“วุฒิสาร” ชำแหละต้นตอทุจริตไทย นิติธรรมสำคัญสุด “นายกฯ” ต้องเป็นตัวอย่าง

“วุฒิสาร” ชำแหละต้นตอทุจริตไทย นิติธรรมสำคัญสุด “นายกฯ” ต้องเป็นตัวอย่าง

“วุฒิสาร” ชำแหละผลคะแนน CPI สะท้อนปัญหาทุจริตคอร์รัปชันไทย เผยการโกงทุกวันนี้รู้เพราะจับได้ ชี้ต้องทำให้รวดเร็ว-โปร่งใส-ไม่เลือกปฏิบัติ ใช้หลักนิติธรรมสำคัญสุด สร้างค่านิยมสังคมปฏิเสธโกง ชี้ “นายกฯ-ผู้นำองค์กร” ต้องเป็นตัวอย่าง

เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2565 ที่ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดเวทีสนทนาสาธารณะ โครงการพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทย โดยมีนายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า นายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการ ป.ป.ช. และนายสติธร ธนานิธิโชติ ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า เข้าร่วมงาน

นายวุฒิสาร กล่าวปาฐกถาในหัวข้อการยกระดับคะแนน CPI ของประเทศไทย ตอนหนึ่งว่า ความเห็นส่วนตัวไม่ค่อยเห็นด้วยกับการใช้ CPI เป็นเครื่องวัด เหตุผลสำคัญคือ ยุทธศาสตร์ชาติที่เราต้องการแก้ทุจริตคอร์รัปชัน ควรถูกวัดจากสิ่งที่เราเป็น เรื่องที่เราเป็น แต่ CPI เป็นเครื่องมือถูกวัดโดยหน่วยงานกลาง อาจเลือกวัดประเด็นที่เราควบคุมไม่ได้ แต่การควบคุมไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำอะไรไม่ได้ เราพยายามทำเรื่องนี้ แต่เขาวัดอีกเรื่อง เพราะปัญหาเรื่องทุจริตแต่ละประเทศ แต่ละสังคมแตกต่างกัน แต่การมี CPI ทำให้มีการสร้างมาตรฐานระดับสากล จากข้อมูลเมื่อ 25 ม.ค. 2565 คือการวัด CPI ปี 2564 ทุกคนทราบว่าไทยได้ 35 คะแนนจาก 100 คะแนน ไทยอยู่อันดับ 110 จาก 180 ประเทศ เราอยู่อันดับ 6 ใน 10 ประเทศอาเซียน และเราต่ำกว่าหลายประเทศที่เคยมีชื่อเสียงเรื่องการไม่โปร่งใส วันนี้เขายกขึ้น แต่เราอยู่กับที่

นายวุฒิสาร กล่าวว่า สิ่งที่จำเป็นมากกว่านี้คือ การทำให้สถานการณ์จริงมันเปลี่ยนแปลง มากกว่าจะไปดูว่าเคลมหรือคำนวณแบบไหนดี บางครั้งอาจบอกว่าเป็น Perception (การรับรู้) แต่ในทางการเมืองมันคือ Reality (ความเป็นจริง) การรับรู้มันคือความรู้สึกทางการเมือง คิดว่าโฟกัสในเรื่องของ CPI แต่อยากพูดถึงสถานการณ์คอร์รัปชันเราควรคำนึงถึงอะไร เช่น กรณีทุจริต แบ่งเป็น

1.เวลาเราพูดว่ามีการทุจริตคอร์รัปชัน แปลว่า เราจับได้ ถ้าพูดเป็นภูเขาน้ำแข็ง ทุจริตคือส่วนโผล่พ้นน้ำ แต่ข้างล่างไม่รู้ว่ายังมีหรือไม่มีทุจริต การที่เราบอกว่า กรณีทุจริตขององค์กรท้องถิ่นเยอะ เพราะคุณจับได้เยอะ ในขณะที่บางส่วนราชการบอกว่าไม่มีคอร์รัปชันเลย ก็ไม่รู้จริงไหม ดังนั้นถ้าพูดทุจริตอย่าพูดเฉพาะเรื่องกรณีที่จับได้

2.การทุจริตมีหลายแบบ หลายระดับ มีระดับนโยบายที่ทำให้เกิดความเสียหายมาก ๆ เห็นกรณีตัวอย่าง เช่น ที่ ป.ป.ช.พิจารณาไปแล้ว คดีทุจริตยา คดีจำนำข้าวมีคนติดคุกไปแล้ว ศาลตัดสินแล้ว แต่ว่านี่คือเรื่องแรกของระดับนายกรัฐมนตรี ยังมีคดีทุจริตอีกจำนวนมากคือระดับปฏิบัติการ หรือระดับรองลงมา ซึ่งเกิดอยู่ทั่วไป ระดับสุดท้ายเรียกว่าระดับเล็กน้อย (Miner) ผิดกฎระเบียบที่อาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ ทุจริตเยอะมากที่ชี้มูลไปแล้ว เช่น การใช้รถหลวง

