"มาดามเดียร์" ซัด กฎ Must Carry กสทช. ทำวุ่นลิขสิทธิ์ชมบอลโลก2022 จี้เร่งแก้

"มาดามเดียร์" ซัด กฎ Must Carry กสทช. ทำวุ่นลิขสิทธิ์ชมบอลโลก2022  จี้เร่งแก้

"มาดามเดียร์" ซัด กฎ Must Carry กสทช. ทำวุ่นลิขสิทธิ์ชมบอลโลก 2022 เหมือน "ขว้างงูไม่พ้นคอ" ถามอีก 11 วัน คนไทยจะได้ดูบอลโลกไหม? แนะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุแทนการควักเงินภาษีประชาชน

นางสาววทันยา บุนนาค หรือมาดามเดียร์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมืองกรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่มีการถกเถียงถึงการนำเงินจากกองทุนวิจัย และพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) จำนวน 1,600 ล้านบาท ไปใช้สนับสนุนค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ว่า ปัญหาของเรื่องนี้ทั้งหมดเกิดขึ้นจากกฎ Must Carry หรือ Must Have ที่ กสทช.ออกเป็นกฎไว้หลังจากการประมูลทีวีดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายการถ่ายทอดสดเวทีสำคัญระดับชาติ โดยไม่ถูกปิดกั้นจากเจ้าของผู้ประมูลลิขสิทธิ์ เหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นในสมัยฟุตบอลโลกปี 2014 โดยกฎดังกล่าวของ กสทช. ฟังดูทีแรกเหมือนจะไม่มีปัญหาอะไร เป็นการออกกฎเพื่อปกป้องประชาชนไม่ให้ถูกเอาเปรียบ หรือถูกเพิ่มภาระจากเจ้าของธุรกิจโดยไม่จำเป็น

แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับกลายเป็นว่ากฎ Must Carry ของ กสทช. เป็นการบิดเบือน แทรกแซงกลไกตลาดในการซื้อขายลิขสิทธิ์ เพราะเป็นที่รู้ดีกันอยู่แล้วว่ามูลค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดรายการนั้นแปรผันตามฐานจำนวนผู้ชม ยิ่งมีคนดูมากเท่าไร ค่าลิขสิทธิ์ก็ย่อมแพงขึ้นตาม ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า รายการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ที่เป็นเวทีสำคัญ 4 ปี ถึงจะวนกลับมาที สามารถเข้าถึงคนได้ทุกเพศ ทุกวัย จึงมีมูลค่าที่สูงเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับรายการถ่ายทอดประเภทอื่นๆ

"อันที่จริงในทางธุรกิจการลงทุนเงินจำนวนมหาศาลนั้นหากสามารถหารายได้จำนวนมาก คุ้มค่าต่อการลงทุนก็คงไม่ใช่ปัญหา แต่ในกรณีของประเทศไทยที่มีกฎ Must Carry นั้นทำให้เจ้าของธุรกิจไม่อยากเข้าไปลงทุน พูดง่ายๆ ก็คือ ลงทุนไปก็ไม่คุ้มค่าเพราะลิขสิทธิ์การถ่ายทอดไม่สามารถนำไปหารายได้เพื่อทำกำไรเพราะไม่ได้สิทธิ Exclusive ในทางกลับกันเจ้าของธุรกิจรายอื่นๆ ก็ไม่รู้จะจ่ายเงินไปทำไม เพราะถ้ามีคนไปซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดมา เดี๋ยวก็ได้อานิสงส์จากกฎ Must Carry  ในการถ่ายทอดอยู่ดี" นางสาววทันยา กล่าว 

นางสาววทันยา กล่าวต่อว่า เมื่อเป็นแบบนี้แล้วช่องโทรทัศน์ หรือเจ้าของแพลตฟอร์มที่ไหนจะอยากเข้าไปประมูลลิขสิทธิ์ เพราะเห็นชัดๆ ว่าไม่ได้ประโยชน์ แถมมีโอกาสขาดทุนชัดเจน คำถามคือ แล้วทำไมเมื่อก่อนเราก็ดูรายการกีฬาสำคัญระดับโลกได้โดยไม่เคยมีปัญหาให้ต้องกวนใจแบบนี้ นั่นก็เพราะในอดีตช่องทีวี 3 5 7 9 หรือที่เรียกว่า “ทีวีพูล” ใช้วิธีร่วมลงขันกันซื้อลิขสิทธิ์ และนำรายการมาเฉลี่ยจัดสรรการถ่ายทอดกันตามสัดส่วนเงินที่ลงทุน ในส่วนของผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์ เจ้าของรายการอื่นๆ หากอยากได้เนื้อหา ฟุตเทจวิดีโอ ก็ต้องจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์ให้กับทีวีพูล

รวมถึงเจ้าของสินค้าที่อยากมีผลิตภัณฑ์ของตัวเองออกอากาศในระหว่างการถ่ายทอดเพราะสามารถเข้าถึงคนดูจำนวนมาก ก็ต้องจ่ายเงินค่าสปอนเซอร์ในการสนับสนุน ทั้งหมดนี้เป็นการหารายได้ของผู้ประมูลลิขสิทธิ์ที่สามารถปฏิบัติกันมายาวนานโดยไม่มีปัญหาอะไร จนกระทั่งเกิดกฎ Must Carry ขึ้นมาอย่างทุกวันนี้

ดังนั้นหากจะแก้ปัญหาให้ถูกต้องก็ต้องกลับไปแก้ที่ต้นเหตุด้วยการทบทวนกฎ Must Carry ใหม่ ไม่ใช่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ด้วยการให้รัฐหาเงินมาจ่ายค่าลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะจากการระดมทุนในบริษัทบิ๊กคอร์ปให้ช่วยอุดหนุน หรือจะจากงบรัฐ ที่ทำให้เกิดคำถามตามมาของคนที่ไม่ใช่แฟนบอลว่าแล้วทำไมต้องนำเงินภาษีของประชาชนมาใช้กับเรื่องที่เขาไม่ได้ประโยชน์ โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นสามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีอื่นด้วยการใช้กลไกธุรกิจ เพื่อไม่สร้างภาระให้รัฐ และประชาชนเหมือนเช่นในอดีตที่ก็เคยทำกันมาอยู่แล้ว

และในทางกลับกัน หากเราเป็น FIFA หรือบริษัทเอเย่นต์ที่เป็นตัวแทนนายหน้าขายลิขสิทธิ์บอลโลก เมื่อเจอกรณีแบบประเทศไทยที่รัฐกลัวเสียหน้า ยอมเปลืองตัวเป็นเจ้าภาพหาเงินมาอุดหนุนก็ต้องบอกได้คำเดียวว่า “หวานหมู” เพราะไม่ว่าค่าลิขสิทธิ์จะสูงลิ่วเพียงใด รัฐก็ต้องกัดฟันเอาเงินมาให้อยู่ดี และนั่นก็ไม่แปลกใจเลยว่าทำไม ลิขสิทธิ์บอลโลก 2022 ของไทยจึงได้แพงกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน

หากยังแก้ไขปัญหาแบบนี้ก็คงไม่ต่างจาก “ขว้างงูไม่พ้นคอ” ด้วยการออกกฎ Must Carry ปกป้องประชาชนแต่สุดท้ายก็ต้องนำเงินประชาชนมาใช้อยู่ดี แถมยังกลายเป็นของหวานให้ต่างชาติรีดเงินเพิ่ม

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์