Moral Hazard...จากเกมการเมือง | วิษณุ วงศ์สินศิริกุล
“อันตรายบนศีลธรรม” หรือ Moral Hazard คือ สภาวการณ์ที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกิดแรงจูงใจในการสร้างภาวะเสี่ยงภัยให้กับตนเองเพิ่มขึ้น เพราะรับรู้เป็นอย่างดีว่า ตนไม่ต้องแบกรับต้นทุนทั้งหมด
“อันตรายบนศีลธรรม” หรือ Moral Hazard คือ สภาวการณ์ที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกิดแรงจูงใจในการสร้างภาวะเสี่ยงภัยให้กับตนเองเพิ่มขึ้น เพราะรับรู้เป็นอย่างดีว่า ตนไม่ต้องแบกรับต้นทุนทั้งหมดที่เกิดจากภาวะเสี่ยงภัยนั้น
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง อันตรายบนศีลธรรมมักจะเกิดขึ้นเมื่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับรู้ว่า จะมีผู้อื่นมาช่วยแบ่งปันต้นทุนที่เกิดจากภาวะเสี่ยงภัยที่จะเกิดขึ้น ตัวอย่างของอันตรายบนศีลธรรมนั้นมีอยู่มาก
ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับรถยนต์ที่ทำประกันอุบัติเหตุรถยนต์ไว้ มีแนวโน้มที่จะขับรถด้วยความประมาทมากกว่าการที่รถยนต์ของตนมิได้ทำประกัน ทั้งนี้ เป็นเพราะผู้ขับรับรู้ว่าหากเกิดอุบัติเหตุใด ๆ บริษัทที่รับทำประกันย่อมต้องรับผิดชอบค่าซ่อมรถ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ต้นทุนทั้งหมดของการเกิดอุบัติเหตุไม่ได้เป็นเพียงแค่ค่าซ่อมรถ
หากแต่ยังมีภาวะเสี่ยงในเรื่องของ สุขภาพร่างกายของผู้ขับจากการเกิดอุบัติเหตุ รวมไปถึงสภาพรถยนต์หลังซ่อมแซมย่อมไม่สมบูรณ์เหมือนก่อนการเกิดอุบัติเหตุ หรืออย่างกรณีของการบริหารจัดการภัยน้ำท่วม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ที่มักเกิดภัยน้ำท่วม อาจมีแนวโน้มที่จะไม่ตั้งใจในการแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่อีกอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ เป็นเพราะงบประมาณที่เคยได้รับสำหรับการแก้ปัญหาจากภัยน้ำท่วม อาจถูกตัดทิ้งไป ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ต้นทุนของการเกิดภัยน้ำท่วมมิได้มีเพียงแค่ความเสียหายของอาคาร สิ่งปลูกสร้าง
หากแต่ยังหมายถึง ปัญหาในระยะยาวทั้งปัญหาด้านสาธารณสุขที่เกิดขึ้นจากภัยน้ำท่วม ปัญหาการผลิตพืชผลทางการเกษตร ฯลฯ รวมไปถึงชื่อเสียงและความนิยมที่อาจได้รับหากสามารถแก้ปัญหาภัยน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืน
อีกกรณีตัวอย่างที่มักถูกกล่าวถึงในเรื่องของอันตรายบนศีลธรรมคือ “การกู้ยืมเงิน” กล่าวคือ ผู้กู้มักไม่มีวินัยในการบริหารจัดการ รวมถึงการใช้คืนเงินที่กู้ยืมมาหากไม่มีข้อตกลงใด ๆ ที่เป็นบทลงโทษ
ทั้งนี้ เพราะผู้กู้มีความเชื่อที่ว่า อย่างไรเสียผู้ให้กู้ย่อมต้องช่วยเหลือผู้กู้อย่างต่อเนื่อง เพราะมิฉะนั้นแล้วผู้ให้กู้อาจหนี้สูญได้ เนื่องจากผู้กู้ไม่สามารถสร้างรายได้เพื่อนำมาชดใช้คืนหนี้ที่กู้ยืม
กรณีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงอันตรายบนศีลธรรมจากเกมการเมืองในบทความนี้คือ กรณีที่มติเสียงส่วนใหญ่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ “แก้ไขยกเลิกดอกเบี้ย และเบี้ยปรับร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (พ.ร.บ. กยศ.)”