“วุฒิสาร” ชำแหละต้นตอทุจริตไทย นิติธรรมสำคัญสุด “นายกฯ” ต้องเป็นตัวอย่าง

“ที่สำคัญมากคือจะดูว่ารุนแรงหรือไม่ ต้องกลับไปดูมูลค่าความเสียหาย ตั้งแต่ปี 2550-2558 ป.ป.ช.เคยรวบรวมคดีเอาไว้ที่เสร็จสิ้นแล้ว มูลค่าความเสียหายองค์กรท้องถิ่นทำรวมกัน อาจมีประมาณ 100 คดี เสียหายประมาณ 140-170 ล้านบาท เพราะทุจริตประเภทนี้คือ สั่งซื้อของผิด ในขณะคดีทุจริตรัฐวิสาหกิจ มีมูลค่าเสียหายรวมกันประมาณ 1 แสนล้านบาท คดีทุจริตภาคราชการ คดีน้อยกว่าอีก แต่มูลค่าความเสียหาย 4 แสนล้านบาท” นายวุฒิสาร กล่าว

3.สังคมนี้ชอบมี Perception ที่ว่า เรื่องแบบนี้ทุจริต หน่วยนี้ทุจริต ทำอะไรก็ทุจริต เช่น เสาไฟของ อบต.ราชาเทวะ มีเหตุเกิดขึ้นปุ๊บ ทำเสาไฟนี่ทุจริต หน่วยงานจำนวนมากที่เตรียมจะทำเสาไฟต่างหยุดหมด เพราะสังคมต่างบอกแล้วว่า ทำแบบนี้แล้วทุจริต ทั้งที่ต้องเข้าใจระบบการปกครองท้องถิ่นก่อนว่ามีอำนาจจัดการหรือไม่ ควรทำหรือไม่ และทำแล้วโกงหรือไม่ เรื่องนี้สำคัญ เพราะถ้าทำแบบนี้จะทำให้เรามองเห็นว่าควรดำเนินการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันอย่างไรต่อไป

นายวุฒิสาร กล่าวอีกว่า เราอาจจำเป็นต้องกลับมาดูว่า มูลเหตุแห่งการทุจริตเกิดอะไรขึ้น คิดว่าคนที่ทุจริต มันมีหลายลักษณะ สิ่งแรกคือจงใจ ตั้งใจทำเลย เจตนามาโกง พวกนี้ต้องไม่เอาไว้ ต้องจัดการ แต่อาจมีอีกจำนวนหนึ่งที่ทำผิดเหมือนกัน แต่ไม่ได้ตั้งใจ ผิดเพราะไม่รู้กฎหมาย หรือทำด้วยความไม่รอบคอบพอ คนพวกนี้ความรุนแรงไม่ควรเหมือนกับกลุ่มแรกที่ผิดเพราะตั้งใจ อาจทำทุจริตเพราะถูกบังคับ มีเงื่อนไขแลก พวกนี้แปลว่าระบบของการบริหารจัดการเชิงบุคคล บริหารจัดการของรัฐ ขาดสิ่งที่เรียกว่าระบบคุณธรรม จะสร้างระบบนี้ได้อย่างไรกับสังคม สร้างกลไกตรวจสอบถ่วงดุลได้อย่างไร กลุ่มสุดท้ายอาจถูกจับว่าทุจริตเพราะกลั่นแกล้ง อยากให้พ้นจากตำแหน่ง นี่คือความแตกต่างของเหตุแห่งการทุจริต ที่มีคนได้รับผลจากการทุจริต มีเจตจำนงที่แตกต่างกัน

เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า เราจะเดินต่อไปอย่างไร อยากบอกว่าเวลานี้ Perception ของเรา แบ่งเป็น

1.Perception มองการปราบปรามการทุจริตว่า จับได้แต่ตัวเล็ก ตัวใหญ่จับไม่ได้ มันค้านสายตา 

