"จรยุทธ ก้าวไกล" เล็งผลักดันนำภาษีอุตสาหกรรมรอบชุมชน พัฒนาศักยภาพประชาชน
"จรยุทธ" ว่าที่ผู้สมัครส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล เล็งผลักดันนำภาษีอุตสาหกรรมรอบชุมชน นำดอกผลไปพัฒนาศักยภาพประชาชน
นายจรยุทธ จตุรพรประสิทธิ์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขตยานนาวา-บางคอแหลม พรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า ตลอดการทำงานการเมืองและได้ลงพื้นที่ศึกษารายละเอียดโดยรอบพบว่า หลายเขตของ กทม. มีอุตสาหกรรมติดกับชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมสร้างผลกระทบต่อพื้นที่รอบข้าง ประชาชนได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย ดังนั้น นโยบายที่ตนอยากผลักดัน และนำเสนอต่อประชาชน คือการนำภาษีของโครงการหรืออุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อพื้นที่รอบข้าง มาเป็นกองทุนสำหรับพัฒนาพื้นที่นั้น ๆ โดยตั้งคณะกรรมการ ซึ่งอาจประกอบไปด้วยประชาชนผู้ที่อยู่ในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อดึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่มาบริหารกองทุนให้ได้ประโยชน์มากที่สุด
นายจรยุทธ กล่าต่อว่า ในพื้นที่เขตยานนาวา-บางคอแหลมพบว่า เขตนี้มีแพล้นปูนเยอะมาก แล้วแพล้นก็สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชุมชนรอบข้าง ซึ่งหากสามารถจัดทำกองทุนที่มาจากรายได้ส่วนหนึ่งของแพล้นปูนเหล่านี้ นำมาพัฒนาสภาพแวดล้อมของชุมชนที่อยู่โดยรอบแพล้นปูน นำมาพัฒนาด้านการศึกษาของเด็ก ๆ ในพื้นที่ รวมถึงด้านศาสนาวัฒนธรรม,ด้านสาธารณะสุขของชุมชน,ด้านการกีฬา หรือพัฒนาทักษะการทำงานหาเลี้ยงชีพ รวมไปถึงเขตอื่น ๆ ด้วย
"โรงงานต่าง ๆ ที่ปล่อยมลภาวะ บ่อขยะที่ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่ว ห้างสรรพสินค้าใจกลางเมืองที่สร้างปัญหาทางด้านการจราจร โครงการก่อสร้างต่าง ๆ ที่สร้างความเสียหายให้กับผู้อื่น หรือสำหรับโครงการใดที่เข้าข่ายต้องประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA - Environmental Impact Assessment) แม้ว่าจะผ่าน EIA แล้ว แต่ผมคิดว่ายังต้องมีนโยบายนี้มากำกับ เพราะชัดเจนว่ามีผลกระทบแน่นอน"
นายจรยุทธ กล่าวต่อว่า ตนได้แนวความคิดนี้มาจากคุณพ่อที่นำหลักการนี้ไปบังคับใช้กับโรงไฟฟ้า นำภาษีของโรงไฟฟ้าเพื่อมาพัฒนาพื้นที่โดยรอบที่ตั้งของโรงไฟฟ้า แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายในการเป็นบุกเบิกสิ่งเหล่านี้ ทำให้ผู้ประกอบการในโลกทุนนิยมยอมรับการตรวจสอบ ยอมรับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะเท่ากับเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้อุตสาหกรรมอื่นต้องเดินตามแต่หากภาคธุรกิจต่าง ๆ มองว่านี่คือ CSR ที่ตรงจุด เป็นความรับผิดชอบต่อสังคมต่อชุมชนโดยตรง ไม่ใช่การหว่านเงินลงไปแต่ไม่ตรงเป้าหมาย และไม่ไปมองว่ามันเป็นการเก็บส่วยแบบถูกกฎหมาย ถึงแม้ว่าบางโครงการจะมีการจ่ายส่วยที่ผลประโยชน์ไปเข้ากระเป๋าใคร ตนไม่ขอพูด แต่ถ้าเอาทุกอย่างขึ้นมาคุยกันบนโต๊ะ ผลประโยชน์ไปตกอยู่ที่ชุมชนจริง ๆ ตนเชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่ทุกคนยอมรับได้
"สำหรับนโยบายนี้คือความสวยงามของกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน และเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ผมอยากเข้ามาสู่การเมือง นี่เป็นข้อเสนอเริ่มต้น ในอนาคตยังมีนโยบายที่อยากให้พี่น้องประชาชนร่วมกันเสนอแนะ และหาทางออกให้ชุมชน ให้ประเทศเรามองเห็นและให้ความสำคัญกับเจ้าของประเทศตัวจริงไม่ใช่กลุ่มทุน"นายจรยุทธ กล่าวทิ้งท้าย