"โจทย์หิน-ด่านโหด" โอกาส "อภิสิทธิ์" คัมแบ็ค ?
โอกาสและความพยายามในการดัน “อภิสิทธิ์” กลับสู่แถวหน้าการเมืองไทยอีกครั้ง อาจต้องลุ้น“โจทย์หิน-ด่านโหด” ที่รออยู่เบื้องหน้า
“สำหรับเส้นทางทางการเมืองของผม ไม่ได้สนใจกติกา แต่รอดูทิศทางของพรรคประชาธิปัตย์มากกว่า ซึ่งขณะนี้พรรคก็ยังไม่ได้พูดคุยอะไร ยังไม่ตัดสินใจอะไร ขณะนี้ยังอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะยังเป็นสมาชิกพรรค”
ประโยคสำคัญจากปาก “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หลังถูกถามถึงอนาคตทางการเมือง ทิ้งช่วงกว่า 2 สัปดาห์ หลังปรากฎภาพร่วมรับประทานอาหารระหว่างอภิสิทธิ์ สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณะสุข ในฐานะรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
ภาพที่ปรากฎออกมาก่อนหน้า แม้ทั้ง “3 บิ๊กเนม” ทั้งอภิสิทธิ์ สาธิต และอนุทิน จะออกมาพูดในทำนองเดียวกัน เป็นการนัดหมายล่วงหน้ามานานแล้ว “ไม่มีอะไรในกอไผ่” และไม่มี “นัยการเมือง”
แต่กรณีที่เกิดขึ้น มีการจับตาไปที่สัญญาณการเมืองในห้วงเลือกตั้ง โดยเฉพาะการปรากฎตัวของ “อภิสิทธ์” ยามนั้น ซึ่งมีการวิเคราะห์จากทั้ง “คนใน-คนนอกพรรค”ว่า อาจไม่ได้หวังผลไปที่การย้ายพรรค หากแต่เป็นการส่งสัญญาณไปถึง “ค่ายสีฟ้า” รอจังหวะคัมแบ็ค
ทั้งในส่วนของรายชื่อ “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ที่จนถึงนาทีนี้ ปชป.ยังยืนยันที่จะเสนอชื่อ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรค เป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรค เพียงรายชื่อเดียว
ไม่ต่างไปจากลิสต์ “ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ” หรือ “ปาร์ตี้ลิสต์” พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งรอบนี้ “บิ๊กปชป.” ประเมินตัวเลขกลมๆ ไว้ที่ 10 ที่นั่ง บวกลบอีกไม่มาก
ฉะนั้นต้องจับตาไปที่สูตรการจัดสรรปาร์ตี้ลิสต์ของ ปชป.รอบนี้ ที่เริ่มปรากฎความเคลื่อนไหว “ภายใน” มีการพูดถึงชื่อ“นาย ก.-น.ส.ข.” รวมถึงลำดับปาร์ตี้ลิสต์ออกมาเป็นระยะ
ยังไม่นับรวมถึงตำแหน่ง “ผู้นำพรรค” ที่มีการมองข้ามชอตไปถึงการครบวาระ 4 ปีของ “จุรินทร์” ที่จะต้องมีการเลือกกรรมการบริหารชุดใหม่ โดยเงื่อนไขสุดท้ายนี้ ต้องไปลุ้นกันที่ผลการเลือกตั้งว่า ปชป.ภายใต้การนำของ “จุรินทร์” รวมถึง “เลขาต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคที่ถึงขั้นประกาศเอาชีวิตการเมืองเป็นเดิมพัน จะนำพา ส.ส.เข้าสภาในฐานะ “ผู้แทนราษฎร” ได้มากน้อยเพียงใด
การส่งสัญญาณรอจังหวะคัมแบ็คของ “เดอะมาร์ค อภิสิทธ์” แม้จะไปสอดรับกับท่าทีของ “สาธิต” ที่ก่อนหน้า ออกมายอมรับถึงแนวคิด “จะทำอย่างไรก็ได้ ที่จะให้ท่าน(อภิสิทธิ์)กลับมาช่วยในนามผู้บริหาร”
ทว่าถึงเวลาจริง ตัว “อภิสิทธิ์” อาจต้องเผชิญทั้ง “โจทย์หิน-ด่านโหด” ที่ไม่ใช่มีแค่ปัจจัยในเรื่อง "เกมวัดพลัง" หรือขั้วอำนาจภายในพรรค หากแต่ยังรวมไปถึงเงื่อนไขนอกพรรค โดยเฉพาะ “สมการการเมือง” ในการจับขั้ว ทั้ง “ฝั่งอนุรักษ์นิยม”
ต้องไม่ลืมว่า ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 “อภิสิทธิ์” ประกาศจุดยืนอย่างชัดเจน “ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี” จนถูกมองว่าส่งผลทำให้ ปชป.เกิด “จุดเปลี่ยน” ครั้งสำคัญ จนต้องผ่าตัดใหญ่พรรคในท้ายที่สุด
ขณะเดียวกัน ในช่วงที่ผ่านมา “อภิสิทธิ์” ที่หลบฉากเดินสายนอกสภา ยังพยายามชูแนวคิด “เสรีประชาธิปไตย”
โดยเขาเคยให้สัมภาษณ์สื่อหนึ่ง ย้ำชัดว่า เมื่อถึงเวลาก็ต้องแยกทางกับ 3ป. หรือกลุ่ม“อนุรักษ์นิยม”แบบสุดโต่ง
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเกิดคำถามว่า หากอภิสิทธิ์คัมแบ็คประชาธิปัตย์ จะถูกจัดวางอยู่ที่จุดใด? หากจะต้องไปจับมือพรรคการเมืองในขั้วอนุรักษ์นิยม ที่ยามนี้พยายามโหมกระแสชู “ป.พี่-ป.น้อง” เป็นแคนดิเดตนายกฯ
หรือสมมุติว่า หากปชป.พลิกขั้วไปจับมือ “ขั้วประชาธิปไตย” โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ต้องไม่ลืมเช่นกันว่า “อภิสิทธิ์” ถือเป็นตัวละคร ซึ่งถูกมองว่ามีส่วนสำคัญ ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553
เว้นเสียแต่ว่า การเมืองรอบหน้าจะไร้ซึ่งชื่อของ “เครือข่าย 3 ป.” เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี หรือมีบทบาทในฐานะผู้กุมอำนาจ รวมไปถึงก่อกำเนิดของการเมือง “ขั้วที่ 3” ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามปลุกกระแส “พรรคสายกลาง” ไม่สุดโต่ง
สอดคล้องกับโมเดล “ฝ่ายค้านอิสระ” ที่เจ้าตัวเคยออกมาชูโรงก่อนหน้า เช่นนี้อาจเป็นโอกาสที่หนุนนำให้อภิสิทธิ์กลับคืนสู่อำนาจได้ไม่ยาก
ฉะนั้น แม้ที่ผ่านมาจะมีการพูดถึงชื่อ รวมถึงโอกาสของ “อภิสิทธิ์” ในการกลับมามีบทบาทสำคัญ ในแถวหน้าการเมืองไทยอีกครั้ง แต่ด้วย“โจทย์หิน-ด่านโหด”เหล่านี้ ก็ถือเป็นความท้าทายของอดีตนายกฯ ผู้นี้เช่นกัน!!