จับทิศการเมืองหลังเอเปค เงื่อนไขไปสู่อุบัติเหตุการเมือง ?
ปิดฉากเอเปค เปิดฉากการเมือง ลุ้นการตัดสินใจทางการเมืองของนายกฯประยุทธ์
ศึกในสภา กม.กัญชา วาระ 2-3 การซักฟอกรัฐบาลแบบไม่ลงมติ หวัง“ด่าฟรี”ก่อนลงสนามเลือกตั้ง
ปรับ ครม.ทิ้งทวน “ม็อบนอกสภา”จะยืดเยื้อหรือไม่ ล้วนเป็นเงื่อนไขไปสู่อุบัติเหตุทางการเมืองได้ทั้งสิ้น
ปิดฉากการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคไปแล้วอย่างสวยงามพอสมควร และน่าจะสมใจท่านนายกฯประยุทธ์ ที่ตั้งใจกับงานนี้ และหมายมั่นปั้นมือมานาน
ภาพผู้นำโลกหลายท่านโพสต์ชื่นชมอาหารไทย สถานที่ท่องเที่ยวของไทย และการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมของไทย ถือเป็น “ซอฟต์ เพาเวอร์” ที่ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ และการท่องเที่ยวของบ้านเราได้เป็นอย่างดี มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล
สะท้อนว่าบ้านเรามีอะไรดีๆ ที่ผู้คนทั้งโลกให้ความสนใจ เคยได้ยินข่าว ได้ยินเสียงร่ำลือ เมื่อมีโอกาสเดินทางมา ก็ขอมาดูให้เห็นกับตาตนเอง แล้วก็ได้รอยยิ้มกับความประทับใจกลับไป
ส่วนฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ทั้งที่เปิดหน้าและหลบอยู่ข้างหลัง ก็ได้ภาพดิสเครดิตรัฐบาลและสร้างประเด็นแง่ลบให้กับการประชุมไปพอหอมปากหอมคอ โดยเฉพาะการสลายและควบคุมการชุมนุมที่ถูกตั้งคำถามเรื่องมาตรฐาน ความสมควรแก่เหตุ และการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากบ้านเรามีการชุมนุมที่ใช้พยายามใช้ความรุนแรง และสร้างสถานการณ์บานปลายมาอย่างต่อเนื่องจากบางกลุ่ม บางฝ่าย โดยเฉพาะกลุ่มที่นัดชุมนุมต่อเนื่อง และมีเรื่องทุกที จนกลายเป็นไม้เบื่อไม้เมากับทาง คฝ. หรือตำรวจควบคุมฝูงชนบางส่วนไปแล้ว ฉะนั้นจึงไม่ผิดคาดที่เมื่อมามีกิจกรรมที่ต้องเผชิญหน้ากัน ย่อมต้องเกิดเรื่อง
แต่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นฝ่ายที่ต้องควบคุมและบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนมาตรการต่างๆ อย่างพอสมควรแก่เหตุ ก็ต้องรับผิดชอบมากกว่าฝ่ายประชาชน หลังจากนี้ก็อยู่ที่การตรวจสอบ สอบสวน ว่าจะดำเนินการอย่างไรกันต่อไป
ส่วนการเมืองหลังเอเปค ต้องบอกว่าเข้มข้นแน่นอน โดยเฉพาะเมื่อท่านนายกฯประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล จัดงานได้น่าประทับใจไม่แพ้การประชุมอื่นๆ และครั้งอื่นๆ ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ รวมถึงได้พบปะเจรจาทวิภาคีกับผู้นำโลก นำมาสู่ข้อตกลงที่เป็นประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะมกุฎราชกุมารแห่งซาอุดิอาระเบีย ถือเป็นการฟื้นสัมพันธ์ที่ร้างราไปนานกว่า 30 ปีให้กลับคืนมา ก็ต้องถือว่าเป็นผลงานชิ้นสำคัญของท่านในช่วงปลายรัฐบาล
งานนี้ท่านจึงเนื้อหอมที่สุดในฐานะหัวขบวนฝ่ายอนุรักษ์นิยม ที่จะต้องนำทัพสู้ศึกเลือกตั้งกับฝ่ายเสรีนิยมที่นำโดยพรรคเพื่อไทย กับพรรคก้าวไกลต่อไป
แต่ความเข้มข้นทางการเมือง ยังมีหลายประเด็นและหลายปัจจัย ได้แก่
1.เป็นช่วงเวลาของการตัดสินใจทางการเมืองของหลายๆ คน ว่าจะอยู่พรรคเดิม หรือย้ายชายคา
2.ทุกพรรค และว่าที่ผู้สมัคร เร่งลงพื้นที่จริงจังมากขึ้น
3.ทุกฝ่ายรอการตัดสินใจทางการเมืองของนายกฯประยุทธ์ ซึ่งมีอยู่ 2 ทางเลือก คือ อยู่กับพลังประชารัฐต่อ รอให้พรรคเคาะเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ยอมให้ “พี่ใหญ่” ดูงานการเมืองให้ต่อไป และอาจแบ่งวาระนายกฯกันคนละ 2 ปี
หรืออีกทางเลือกหนึ่ง คือ ย้ายไปร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ตอนนี้เปิดประตูอ้าซ้าไม่รู้จะกว้างอย่างไรแล้ว ในการรอรับนายกฯประยุทธ์
การตัดสินใจของนายกฯจะส่งผลต่อองคาพยพอื่นๆ ทางการเมืองมากพอสมควร โดยเฉพาะการไหลเข้า-ออกของ ส.ส. แต่ก็เริ่มมีข่าวว่า กลุ่มก๊วนในพรรคพลังประชารัฐอาจไม่ตามท่านไปพรรครวมไทยสร้างชาติ หากท่านตัดสินใจย้ายค่าย เปลี่ยนโปรจริงๆ นัยว่าอยู่พลังประชารัฐมี “บิ๊กดีล” ได้ร่วมรัฐบาลชัวร์กว่า
ฉะนั้นจึงต้องรอลุ้นการตัดสินใจของนายกฯประยุทธ์ด้วยใจระทึก เพราะการตัดสินใจหนนี้จะเปลี่ยนหน้ากระดานการเมืองพอสมควรทีเดียว
4.ศึกในสภาจะดุเดือด โดยเฉพาะกฎหมายกัญชา กัญชงฯ เนื่องจากวันอังคารที่จะถึงนี้ จะมีประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ส. และมีวาระพิจารณาประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 (ปัจจุบันมี 2 ฉบับ คือฉบับลงวันที่ 16 มิ.ย.65 กับ 11 พ.ย.65 แต่ฉบับหลังยังไม่ได้ประกาศราชกิจจานุเบกษา)
ก่อนหน้านี้ มีคณะแพทย์ ภาคประชาชน และ ส.ส.ฝ่ายค้าน ยื่นฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่กำหนดชื่อยาเสพติดประเภท 5 ซึ่งมีการถอดชื่อ “กัญชา” ออกไป เพื่อให้กัญชากลับเป็นยาเสพติดอีกครั้งหนึ่ง แต่การจะทำแบบนั้นได้ คุณอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะ รมว.สาธารณสุข ต้องยินยอมออกประกาศด้วย
คำถามคือ คุณอนุทิน จะยอมทำหรือ เพราะนี่คือนโยบายหาเสียงสำคัญของพรรคภูมิใจไทย
ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชงฯ อาจเข้าสภาวาระ 2-3 ในกลางสัปดาห์หน้า และพรรคประชาธิปัตย์ พรรคร่วมรัฐบาลอันดับ 3 ก็ย้ำแล้วย้ำอีกว่า กัญชาต้องกลับไปเป็นยาเสพติดเท่านั้น
นี่จึงเป็น “ศึกกัญชา ที่คงต้องรอดูบทบาทท่านนายกฯ ว่าจะหาทางออกอย่างไร ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล และจำเป็นต้องผูกสัมพันธ์กับพรรคร่วมรัฐบาลกลุ่มนี้ไว้ เพื่อเดินงานการเมืองต่อไปในการเลือกตั้งครั้งหน้า
นอกจาก 4 ประเด็นสำคัญที่ว่านี้แล้ว ยังมีอีกหลายเรื่อง หลายปัจจัยที่อาจจะส่งผลต่อทิศทางการเมือง แต่อาจไม่มากเท่า 4 ประเด็นแรก คือ การอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ซึ่งเป็นการอภิปรายทิ้งทวนของฝ่ายค้าน ซึ่งเลื่อนเวลามาเป็นช่วงท้ายสมัยประชุมให้มากที่สุด เพื่อหวัง “ด่าฟรี” ก่อนลงสนามเลือกตั้ง ก็ต้องรอดูว่ารัฐบาลจะยุบสภาหนีหรือไม่
อีกเรื่องคือปรับ ครม.ทิ้งทวน ชิงความได้เปรียบทางการเมือง การจะปรับเล็ก หรือปรับใหญ่ หรือไม่ปรับเลย ย่อมส่งผลทางการเมืองแตกต่างกัน โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับพรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์ที่รอปรับอยู่นานแล้ว และกลุ่มก๊วนในพรรคพลังประชารัฐ ที่รอเก้าอี้โค้งสุดท้ายก่อนตัดสินใจทางการเมืองว่าจะอยู่หรือไป
ปิดท้ายคือ “ม็อบนอกสภา” จะยืดเยื้อไปหลังเอเปคหรือไม่ หลังสร้างกระแสได้พอสมควรช่วงเอเปค
ทุกเรื่องล้วนเป็นเงื่อนไขไปสู่อุบัติเหตุทางการเมืองได้ทั้งสิ้น!