กยศ. เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้กู้ยืมเงินแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา ด้วยความที่ กยศ. เป็นกองทุนในลักษณะเงินทุนหมุนเวียน
ดังนั้น เมื่อมีเงินไหลออกสำหรับการให้กู้ยืม ก็ต้องมีเงินไหลเข้าจากการชำระคืนหนี้เพื่อให้กองทุนนี้เติบโตและสามารถให้กู้ยืมได้ต่อไปในอนาคตอย่างยั่งยืน
ก่อนหน้าที่จะมีการลงมติในสภาผู้แทนฯ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. กยศ. มีแนวคิดหลักที่อภิปรายกันอยู่ 3 แนวคิดด้วยกันกล่าวคือ
- หนึ่ง ไม่มีการคิดดอกเบี้ย และเบี้ยปรับในทุกกรณีกับผู้กู้
- สอง คิดดอกเบี้ยที่อัตราร้อยละ 0.25 กับผู้กู้ทุกราย แต่ไม่มีการคิดเบี้ยปรับในกรณีที่ผิดนัดชำระ
- สาม คิดดอกเบี้ยที่อัตราร้อยละ 0.25 เฉพาะกับผู้กู้ที่ผิดนัดชำระ โดยไม่มีการคิดเบี้ยปรับ
จะเห็นได้ว่าแนวคิดที่หนึ่งและสองสวนทางกันอย่างชัดเจนในเรื่องของการคิดดอกเบี้ย ฝ่ายที่สนับสนุนการคิดดอกเบี้ยเห็นว่า การคิดดอกเบี้ยคือ บรรทัดฐานในการสร้างวินัยทางการเงินให้กับผู้กู้ ส่งผลให้ผู้กู้กระตือรือร้นในการคืนหนี้เข้ากองทุน
ในขณะที่ฝ่ายที่เห็นต่างมีความเห็นว่า ไม่ควรคิดดอกเบี้ยเพราะเป็นการสร้างความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษาซึ่งถือเป็นหน้าที่หลักของรัฐ และเป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ
ในขณะเดียวกันการคิดดอกเบี้ยก็ไม่เกี่ยวข้องกับการสร้างระเบียบวินัยทางการเงินแต่อย่างใด โดยฝ่ายที่สนับสนุนการคิดดอกเบี้ย ก็มีความเห็นแย้งว่า เนื่องจาก กยศ. เป็นกองทุนหมุนเวียนสำหรับการกู้ยืม มิใช่กองทุนเรียนฟรีเพื่อสนับสนุนการศึกษา
อาจกล่าวได้ว่า แนวคิดที่สามน่าจะเป็นจุดกึ่งกลางระหว่างสองแนวคิดแรก กล่าวคือ ให้คิดดอกเบี้ยเฉพาะกับผู้กู้ที่ผิดนัดชำระ ซึ่งจะทำให้มีเงินไหลกลับเข้ากองทุนอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยเหตุผลจากเกมการเมือง ส่งผลให้แนวคิดที่สามถูกผนวกรวมเข้ากับแนวคิดที่สอง คือ ให้คิดดอกเบี้ยกับผู้กู้ทุกราย
ยิ่งกว่านั้นอีกเหตุผลสำคัญคือ การที่ต่างฝ่ายต่างสนับสนุนแนวคิดของฝ่ายตนก็เพราะ แนวคิดนั้นตรงกับนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด
ดังนั้น หากที่สุดแล้ว การไม่คิดดอกเบี้ยแม้ผิดนัดชำระคืนหนี้ กยศ. เกิดขึ้นจริง ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า จำนวนผู้กู้ที่ผิดนัดชำระคืนหนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทั้งนี้ สามารถอธิบายได้ด้วยหนึ่งหลักคิดพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ที่ว่า “มนุษย์ย่อมตอบรับกับแรงจูงใจเสมอ” กล่าวคือ แรงจูงใจของผู้ที่เป็นหนี้ กยศ. ที่จะใช้รายได้ที่ตนได้รับไปกับการบริโภคตามที่ตนปรารถนาย่อมสูงกว่าแรงจูงใจในการใช้คืนหนี้
ทั้งนี้ เป็นเพราะผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นกับตนจากการผิดนัดชำระคืนหนี้นั้นมีน้อยมาก ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การคิดดอกเบี้ยกับผู้ที่เป็นหนี้เมื่อผิดนัดชำระย่อมเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ที่เป็นหนี้จะมีความพยายามชำระคืนหนี้ในระยะเวลาที่กำหนด และมีแนวโน้มที่จะไม่เกิดสภาวะอันตรายบนศีลธรรม
นักการเมืองจำนวนไม่น้อยชอบใช้คำว่า “การทำงาน” การเมืองมากกว่า “การเล่น” การเมือง เพราะการเมืองไม่ใช่ของเล่น แต่จากข้อมูลข้างต้น แสดงให้เห็นภาพอันเด่นชัดของ “เกมการเมือง” และเมื่อเป็นเกม คำว่า “การเล่น” ก็ดูจะเหมาะสมกว่าคำว่า “การทำงาน” มิใช่หรือ?