“ก้าวไกล” ยันหนุนเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ แต่ต้องทำทั้งระบบ นายจ้างอยู่รอดด้วย
“ศิริกัญญา” ยืนยัน “ก้าวไกล” สนับสนุนเพิ่ม “ค่าแรงขั้นต่ำ” ควบคู่ช่วยผู้ประกอบการ-พัฒนาทักษะแรงงาน-ลดค่าครองชีพ ย้ำต้องการแก้ทั้งระบบ หวังให้นายจ้างอยู่รอด ลูกจ้างอยู่ได้
เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2565 น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน และเงินเดือนขั้นต่ำปริญญาตรี 25,000 บาทขึ้นไป ว่า หลังจากได้ฟังคำอธิบายของผู้เสนอนโยบายคือพรรคเพื่อไทย ทำให้ทราบว่านโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท และเงินเดือนเริ่มต้นสำหรับปริญญาตรีที่ 25,000 บาท เป็นเป้าหมายที่ผู้เสนอนโยบายต้องการทำให้ได้ภายในปี 2570 โดยมีสภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยประกอบ ซึ่งถือว่าเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับพรรคก้าวไกล ที่สนับสนุนการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เพียงแต่วิธีการที่ใช้แตกต่างกัน
“วิธีการที่พรรคก้าวไกลเสนอไปก่อนหน้านี้ คือให้แก้ที่ระบบการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากปัจจุบันไม่มีฐานให้พูดคุยกันในคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) เพื่อกำหนดเลยว่า ค่าแรงขั้นต่ำควรจะเป็นเท่าไหร่ เราจึงเสนอให้แก้กฎหมายคุ้มครองแรงงานว่าด้วยค่าแรงขั้นต่ำ ว่าต้องปรับขึ้นอัตโนมัติและปรับขึ้นทุกปี โดยคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจ คือจีดีพีโตเท่าไหร่ และคำนึงถึงค่าครองชีพหรือเงินเฟ้อว่าเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ปัจจัยอะไรเพิ่มขึ้นมากกว่าก็นำปัจจัยนั้นมาเป็นฐานในการคำนวณปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำขั้นต้นในแต่ละปี ที่จะพูดคุยบนโต๊ะของบอร์ดค่าจ้าง ก่อนให้บอร์ดฯ ตัดสินใจอีกครั้ง เพื่อให้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามสภาวะเศรษฐกิจ ตามค่าครองชีพ และปรับขึ้นทุกปี เพราะหากปรับขึ้นคราวละมากๆ ภายในครั้งเดียว เราก็เข้าใจความรู้สึกของฝั่งผู้ประกอบการ” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ของนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาทต่อวัน ตามที่พรรคก้าวไกลประกาศ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ย้อนกลับไปปี 2562 พรรคอนาคตใหม่ก็เสนอแนวทางเดียวกันคือไม่ได้แข่งกันที่จำนวนเงินว่าควรปรับเพิ่มเป็นเท่าไหร่ แต่พูดถึงการแก้ไขที่ระบบ และทำให้ดูว่าจากปี 2555 ที่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท มาจนถึงวันนี้ หากคำนวณตามวิธีของพรรคก้าวไกล ค่าแรงจะเพิ่มเป็นเท่าไหร่ ซึ่งเราคิดว่าเป็นวิธีที่ยุติธรรมต่อทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง
“เราเห็นใจทั้ง 2 ฝ่าย แต่เห็นใจฝั่งลูกจ้างมากกว่า เพราะต้องยอมรับว่ามีอำนาจต่อรองน้อยกว่า ยังไม่นับว่าองค์ประกอบภายในบอร์ดค่าจ้างซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคีประกอบด้วย ฝ่ายรัฐ ฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง ตัวแทนฝั่งลูกจ้าง 5 คน มาจากการคัดเลือกกันเองภายในองค์กรคือมาจากสหภาพ และในประเทศไทย ก็มีจังหวัดเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นที่มีสหภาพ ดังนั้น จึงต้องเพิ่มอำนาจการต่อรองของลูกจ้าง ด้วยการกำหนดในกฎหมายคือพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานที่พรรคก้าวไกลเสนอ ว่าค่าจ้างต้องปรับอัตโนมัติขึ้นไปทุกปี” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า การที่นายจ้างต้องปรับเพิ่มค่าแรงเป็น 450 บาท อาจเป็นตัวเลขที่เยอะ พรรคก้าวไกลจึงมีแผนช่วยเหลือ เช่น สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รัฐจะเยียวยา 6 เดือนแรกที่มีการประกาศใช้ค่าแรงขั้นต่ำใหม่ รวมถึงช่วยเหลือเงินประกันสังคมที่จะให้งดจ่ายเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อชดเชยส่วนของค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น และมีอัตราภาษีใหม่สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เริ่มที่ 10% ไต่ระดับขั้นบันได ต่างจากปัจจุบันที่เริ่มต้นที่ 15%
