ตรวจการบ้าน ความพร้อมเจ้าภาพเอเปค
ส่องความพร้อมของไทยสำหรับการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในวันที่ 18-19 พ.ย. 2565 ที่แม้จะมีโครงข่ายคมนาคมที่สมบูรณ์ขึ้น รวมถึงสถานที่จัดประชุมที่ถูกปรับปรุงใหม่ แต่ดูเหมือนว่าการรับรู้ของสังคมต่อการเป็นเจ้าภาพมีไม่มากเท่าที่ควร
การประชุมกลุ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพได้เริ่มมาตั้งแต่เดือน ม.ค.2565 และเข้าสู่ช่วงสัปดาห์สุดท้ายระหว่างวันที่ 14-19 พ.ย.2565 โดยเริ่มต้นตั้งแต่การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคเพื่อยกร่างเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bangkok Goals on BCG Economy ที่รัฐบาลต้องการให้เป็นมรดกสำหรับสมาชิกเอเปคหลังจากจบการประชุมไปแล้ว ก่อนจะส่งต่อให้กับสหรัฐเจ้าภาพปีหน้า
การประชุมระดับผู้นำจะมีขึ้นในวันที่ 18-19 พ.ย. 2565 ซึ่งน่าเสียดายที่ผู้นำหลายรายมาเข้าร่วมเองไม่ได้ เช่น นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ รวมถึงนายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย แต่ก็ทุกอย่างก็ต้องเดินหน้าต่อตามวาระที่มีการวางไว้เพื่อให้ผู้นำได้พิจารณาแนวทางความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงหลังวิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง รวมถึงวิกฤติพลังงานที่ส่งผลให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อที่รุนแรงในหลายประเทศ
ท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ผ่านมาเกิดคู่ขัดแย้งขึ้นมาทั้งในยุโรปและเอเชีย ซึ่งมีส่วนทำให้การประชุมระดับรัฐมนตรี 2 ครั้ง คือ การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค และการประชุมรัฐมนตรีการคลังเอเปค ที่ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้และออกได้เพียงแถลงการณ์ของที่ประธานที่ประชุม ซึ่งมีการนำปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศเข้ามาในเวทีเอเปคจนเกิดการวอล์คเอาท์ นั่นคือการที่รัสเซียรุกเข้ายึดดินแดนของยูเครน ทำให้รัฐบาลต้องวางแผนรับมือบนเวทีผู้นำที่จะถึงนี้
ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเอเปคมาแล้ว 3 ครั้ง ในปี 2536 และปี 2546 ซึ่งครั้งล่าสุดต้องย้อนไปถึง 19 ปี ที่แล้ว ในช่วงที่โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมหรือสถานที่จัดประชุมเทียบไม่ได้กับยุคนี้ แต่การเป็นเจ้าภาพครั้งนั้นได้รับแรงขับเคลื่อนอย่างเต็มที่จะรัฐบาลในการแสดงศักยภาพของประเทศ โดยมีกิจกรรมต่อเนื่องตลอดทั้งปีทั่วประเทศ ซึ่งต่างจากการเป็นเจ้าครั้งนี้ที่มีการประชาสัมพันธ์ประเด็นซอฟต์พาวเวอร์ค่อนข้างน้อย ทั้งอาหารและเครื่องดื่มสำหรับผู้นำ รวมถึงของที่ระลึกต่างๆ
การเป็นเจ้าภาพเอเปคครั้งนี้เกิดขึ้นบนความพร้อมทั้งโครงข่ายคมนาคมที่สมบูรณ์ขึ้น รวมถึงสถานที่จัดประชุมที่ถูกปรับปรุงใหม่ แต่ดูเหมือนว่าการรับรู้ของสังคมต่อการเป็นเจ้าภาพมีไม่มากเท่าที่ควร ประเด็นนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลต้องรับผิดชอบ รวมถึงคณะกรรมการชุดต่างๆ คณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์ฯ และกระทรวงการต่างประเทศ และเมื่อบวกกับเวทีผู้นำเอเปคครั้งนี้จัดต่อจากเวทีผู้นำอาเซียนและจี 20 ทำให้ผู้นำหลายรายไม่มาเอเปค การเป็นเจ้าภาพของไทยครั้งนี้มีความน่าสนใจลดลง