นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ ให้ประชาชนตัดสินใจ
พรรคการเมืองอยากออกนโยบายวิจิตรพิสดารแค่ไหนก็ออกมาเลย ประชาชนจะเป็นคนตัดสินเองว่านโยบายแบบไหนที่ตอบสนองผลประโยชน์ของพวกเขา และควรไว้ใจให้พรรคใดเป็นรัฐบาล
เป็นที่ฮือฮาเมื่อพรรคเพื่อไทยนำโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมแสดงวิสัยทัศน์รัฐบาลเพื่อไทยในปี 2570 ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน และเงินเดือนผู้จบการศึกษาปริญญาตรี 25,000 บาท
เธอให้เหตุผลว่า ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 300 บาทต่อวัน จนถึงขณะนี้ผ่านมาเกือบ 10 ปี ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นมาหลักสิบบาท จึงเป็นเหตุผลให้เกิดปัญหา ‘รวยกระจุก จนกระจาย’ คนที่ได้ประโยชน์จากค่าแรงในระดับต่ำ คือ คนกลุ่มเล็กบนยอดสามเหลี่ยมเท่านั้น แต่ฐานรากซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศยังคงเดือดร้อน
ถือได้ว่าเป็นนโยบายที่แรงพอตัวเพราะแค่เปิดตัวก็เจอเสียงวิจารณ์ทั่วทิศ เริ่มจากสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน วิจารณ์ว่า อย่าหาเสียงเพราะนึกสนุก เพราะสิ่งที่พูดออกมามันเหมือนการโยนระเบิดเวลาให้เจ้าของกิจการ การหาเสียงแบบนี้เป็นการโยนภาระให้ภาคเอกชน แต่ตัวเองได้คะแนนเสียงซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง นอกจากนี้ นโยบายดังกล่าวจะกระทบต่อนักลงทุนต่างประเทศเพราะจะไม่กล้าเข้ามาลงทุน การออกมาพูดแบบนี้ส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจทั้งระบบ
ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะหน้าพรรคภูมิใจไทยถึงกับหัวเราะ บอกว่า ฟังดูดีแต่จะทำได้จริงหรือเปล่าไม่รู้
ฟังเสียงนักธุรกิจกันบ้าง สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย น้ำเสียงออกไปในทางไม่เห็นด้วย ระบุว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในช่วงที่ผ่านมา มีความเหมาะสมแล้ว โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มยังไม่ฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิดมากนัก ส่วนร้านขายอาหารที่มีลูกจ้างมากกว่า 20 คนบอกว่าจากสถานการณ์ปัจจุบันที่ต้นทุนต่าง ๆ ทั้งวัตถุดิบ แก๊สหุงต้ม น้ำมัน ราคาปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากต้องขึ้นค่าแรงให้กับลูกจ้างในร้านเกือบเท่าตัวเป็นภาระที่หนักขึ้นมาก ไม่รู้ว่าร้านค้าจะอยู่ได้นานแค่ไหนหรืออาจถึงขั้นต้องปิดกิจการ
ที่กล่าวมาคือความเห็นของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายนี้ที่สุดคือผู้ใช้แรงงานทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นแรงงานคอปกขาวหรือคอปกน้ำเงิน จะทำงานใช้แรงหรือใช้สมอง ตราบใดที่ไม่ใช่เจ้าของกิจการต้องรับจ้างเขาแลกค่าจ้างก็ถือเป็นแรงงานเหมือนกันหมด
อีกเสียงหนึ่งที่ต้องฟังคือนิสิตนักศึกษาที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงานและกลุ่ม First Jobber นโยบายหนึ่ง ๆ ส่งผลกระทบกับหลายภาคส่วน แล้วจะฟังทุกคนได้ยังไง? ไม่ยาก การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งถือว่าเสียงประชาชนคือเสียงสวรรค์ Vox Populi, Vox Dei พรรคการเมืองอยากออกนโยบายวิจิตรพิสดารแค่ไหนก็ออกมาเลย ประชาชนจะเป็นคนตัดสินเองว่านโยบายแบบไหนที่ตอบสนองผลประโยชน์ของพวกเขา และควรไว้ใจให้พรรคใดเป็นรัฐบาล การแข่งขันกันทางการเมืองควรแข่งกันที่นโยบาย ไม่มีประชาชนคนไหนรังเกียจนโยบายที่มีประโยชน์ เพราะสิ่งที่น่ารังเกียจยิ่งกว่าคือพรรคที่หาเสียงไว้แล้วทำไม่ได้!