2.Perception แบบทุจริตมาก คดีเยอะ ท้องถิ่นทุจริต ป.ป.ช.จังหวัดเคยบอกว่า ท้องถิ่นทุจริตจังเลย ตนบอกว่า รู้ได้ไงว่าทุจริต เขาบอกว่ามีคนร้อง ดังนั้นทุจริตหากไม่มีคนร้อง หาเจอยาก เพราะฉะนั้นกลไกอันหนึ่งที่จะจับทุจริตได้คือ ทำกลไกเปิดเผยและถูกร้องได้ง่าย แต่การร้องก็มีดาบสองคม ร้องเพื่อให้โดนหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน และรอไปอีก 5 ปี สุดท้ายไม่ผิด 

3.Perception ที่รู้สึกเลือกปฏิบัติหรือไม่ เรารู้สึกหรือไม่ว่าหลายเรื่องมีการเลือกปฏิบัติ ต่อความไว้วางใจระบบป้องกันและปราบปรามการทุจริต ทำไมบางคดีรอด เรื่องใหญ่ บางคดีเร็วและไม่รอด บางคดีช้าแล้วรอด 

4.บางคนตั้งคำถาม Perception องค์กรอิสระจริงหรือไม่ ตนไม่ได้โจมตีองค์กรอิสระ หรือ ป.ป.ช. แต่นี่คือ Perception ที่เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่มีความเป็นขั้วทางความคิด ขั้วทางการเมือง ขั้วพวกฝ่าย นึกง่าย ๆ ศาลยุติธรรมตัดสินแล้ว ก็มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย คนชนะก็บอกเป็นธรรม คนแพ้บอกไม่เป็นธรรม แล้วจริง ๆ เป็นธรรมหรือไม่ ต้องถามคนส่วนใหญ่ 

“Perception การจัดการทุจริตจึงอาจเป็นเรื่องของอคติรวมอยู่ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่มีลักษณะเป็นขั้วทางความคิดอย่างรุนแรง มีฝ่ายอย่างรุนแรงในทางการเมือง ต้องยอมรับว่าวันนี้ยกคดีทางการเมือง ที่ทุจริตขนาดใหญ่ จะมีกองเชียร์ 2 ฝ่ายเสมอ” นายวุฒิสาร กล่าว

นายวุฒิสาร กล่าวด้วยว่า ทางออกคือเสนอข้อเท็จจริงให้สังคมรับทราบ เมื่อมี Perception มองว่าทำให้สังคมคลาดเคลื่อน สังคมเคลือบแคลง หน่วยงานกลางต้องเปิดเผยและแสดงข้อมูล และข้อเท็จจริง ศาลต้องบอกข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง การเปิดเผยคำวินิจฉัย การเปิดเผยสิ่งที่เป็นพยานหลักฐานที่เอามาใช้ เป็นเรื่องจำเป็นที่ทำให้คนเลิกคลางแคลงใจ เปลี่ยนเป็นความเชื่อมั่นต่อระบบ คำว่า Perception ที่พูดไม่ใช่ CPI แต่เป็นเรื่องปราบปรามการทุจริต ต้องการทำให้คนมั่นใจว่ากลไกนี้ทำอย่างเป็นธรรม

“วุฒิสาร” ชำแหละต้นตอทุจริตไทย นิติธรรมสำคัญสุด “นายกฯ” ต้องเป็นตัวอย่าง

สำหรับแนวทางแก้ไขต้องทำอย่างไร 

1.ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น จริงจัง และคำนึงถึงสาระของกฎหมาย ที่มีความสมดุลกับความเป็นจริง ตรงไปตรงมา รวดเร็ว และที่สำคัญกฎหมายต้องออกมาแล้วทำให้การทำงานทำต่อไปได้ รัฐธรรมนูญปี 2560 บอกเป็นฉบับปราบโกง จนไม่มีใครกล้าทำอะไร เพราะห้ามไปหมด ด้วยความกลัวว่าทุจริตหรือไม่ ทำให้ไม่มีใครกล้าทำอะไรเป็นประโยชน์ด้วย ดุลเรื่องการห้ามทุจริตมากจนคนไม่อาจทำงานให้บรรลุเป้าหมายได้ กลายเป็นปัญหา

“ถ้าให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยชี้แจงบัญชีทรัพย์สิน เชื่อว่าคนลาออกเกินครึ่ง เขาคิดว่าเป็นภาระ” นายวุฒิสาร กล่าว

2.การบังคับใช้กฎหมายและตีความอย่างเป็นธรรม และทำให้คนรู้สึกว่าไม่เลือกปฏิบัติ หลัก Rule of Law (หลักนิติธรรม) เป็นหลักสำคัญในการจัดการทุจริต

