กาง พ.ร.บ.ตำรวจใหม่ เกณฑ์ใหม่! เลื่อนตำแหน่ง - ตั้งคนนอก นั่งกฎหมายร้องทุกข์ได้

กาง พ.ร.บ.ตำรวจใหม่ เกณฑ์ใหม่! เลื่อนตำแหน่ง - ตั้งคนนอก นั่งกฎหมายร้องทุกข์ได้

สรุปสาระสำคัญ “พ.ร.บ. ตำรวจ 2565” หลังประกาศลงราชกิจจานุเบกษามีประเด็นที่น่าสนใจ คือ การปรับเกณฑ์พิจารณา “เลื่อนตำแหน่ง” และปรับหลักเกณฑ์ให้ “คนนอก” นั่งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) ได้

ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ร่าง “พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565” (พ.ร.บ.ตำรวจฉบับใหม่) เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2565 โดยรายละเอียดที่น่าสนใจ นอกจากจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับกำหนดบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการตำรวจประเภทที่มียศ และบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งตำรวจ ที่ได้รับการพูดถึงก่อนหน้านี้แล้ว ยังมีอีกสองประเด็นคือ การเปิดโอกาสให้ภาคประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) และหลักเกณฑ์การเลื่อนตำแหน่งตำรวจ ที่มีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์

ทั้งนี้ ตามพ.ร.บ.ตำรวจฉบับใหม่ ได้ระบุว่า พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจํากัดสิทธิ และเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทําได้ โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เหตุผล และความจําเป็นในการจํากัดสิทธิ และเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อให้การบริหารงานบุคคลของข้าราชการตํารวจเป็นไปตามระบบคุณธรรม มีมาตรการป้องกันมิให้ผู้ใดใช้อํานาจ หรือกระทําการโดยมิชอบ

และให้ข้าราชการตํารวจ ประพฤติปฏิบัติตนเหมาะสมแก่เกียรติศักดิ์ของตํารวจ และอยู่ในจริยธรรม และจรรยาบรรณของตํารวจ และเพื่อให้เป็นไปตามแนวทางปฏิรูปประเทศ

  • หลักเกณฑ์ให้ “คนนอก” เข้านั่งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.)

สำหรับการเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) และหลักเกณฑ์การเลื่อนตำแหน่งตำรวจ มีรายละเอียดดังนี้

คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ
มาตรา 43 ให้มีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจคณะหนึ่ง หรือ “ก.ร.ตร.” มีหน้าที่และอำนาจพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับความเดือดร้อนหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมของประชาชนจากการกระทำหรือไม่กระทำการของข้าราชการตำรวจอันมิชอบ หรือการประพฤติปฏิบัติ ไม่เหมาะสม และเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของตำรวจ กระทำผิดวินัย หรือละเมิดประมวลจริยธรรม และจรรยาบรรณของตำรวจ ประกอบด้วย ประธาน ก.ร.ตร. และกรรมการ ก.ร.ตร. โดยนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งจากบุคคล ดังต่อไปนี้ 

- ทนายความ ซึ่งประกอบอาชีพทนายความมาแล้วไม่น้อยกว่ายี่สิบปี ซึ่งสภาทนายความ คัดเลือกจำนวนหนึ่งคน

- ผู้แทนระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชนตำบลจำนวนสองคน ซึ่งที่ประชุมในระดับชาติ ของสภาองค์กรชุมชนตำบลคัดเลือก โดยอย่างน้อยต้องเป็นสตรีจำนวนหนึ่งคน

  • “เลื่อนตำแหน่ง” ต้องคำนึงถึงหลัก “อาวุโส” และ “ความรู้ ความสามารถ” 

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 258 ง. ด้านกระบวนการ ยุติธรรม (4) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการ ยุติธรรมให้เกิดผลในการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับ หน้าที่ อำนาจ และภารกิจของตำรวจให้เหมาะสม และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล ของข้าราชการตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ มีหลักประกันว่าข้าราชการตำรวจจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้ง และโยกย้าย และการพิจารณาบำเหน็จความชอบตามระบบคุณธรรม ที่ชัดเจน

ซึ่งในการพิจารณาแต่งตั้ง และโยกย้ายต้องคำนึงถึงอาวุโส และความรู้ ความสามารถประกอบกัน เพื่อให้ข้าราชการตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพได้อย่างมีอิสระ ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของบุคคลใด มีประสิทธิภาพ และภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตน จึงสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ โดยโอนย้ายภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลักออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สามารถปฏิบัติหน้าที่ เป็นภารกิจหลัก และบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว แก้ไข บทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ โดยแบ่งออกเป็น กลุ่มสายงานต่างๆ เพื่อให้ข้าราชการตำรวจในแต่ละกลุ่มสายงานสามารถเจริญเติบโต ตามกลุ่มสายงานด้วยความรู้ ความชำนาญในสายงานของตน การกำหนดกระบวนการในการแต่งตั้ง และเลื่อนตำแหน่งไว้ให้ชัดเจน

โดยคำนึงถึงอาวุโส ความรู้ ความสามารถ และความพึงพอใจในบริการที่ประชาชนได้รับ ให้มีคณะกรรมการ พิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์เรื่องร้องทุกข์ รวมทั้งการกำหนด ระบบคุณธรรมให้เกิดขึ้น เพื่อเป็นที่พึ่งของข้าราชการตำรวจในการปลดเปลื้องทุกข์ของข้าราชการตำรวจที่เกิดจาก ผู้บังคับบัญชา รวมทั้งให้มีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ เพื่อเป็นกลไกสำหรับประชาชน ในการร้องเรียนการปฏิบัติที่ไม่ชอบของข้าราชการตำรวจอันเป็นการปลดเปลื้องทุกข์ของประชาชนที่เกิดจาก การกระทำของตำรวจ ตลอดจนให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในกิจการตำรวจ โดยการให้เงินอุดหนุนแก่สถานีตำรวจ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจในสถานีตำรวจนั้น และจัดตั้งกองทุนเพื่อการสืบสวน สอบสวน การป้องกัน และปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา เพื่อเป็นแหล่งสนับสนุนค่าใช้จ่าย ในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

โดยสรุปแล้วคือ การปรับเปลี่ยนเพื่อให้มีการโยกย้ายตำแหน่งที่เป็นธรรมกับทุกฝ่ายมากขึ้น และป้องกันการทำผลประโยชน์ส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึงเปิดให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม ในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น

อ้างอิงข้อมูล : ราชกิจจานุเบกษา

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์