เบื้องหลัง! ศาล รธน.ชี้ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้งฯ สูตรหาร 100 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
เปิดเบื้องหลัง! แง้มวงประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ชี้สูตรหาร 100 ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เหตุประชุมสภาฯล่ม เป็นเรื่องทางเทคนิค ไม่ขัดต่อกฎหมาย แต่ไม่ปิดช่องร้อง ป.ป.ช.สอบจริยธรรม
เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2565 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นการตราถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี 2564 มาตรา 132 โดยมาตรา 25 ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 93 และมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เสียงเห็นว่ามาตรา 26 ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 93 และมาตรา 94 นั้น
อ่านข่าว: ศาล รธน.มติเอกฉันท์ชี้ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ตราโดยชอบ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
มีรายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่พิจารณาร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ดังกล่าว ในประเด็นมาตรา 25 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี 2564 มาตรา 93 หรือไม่นั้น ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นว่า คำร้องมีการอ้างถึงการประชุมรัฐสภา ที่มีเจตนาทำให้การประชุมล่ม และไม่สามารถพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าว ได้ทันตามกรอบเวลาของกฎหมาย ทำให้ต้องกลับไปใช้ร่างแรกที่ ครม.เสนอมา จากสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหารด้วย 500 กลับไปเป็นหารด้วย 100
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมองว่า เป็นเทคนิคการพิจารณาของรัฐสภา เป็นไปตามข้อบังคับการประชุม และไม่ได้กระทำขัดต่อกฎหมาย แต่หากจะมีใครไปยื่นร้องเรื่องจริยธรรมก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ตามกระบวนการต้องไปยื่นร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้พิจารณาส่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณา โดยในคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการอาจเขียนไว้แทบทุกคน
ส่วนประเด็นที่ตุลาการมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 ชี้ว่าในมาตรา 26 ไม่มีข้อความใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 93 และมาตรา 94 โดยตุลาการเสียงข้างน้อยมี 2 คน คือ นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม และนายจิรนิติ หะวานนท์ เห็นว่า ในมาตรา 26 ของ ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะมีการยกเลิกมาตรา 131 ทั้งมาตรา หากมีการทุจริตเลือกตั้งและต้องมีการเลือกตั้งใหม่ใน 1 ปี ต้องมีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ด้วย แต่มาตราดังกล่าวถูกตัดทิ้งไป พร้อมกับให้ข้อสังเกตว่า ต้องติดตามว่าจะมีปัญหาใดในทางปฏิบัติในการจัดเลือกตั้งหรือไม่
ขณะที่ตุลาการเสียงข้างมาก 7 คน เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องบัญญัติไว้ เพราะว่าใช้ไม่ได้อยู่แล้ว เนื่องจากระบบเลือกตั้งมีบัตร 2 ใบ ดังนั้นการนับคะแนนต้องแยกกันคนละส่วน โดยเฉพาะการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีอยู่ในบทบัญญัติมาตรา 27 และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจจะไปชี้ได้ว่า ต้องมีการคำนวณอย่างไร เพราะเป็นหน้าที่ของ กกต.
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า การประชุมพิจารณาวันนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอภิปรายกันไม่มาก เนื่องจากมีการพูดคุยกันมาหลายครั้งแล้ว และใช้เวลาปรึกษาหารือนานกว่าครั้งก่อนที่พิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง
ขั้นตอนหลังจากนี้ภายใน 30 วัน จะมีการออกคำวินิจฉัยกลาง จากนั้นจะมีการเผยแพร่คำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการแต่ละคน