ถอดบทเรียน "จีน-อังกฤษ" เปลี่ยนผู้นำยึดมั่นกติกา
การเมืองจีนและอังกฤษต่างกันสุดๆ ประเทศหนึ่งปกครองในระบอบพรรคเดียวกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ อีกประเทศมีหลายพรรคให้ประชาชนเลือกแต่สองพรรคผลัดกันเป็นรัฐบาล ส่วนคนไทยจะเชียร์ระบอบไหนก็แล้วแต่ใจรัก ใครชอบความสงบเรียบร้อยก็ว่าจีนดี ใครชอบความหลากหลายเปิดโอกาสให้ประชาชนเลือกก็ว่าอังกฤษดี
สัปดาห์ที่ผ่านมา สองประเทศมหาอำนาจโลกที่ปกครองในระบอบแตกต่างกัน เกิดการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำตามกลไกของตนเองสร้างความฮือฮาไปทั้งโลก รวมถึงมีเรื่องให้ถอดบทเรียน
เริ่มที่จีนปิดฉากการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์ที่ประชุมมานานหนึ่งสัปดาห์ ด้วยการประกาศรายชื่อคณะกรรมการกลางชุดใหม่ของพรรคจำนวน 205 คน แต่งตั้งคณะกรรมการเมือง (โปลิตบูโร) 25 คน และแต่งตั้งคณะกรรมการประจำกรมการเมืองชุดใหม่ 7 คน
คนกลุ่มนี้จะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางและนโยบายของจีนตลอดช่วง 5 ปีข้างหน้า โดย "สี จิ้นผิง" ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคต่อไปเป็นสมัยที่ 3 อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เปิดทางให้เขาเป็นประธานาธิบดีต่อไป
การเปลี่ยนแปลงภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีนดูสงบเรียบร้อยดี ทุกอย่างเป็นขั้นเป็นตอน สื่อต่างประเทศรายงานว่า การประชุมตัวแทนพรรคราว 2,300 คน เหมือนการประชุมพอเป็นพิธีเพราะตำแหน่งต่างๆ ถูกล็อกไว้แล้วว่าใครเป็นใคร
ตัดภาพกลับไปที่อังกฤษ ปีนี้ได้ชื่อว่าเป็นปีที่การเมืองวุ่น เริ่มตั้งแต่ช่วงกลางปี นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน หัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมในขณะนั้นเกิดวิกฤติศรัทธา เป็นผู้นำทำตัวไม่เหมาะสม สั่งล็อกดาวน์ชาวบ้านชาวช่อง แต่ตนเองกลับจัดปาร์ตี้ แถมพรรคพวกไปทำเรื่องฉาวโฉ่ หลายฝ่ายเรียกร้องให้ลาออกก็ไม่ยอมลาออก จนรัฐมนตรีร่วมคณะต้องลาออกก่อนเพื่อกดดัน สุดท้าย จอห์นสันยอมลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเมื่อต้นเดือน ก.ค.
จากนั้นพรรคอนุรักษนิยมเริ่มกระบวนการสรรหาหัวหน้าพรรคคนใหม่ ที่จะเป็นนายกฯ อังกฤษไปโดยปริยาย
อย่างที่ทราบกันดีว่า อังกฤษปกครองในระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา (แม่แบบของไทยเรา) มีสองพรรคการเมืองผลัดกันเป็นรัฐบาล ตอนหลังมีพรรคที่สามมาร่วมด้วย
ต้นเดือน ก.ย. พรรคอนุรักษนิยมได้ ลิซ ทรัสส์ เป็นหัวหน้าพรรคและเป็นนายกฯ คนสุดท้ายในรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เป็นนายกฯ ได้ 45 วัน ทรัสส์ได้ชื่อว่าบริหารงานผิดพลาด เลยต้องลาออกจากตำแหน่งไปตามระเบียบ พรรคต้องเริ่มกระบวนการสรรหาหัวหน้าคนใหม่
แต่คราวนี้รวบรัดแค่สัปดาห์เดียวก็ได้ เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจตึงเครียด ล่าสุดได้ “ริชี ซูแน็ก” นักการเมืองเชื้อสายอินเดียมาเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่และนายกรัฐมนตรี
การเมืองจีนและอังกฤษต่างกันสุดๆ ประเทศหนึ่งปกครองในระบอบพรรคเดียวกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ อีกประเทศมีหลายพรรคให้ประชาชนเลือกแต่สองพรรคผลัดกันเป็นรัฐบาล ส่วนคนไทยจะเชียร์ระบอบไหนก็แล้วแต่ใจรัก ใครชอบความสงบเรียบร้อยก็ว่าจีนดี ใครชอบความหลากหลายเปิดโอกาสให้ประชาชนเลือกก็ว่าอังกฤษดี ข้อน่าสังเกตคือ ทั้งสองประเทศยึดมั่นตามกติกาของตน ปกครองระบอบไหนก็ว่ากันไปตามนั้น สามารถนำพาประเทศฝ่าคลื่นลมมาได้
ลองจินตนาการดูว่า ถ้าประเทศหนึ่งประกาศใช้การปกครองแบบหนึ่ง แต่วิธีการบริหารยุ่งเหยิงปนเป พรรคที่ชนะเลือกตั้งไม่ได้เป็นรัฐบาล ผู้นำที่ครองอำนาจต่อเนื่องยาวนานโดยพฤตินัยแต่กฎหมายเปิดช่องให้อยู่ต่อได้ไม่ผิดกติกา การแสดงท่าทีในเวทีระหว่างประเทศประเด็นเดียวกันคราวนี้แสดงออกอย่างหนึ่ง คราวหน้าแสดงออกอีกอย่างหนึ่งโดยยกเหตุผลมาอธิบายการกระทำของตนเองได้สารพัด การปกครองแบบนี้ไม่เรียกว่าประชาธิปไตย แต่น่าจะเข้าข่าย “หัวมังกุ ท้ายมังกร” เสียมากกว่า