การพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาประชาธิปไตย ต้องเดินไปด้วยกัน | เกียรติอนันต์
ผมเพิ่งมีโอกาสได้อ่านงานวิจัยของ ศ.เปซวอร์สกี้ (Adam Przeworski) เรื่องประชาธิปไตยกับการพัฒนาเศรษฐกิจ (Democracy and Economic Development) ผลการศึกษาของงานชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมทางสังคมมีความสัมพันธ์กับการพัฒนาประชาธิปไตย
สิ่งที่ทำให้งานวิจัยชิ้นนี้น่าสนใจคือ เปซวอร์สกี้เชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับประชาธิปไตยมีความสลับซับซ้อน การที่ประเทศพัฒนาแล้วร่ำรวยมีประชาธิปไตยมั่นคง แต่ประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาจำนวนหนึ่งยังลุ่ม ๆ ดอน ๆ
ไม่ได้หมายความว่าประชาธิปไตยจะทำให้เราอยู่ดีกินดีขึ้นเสมอไป และการพัฒนาเศรษฐกิจก็มิใช่หลักประกันว่าประชาธิปไตยของประเทศจะเบ่งบานตามไปด้วยเสมอไปเช่นกัน
พลวัตและทิศทางการพัฒนาของประเทศถูกผลักดันด้วยปัจจัยในระดับมหภาคและปัจจัยระดับจุลภาคควบคู่กัน สำหรับประเทศพัฒนาแล้ว ปัจจัยระดับจุลภาคอาจไม่ได้มีผลมากนัก ถึงเศรษฐกิจจะตกต่ำแค่ไหน การแก้ปัญหาก็จะอยู่ในกรอบของประชาธิปไตย
แต่สำหรับประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา พัฒนาการทางการเมืองมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยทั้งสองระดับ เมื่อเศรษฐกิจไม่เติบโตเท่าที่ควร มีปัญหาความเหลื่อมล้ำ น้ำมันแพง ค่าครองชีพสูง
หากรัฐบริหารจัดการปัญหาเหล่านี้ได้ไม่ดีก็อาจเกิดความไม่สงบขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นบางประเทศสามารถประคับประคองประชาธิปไตยไปได้ตลอดรอดฝั่ง แต่บางประเทศกลับติดหล่มไปไม่ถึงดวงดาว
เปซวอร์สกี้ วางกรอบการวิเคราะห์โดยใช้ทฤษฎีเกมและตัวแบบทางสถิติเพื่อทำนายโอกาสอยู่รอดของประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ ผลการศึกษาได้ข้อสรุปดังนี้
1.รายได้ต่อหัวของประชากรขั้นต่ำที่จะช่วยสร้างเสถียรภาพทางการเมืองจนสามารถประคับประคองประชาธิปไตยให้อยู่ได้นั้นอยู่ที่ประมาณ 6,055 เหรียญสหรัฐ ยิ่งรายได้ต่อหัวต่ำ อายุของประชาธิปไตยในประเทศก็สั้นลง ประเทศที่มีรายได้ต่อหัวต่ำกว่า 1,000 เหรียญสหรัฐจะรักษาประชาธิปไตยไว้ได้มากที่สุดประมาณสิบสองปี
2.การศึกษาช่วยเพิ่มโอกาสอยู่รอดของประชาธิปไตยให้สูงขึ้นได้ แต่ก็ไม่มากเท่ากับการเพิ่มระดับรายได้ต่อหัว
3.ผลกระทบของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีผลไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำทำให้เกิดความไม่สงบทางการเมือง และความไม่สงบทางการเมืองก็ส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำได้เช่นกัน
4.การลดความเหลื่อมล้ำเพิ่มโอกาสในการอยู่รอดของประชาธิปไตยได้มากขึ้น โดยอาจเพิ่มขึ้นสูงสุดได้ถึงสี่เท่าตัว
5.สำหรับประเทศซึ่งระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน ปัจจัยทางเชื้อชาติและศาสนาส่งผลต่ออายุขัยของประชาธิปไตยน้อยมาก
6.เมื่อใดพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งผูกขาดอำนาจในรัฐสภา สามารถยึดที่นั่งในสภาได้อย่างน้อยสองในสาม สิ่งที่ตามมาก็คือความวุ่นวายทางการเมือง จนอาจนำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมืองได้ในที่สุด
7.การเคยเป็นเมืองขึ้นของประเทศอื่นไม่ได้มีผลต่อการพัฒนาประชาธิปไตยมากเหมือนที่เคยเชื่อกัน
8.ในประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา ระบบรัฐสภามีโอกาสจะอยู่รอดได้มากกว่าเลือกประธานาธิบดี อย่างไรก็ตาม เมื่อระดับรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 6,055 เหรียญสหรัฐ ระบบทั้งสองระบบนี้ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
หากรายได้ต่อหัวสูงกว่ารายได้ต่อหัวขั้นต่ำมากพอก็จะทำให้ประชาธิปไตยสามารถหยั่งรากได้อย่างถาวร ไม่ว่าจะเกิดความไม่สงบทางการเมือง ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หรือการเกิดสงครามก็จะไม่ทำให้ประเทศเดินถอยหลังทางการเมืองกลับไปสู่การปกครองโดยเผด็จการอีก
9.ประเทศที่มีความต่อเนื่องของกระบวนการประชาธิปไตยเป็นเวลานาน มีโอกาสจะรักษาประชาธิปไตยเอาไว้ได้มากกว่าประเทศที่กระบวนการประชาธิปไตยหยุดชะงัก การฆ่าตัดตอนประชาธิปไตยในกรณีนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะกระบวนการปฏิวัติรัฐประหาร การที่ผู้บริหารประเทศไม่ฟังเสียงของประชาชนก็มีร้ายแรงพอกัน
นอกจากข้อสรุป 9 ข้อนี้ เปซวอร์สกี้ยังพูดถึงมารยาททางการเมืองและคุณธรรมจริยธรรมของนักการเมืองด้วย เพราะการวิเคราะห์ข้างต้นตั้งอยู่บนสมมติฐานเกี่ยวกับพฤติกรรมของนักการเมืองและการตัดสินใจเลือกตั้งของประชาชนว่าเกิดขึ้นอย่างมีเหตุมีผล ยอมรับกฎกติกาทางการเมืองมีมีอยู่
เขายกอุปมาอุปมัยเอาว่าการเข้ามาเล่นการเมืองก็เหมือนกับการเล่นพนันในบ่อน ถึงตอนเข้ามาแรกๆ ทุกคนไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วตัวเองจะได้หรือเสีย แต่เมื่อตัดสินใจเข้าไปเล่น ก็เท่ากับยอมรับไปในตัวแล้วว่าจะทำตามกติกาซึ่งได้วางเอาไว้อย่างเคร่งครัด แพ้ก็ต้องยอมรับ ชนะก็ได้มีสิทธิรับรางวัล หากไม่พอใจแล้วตีรวนพาลเขาไปทั่ว ไม่เคารพกติกาที่เป็นอยู่ สุดท้ายก็วงแตก
การเล่นเกมภายใต้กฎกติกาจึงถือเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งซึ่งจะช่วยสร้างเสถียรภาพในระยะยาว หากกฎกติกาถูกเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอจนกฎกติกาขาดความน่าเชื่อถือ ทุกคนก็เห็นแต่ผลประโยชน์ระยะสั้นของตัวเอง พยายามเปลี่ยนกติกาเพื่อหาผลประโยชน์ให้กับตัวเองให้มากที่สุด
เมื่อเป็นเช่นนี้ ต่อให้มีปัจจัยอื่นๆ ดีแค่ไหน ประชาธิปไตยก็ไปไม่รอดอยู่ดี
คอลัมน์ หน้าต่างความคิด
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์