที่ครอบคลุมทุกด้าน เช่น ใบอนุญาต ที่ดินทำกิน การผูกขาดและการแข่งขันทางการค้า การนำเข้าส่งออก แรงงาน วีซ่า ภาษี สิทธิประโยชน์ ธุรกรรมการเงินทรัพย์สินทางปัญญา ระบบยุติธรรม เป็นต้น
3.อีอีซี สนับสนุนทุนใหญ่ อุตสาหกรรมหนักไม่กี่ด้าน เพิ่มการผูกขาด แต่ “เขตธุรกิจใหม่” สนับสนุน เปิดโอกาส และเป็นเขตบ่มเพาะทุนย่อยและ SMEs ให้แข่งขันกับทุนใหญ่ได้ เขตธุรกิจใหม่ผนวกกับกฎหมายธุรกิจชุดใหม่ จะเป็นกลไกที่เข้าต่อสู้กับปัญหาทุนผูกขาด ผ่านระบบใบอนุญาตชนิดพิเศษ
4.อีอีซี ขาดสิทธิประโยชน์ด้านการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ แต่ “เขตธุรกิจใหม่” มีกฎหมายที่สนับสนุนและรับรอง เงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) และบล็อกเชนของไทย เพื่อธุรกรรมที่ไร้รอยต่อ ค่าใช้จ่ายเข้าใกล้ศูนย์
5.อีอีซี คือจิ๊กซอว์ไม่ครบวงจร แต่ใน “เขตธุรกิจใหม่” ระบบนิเวศน์ที่ครบวงจรจะเป็นฐานให้ภาคเอกชน ทั้งสาธารณูปโภค ทั้งพื้นฐานและด้านดิจิทัล โลจิสติกส์ การเชื่อมมหาวิทยาลัย การผลิตคน และการจับคู่คนกับงาน ผ่านเพลตฟอร์มกลาง รวมทั้งระบบธนาคารและการค้ำประกันสินเชื่อที่ถูกออกแบบโดยเฉพาะ
6.อีอีซี ไม่แก้ปัญหาเรื่องตลาดในประเทศที่เล็ก และปัญหาไทยไม่เชื่อมโลก แต่ “เขตธุรกิจใหม่” สร้างตลาดใหม่ด้วยสนธิสัญญาการค้าและข้อตกลงทางการค้าการลงทุนพิเศษ ที่เป็นทางลัดให้ไทยเชื่อมโลก แก้ไขปัญหาตลาดในประเทศที่เล็ก ด้วยการเชื่อมโลกให้กว้าง
7.อีอีซี และส่วนต่อขยายของอีอีซี จำกัดอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ระเบียงภาคเหนือจำกัดที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ อีสานจำกัดที่อุตสาหกรรมหมุนเวียน แต่ “เขตธุรกิจใหม่” เปิดกว้าง โดยเป็นพื้นที่พิเศษที่มีสภาวะแวดล้อมที่สามารถปลดปล่อยศักยภาพของประชาชนในทุกด้าน ไร้ขีดจำกัด
8.อีอีซี เน้นมิติเดียว ดึงเงินต่างชาติเข้ามาลงทุน “เขตธุรกิจใหม่” เป็น Dual-track ทั้งต่างประเทศและในประเทศ ดึงเงินนอกเข้าใน สร้างเงินในให้เฟื่องฟู
9.อีอีซี มีปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย เพราะสร้างกฎหมายเพื่อควบคุม แต่ “เขตธุรกิจใหม่” ตั้งใจเข้าไปปลดล็อกอุปสรรค โดยยึดหลัก สิ่งใดที่กฎหมายไม่ได้ห้าม หมายถึงสิ่งนั้นทำได้
10. อีอีซี ขาดกลไกนอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ในการดึงเงินต่างชาติ แต่ “เขตธุรกิจใหม่” ดึงเงินต่างชาติด้วยความพร้อมของโครงสร้างใหม่ที่จะถูกสร้างขึ้น รวมถึงกลไกพิเศษที่จะสามารถเปิดเขื่อนให้เงินต่างชาติไหลเข้าสู่ประเทศ