3.ต้องทำให้ต้นทุนการทุจริตแพง แปลว่า ถ้าคนทำผิดต้องสืบสวน ดำเนินคดี ลงโทษให้เร็ว ชัดเจน ให้หนักตามสถานะแห่งโทษ ไม่ต้องประวิง ไม่ต้อง 7-10 ปี ต้องทำให้เร็ว ทำให้มีต้นทุนในการทุจริต อีกขาคือต้องให้ความรู้ความเข้าใจคนทำงาน เรื่องที่จำเป็นพร้อมกันคือ กลับมาทบทวนกฎหมายตลอดเวลาว่าเหมาะสมกับสถานการณ์อยู่หรือไม่ 

4.เราจำเป็นต้องปรับกระบวนการทำงาน คือมีระบบที่ชี้ให้เห็นว่าผิดพลาดตรงไหน ย้อนกลับได้ว่าใครคือผู้ทำผิด เพราะฉะนั้นการทำงานที่ชัดเจน แล้วมีการควบคุมความเสี่ยง และย้อนกลับได้ว่าทุจริตตรงไหน ต้องลดการผูกขาด เมื่อไหร่ก็ตามที่ผูกขาด โอกาสของการเอาเปรียบสูง รวมถึงการลดดุลพินิจ คือการบอกว่า ต่อไปนี้เรื่องแบบนี้ถ้ามาครบถ้วน เอกสารครบ ไม่ต้องมีดุลพินิจ ไปได้เลย นั่นคือการทำให้เกิดความชัดเจน มีหลักเกณฑ์ชัดเจน มีกระบวนการเปิดเผยขั้นตอนการพิจารณา ทำให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น

5.ต้องช่วยกันสร้างวัฒนธรรมของสังคมนี้ ให้ปฏิเสธการทุจริต ต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรการทำงาน สร้างค่านิยมเรื่องซื่อสัตย์สุจริตเป็นค่านิยมต้น ๆ ของการให้การศึกษา ต้องปฏิเสธคนทุจริต การจัดการสร้างวัฒนธรรมแบบนี้ นอกจากส่งเสริมในเชิงปัจเจก ต้องส่งเสริมสังคมให้ปฏิเสธการทุจริตด้วย เพราะสังคมไทยระหว่างซื่อสัตย์กับฉลาด มองว่าฉลาดสำคัญกว่า วิธีคิดจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องทำให้เป็นสังคมที่ปฏิเสธ

6.สุดท้ายเรื่องของผู้นำ ผู้นำองค์กร ต้องเป็นตัวอย่าง ผู้นำประเทศ รัฐมนตรี นักการเมือง ผู้นำระดับสูง ข้าราชการระดับสูงต้องเป็นตัวอย่างในเรื่องเชื่อความซื่อสัตย์สุจริต CPI แก้ไปได้แบบหนึ่ง แต่ถ้าจะแก้ให้สังคมมีการทุจริตน้อยลง เราต้องคิดเปลี่ยนวิธีการทำงาน เปลี่ยนวัฒนธรรมของสังคมนี้ใหม่ อย่าไปคิดแต่ว่าเรื่องซื่อสัตย์สุจริตเป็นเรื่องของคนโบราณ คนเชย เราต้องกลับมาคิดว่าความซื่อสัตย์สุจริตควรเป็นคุณสมบัติข้อแรก ๆ ในการเลือกสรรคนมาทำงาน ถ้าคิดอย่างนี้ได้ สังคมก็จะดีขึ้น 

“ผมคิดว่าไม่น่าภาคภูมิใจเวลาเราพูดธรรมาภิบาลมาก ๆ แสดงว่าเราขาด วันนี้ผมคิดว่าเรื่องทุจริตกลายเป็นเป้าหมายลำดับต้น ๆ ของชาติ ไม่ใช่เรื่องน่าชื่นชม แต่เป็นเรื่องน่าเสียดายว่า ทำไมเราต้องมาคิดแบบนี้ คล้าย ๆ อยากชวนท่านคิดว่า ประเทศที่ CPI คะแนนสูง ๆ ประเทศที่มีความโปร่งใส จะโยง ๆ กับประเทศที่วัดเรื่องความสุข ความน่าอยู่ มันจะไปเหมือน ๆ กัน คือ ความมีประชาธิปไตยสูง ๆ คือประเทศกลุ่มเดียวกันหมด เช่น ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย มันแปลว่าอะไร ทุจริตคอร์รัปชันเป็นผลพวงตามการพัฒนาของสังคมโดยรวม หากอยากแก้ปัญหาเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งต้องพัฒนางานวิจัยแก้ CPI แต่ถ้าต้องการยกระดับสถานการณ์ให้ Perception คนทั่วไปมองว่าเราโปร่งใส น่าลงทุน มีองค์ประกอบอื่นอีกมาก” นายวุฒิสาร กล่าว