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า ในฝั่งลูกจ้างก็จำเป็นต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานและทักษะ เพราะการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ แม้มีความจำเป็นต้องทำ แต่ไม่มีความยั่งยืนหากทักษะแรงงานไม่ได้รับการยกระดับ พรรคก้าวไกลจึงเสนอให้มีโครงการ Upskill และ Reskill สำหรับทักษะพื้นฐาน จะมีการเรียนออนไลน์ ส่วนทักษะขั้นสูง อาจมีทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อให้ได้ประกาศนียบัตร สามารถขอเพิ่มค่าแรงจากนายจ้างได้ง่ายขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยให้แรงงานในปัจจุบันสามารถหางานใหม่ได้หรือเพิ่มค่าจ้างง่ายขึ้น ยังช่วยให้เด็กจบใหม่ทุกคนได้งานดีๆ ไม่ว่าเขาเรียนจบด้านใด สามารถปรับทักษะได้ตลอด
น.ส.ศิริกัญญา ยังพูดถึงการปรับเงินเดือนเริ่มต้นระดับปริญญาตรี จาก 15,000 เป็น 25,000 บาท ว่าเงินเดือนของคนจบปริญญาตรี ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมานานมาก แต่เราก็ไม่ต้องการให้มีการปรับเงินเดือนทุกครั้ที่มีการเลือกตั้ง เพราะต้องการให้ค่าแรงปรับขึ้นตามกลไกตลาดมากกว่า สำหรับพรรคก้าวไกล เราไม่ได้กำหนดเงินเดือนเป้าหมาย โดยเมื่อปี 2554 รัฐบาลพรรคเพื่อไทยใช้วิธีปรับเงินเดือนของข้าราชการระดับปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท ดังนั้น หากจะเพิ่มเงินเดือนเริ่มต้นเป็น 25,000 บาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า แม้เรามีความกังวลเรื่องภาระทางการคลัง แต่หากจะทำเรื่องนี้ ก็ต้องทำควบคู่กับการรีดประสิทธิภาพของระบบราชการให้มากกว่านี้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าข้าราชการที่จบใหม่ทำงานไม่ได้ แต่ปัญหาอยู่ที่ระบบ ทำให้เมื่อเข้าไปแล้วไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ นี่คือความจำเป็นที่ต้องปฏิรูประบบราชการก่อน
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า พรรคก้าวไกลได้เสนอเรื่องการขึ้นค่าแรงควบคู่ไปกับนโยบายลดค่าครองชีพ เช่น เรื่องค่าไฟ ที่ไม่ใช่แค่การอุดหนุนเพื่อทำให้ค่าไฟลดลง แต่แก้ไขที่ต้นตอของปัญหาการให้สัมปทานโรงไฟฟ้า เพื่อให้ค่าไฟลดลงถาวร ไม่ได้ขึ้นอยู่กับราคาของแก๊สธรรมชาติเช่นปัจจุบัน ส่วนเรื่องขนส่งสาธารณะ ทั้งรถไฟฟ้าและรถเมล์ จะสนับสนุนค่าโดยสารระบบขนส่งสาธารณะร่วมกัน เพื่อไม่ต้องเก็บค่าแรกเข้า 15 บาททุกๆ ครั้งที่เริ่มขึ้นรถโดยสารไม่ว่าประเภทใด รวมถึงน้ำประปาดื่มได้ที่ประชาชนไม่จำเป็นต้องเสียเงินซื้อ
รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ขอยืนยันว่าพรรคก้าวไกลให้ความสำคัญกับพี่น้องแรงงาน นโยบายที่เราเสนอมีตัวแทนเครือข่ายแรงงานเข้ามาคิดและออกแบบ รวมถึงสนับสนุนการจัดตั้งสหภาพสำหรับฟรีแลนซ์หรือคนทำงานในภาครัฐ เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง โดยก่อนหน้านี้ พรรคได้เสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ เข้าสู่สภาแล้ว แต่ยังไม่ได้รับพิจารณา
“เราเข้าใจดีถึงปัญหาที่ทุกคนกำลังเจอ พยายามเสนอแนวทางแก้ไข โดยไม่ใช่การแก้เฉพาะหน้า แต่มองทั้งองคาพยพว่าให้นายจ้างอยู่รอด ลูกจ้างอยู่ได้ ทุกอย่างต้องนึกถึงต้นตอปัญหา แก้อย่างเป็นระบบ ทั้งเรื่องค่าแรงและสิทธิสวัสดิการต่างๆ ที่ไม่ได้เป็นตัวเงิน รวมถึงการลดค่าครองชีพ เพิ่มทักษะคนทำงาน ซึ่งทั้งหมดจะเป็นการเพิ่มรายได้แก่ประชาชนอย่างยั่งยืน” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว