“ก้าวไกล” จี้รัฐบาลแก้ “น้ำท่วม” อย่าปล่อยให้ ปชช.หนี้ท่วมด้วย
“รองโฆษกก้าวไกล” ซัดรัฐบาลไม่รู้ร้อนรู้หนาว จี้เร่งเยียวยาสถานการณ์ “น้ำท่วม” อย่างรวดเร็ว-ครอบคลุม-ทั่วถึง อย่าปล่อยให้ประชาชนหนี้ท่วมหัวพร้อมน้ำ “เดชรัต” ชูนโยบาย “เบี้ยน้ำท่วม” หัวละ 3 พันบาท
เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2565 นายกรุณพล เทียนสุวรรณ รองโฆษกพรรคก้าวไกล ร่วมกับนายพงษ์เดช เดชกล้า ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกล เขต 9 จ.ศรีสะเกษ สำรวจความเดือดร้อนพี่น้องประชาชนใน อ.ยางชุมน้อย และ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ เพื่อรวบรวมข้อมูลความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม แล้วนำไปประมวลเป็นรายละเอียดเพื่อเสนอต่อรัฐบาลในการออกมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมต่อไป
นายกรุณพล กล่าวว่า ในหลายพื้นที่มีน้ำท่วมไร่นาทำลายพืชผลการเกษตรของชาวบ้าน 100% ทำให้ชาวบ้านไม่มีข้าวสำหรับบริโภคภายในครัวเรือน และไม่มีรายได้จากการประกอบอาชีพเกษตรเนื่องจากไร่น่าเสียหายถูกน้ำท่วม เมื่อไม่มีรายได้ก็กระทบต่อวงจรการชำระหนี้ ทำให้มีหนี้สินพอกพูนขึ้นไปอีก ส่วนบ้านเรือนก็ถูกท่วมมิดหลังคา จนต้องย้ายออกมาอยู่ศูนย์อพยพที่ทางองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจัดหาไว้ให้ เบื้องต้นประเมินว่ามีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยต้องซ่อมแซมบ้านทั้งหลังเนื่องจากจมน้ำมิดหลังคา บางรายอาจต้องใช้เงินซ่อมกว่า 100,000 บาท แต่เมื่อย้ายออกมาแล้ว ก็ประกอบอาชีพลำบาก หุงหาอาหารทุลักทุเล แม้จะพอได้รับความช่วยเหลืออยู่บ้างแต่ก็มีต้นทุนชีวิตที่สูงกว่าปกติ
“น้ำท่วมไม่ใช่แค่น้ำท่วม แต่มันส่งผลกระทบต่อการทำงาน การใช้ชีวิตของผู้คน รวมถึงวงจรหนี้สินที่พอกหูนท่วมหัวพอๆ กับน้ำท่วมมิดหลังคาบ้าน เราขอกดดันไปยังรัฐบาลให้เร่งออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนโดยทันที แม้ที่ผ่านมารัฐบาลเพิ่งอนุมัติงบประมาณไปแล้วเบื้องต้น 6 พันล้านบาท แต่ยังไม่ถึงมือประชาชนและยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ ดังนั้น เราคาดหวังว่าความช่วยเหลือจะต้องถึงมือประชาชนโดยรวดเร็ว ครอบคลุม และทั่วถึง รัฐบาลอย่าทำตัวไม่รู้ร้อนรู้หนาว ปล่อยให้ประชาชนลอยคอตามยถากรรมเช่นนี้” รองโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าว
ส่วนนายเดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center นำเสนอนโยบาย “เบี้ยน้ำท่วม” แก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมโดยคิดเป็นรายหัว หัวละ 3,000 บาทต่อเดือน ทันที ไม่ใช่เหมาจ่ายทั้งครัวเรือนแบบที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ เนื่องจากไม่เพียงพอต่อและไม่ทันต่อสถานการณ์ปัญหาที่ประชาชนประสบในช่วงน้ำท่วม เช่น การซ่อมบ้าน การอพยพ การเดินทางสัญจร การหุงหาอาหาร รวมทั้งการสูญเสียโอกาสในการประกอบอาชีพ และอยากให้หน่วยราชการช่วยเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ทั้งการเตรียมพันธุ์ข้าวปลูกให้เพียงพอ ข้าวเปลือกที่จะใช้ในการบริโภคในปีหน้า และการปรับการเยียวยาไร่นาเกษตรกร ให้สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายจริงที่พี่น้องเกษตรกรได้ลงทุนไป
ขณะที่นายพงษ์เดช เดชกล้า ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกล เขต 9 จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า จากการพูดคุยสำรวจความทุกข์ร้อนของชาวบ้าน พวกเขาไม่ได้อยากให้น้ำท่วมเพื่อจะได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาลทุกปี พวกเขาแค่ต้องการกลับบ้าน ต้องการใช้ชีวิตปกติสุข ไม่อยากให้น้ำท่วมเลย หรือถ้าท่วม อย่างน้อยก็ต้องมีการบริหารจัดการเพื่อลดความเสียหาย ไม่ให้ท่วมหนักและนานเช่นนี้