วิบาก"พรรคเล็ก”ปั่นกระแส สู้กระสุน “พลังธรรมใหม่”ลุ้นดีลรวม 20 พรรค

วิบาก"พรรคเล็ก”ปั่นกระแส สู้กระสุน “พลังธรรมใหม่”ลุ้นดีลรวม 20 พรรค

ปรากฎการณ์ "หนีตาย" ของ "พรรคเล็ก​" ตอนนี้มี 2โมเดล คือ "ควบรวม" และ "สู้ต่อ" กับความพยายาม "สร้างแนวร่วมพรรคเล็ก" นาทีนี้ อาจเป็นทางที่ไม่ง่าย ที่จะได้ "ส.ส." เข้าสภาฯ

         แน่นอนว่ากติกาเลือกตั้งที่เปลี่ยนไป เป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คนละเบอร์ และใช้สูตรคำนวณแบบเติมเต็ม ด้วยจำนวน 100 คนหาร เป็น “ทางลำบาก” ของพรรคเล็กพรรคน้อย โดยเฉพาะพรรคที่ไร้เงา “ส.ส.” แบบเขตเลือกตั้ง


         ดังนั้น “พรรคเล็ก” ที่ต้องการมีที่ยืนในสภาฯ จึงจำเป็นต้องดิ้นเพื่อหาทางรอด ที่ผ่านมาเราได้เห็นโมเดลหนีตายมาแล้ว ด้วยการ “ยุบพรรค- เลิกกิจการ” แล้วย้าย “ส.ส.” ไปอยู่กับ พรรคการเมืองใหญ่ คือ พรรคพลังประชารัฐ ที่ผ่านมามี 3 พรรค  ได้แก่ พรรคประชานิยม ของ “พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์” พรรคประชาชนปฏิรูป ของ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” และ พรรคประชาธรรมไท ของ “พิเชษฐ สถิรชวาล”

 

         แต่เมื่อห้วงเวลาของสภาฯ ใกล้หมดวาระ และต้องเลือกตั้งใหม่ "โมเดลเลิกกิจการ” เพื่อหวังพึ่งบารมีพรรคใหญ่ให้อยู่รอด ย่อมใช้ไม่ได้อีกต่อไป เพราะพรรคใหญ่ล้วนมี เจ้าของ-จองลำดับ ใน ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ และ ผู้สมัครแบบเขตไว้แล้ว

 

         ดังนั้น อีกโมลเดลที่เห็นกันคือ "การควบรวม” โดยล่าสุด นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ เปิดดีล 20 พรรคการเมือง ทั้งที่เป็นพรรคที่มี ส.ส.ในสภาปัจจุบัน เช่น พรรคครูไทยเพื่อประชาชน ของ “ปรีดา บุญเพลิง” พรรคพลเมืองไทย ของ “สัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์” และ พรรคนอกสภา

วิบาก\"พรรคเล็ก”ปั่นกระแส สู้กระสุน “พลังธรรมใหม่”ลุ้นดีลรวม 20 พรรค

         ทว่า แนวคิดควบรวมนี้ ยังไม่มีการตกผลึกที่ชัดเจน ในแนวทางเดินหน้า เพราะด้วยกติกาของการทำพรรคการเมือง จำเป็นที่แต่ละพรรค ต้องฟังเสียงของกรรมการบริหารพรรค และสมาชิกพรรคก่อนตัดสินใจใดๆ

 

         อย่าง “ครูปรีดา” บอกว่าในวันที่ 12 ธันวาคม นี้ กรรมการบริหารพรรคจะหารือถึงประเด็นควบรวมพรรค หากมีมติอย่างไร จะจัดประชุมพรรคเพื่อขอมติจากสมาชิก ส่วนแนวโน้มยังเป็น 50:50 ระหว่าง "เดินหน้าสู้ต่อ" หรือ “ควบรวม"

 

         ความกังวลสำคัญที่อยู่ในใจ “ครูปรีดา” คือ “ใครจะเป็นใหญ่” เพราะด้วยตำแหน่งหัวหน้าพรรค หลายพรรค เมื่อมาอยู่ในพรรคเดียว ย่อมมีความรู้สึกอยากเป็น “เบอร์ใหญ่” ไม่ว่าตำแหน่ง หัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค ดังนั้นหากแบ่งกันไม่ลงตัว จะกลายเป็นปัญหาในลำดับต่อมา นอกจากนั้น คือ “อุดมการณ์” ที่เริ่มมาตั้งแต่ก่อตั้ง ซึ่งดึงศรัทธาของประชาชนมาไว้ ในฐานะสมาชิกพรรคการเมือง

วิบาก\"พรรคเล็ก”ปั่นกระแส สู้กระสุน “พลังธรรมใหม่”ลุ้นดีลรวม 20 พรรค

         “หากมาควบรวมกันแล้ว สมาชิกพรรคที่เชื่อในพรรค ศรัทธาในอุดมการณ์ของพรรค จะเปลี่ยนไปหรือไม่ เพราะตอนที่เขาสมัครเป็นสมาชิกพรรค เพราะอยากเป็นสมาชิกพรรคนั้น แต่ต่อมาเมื่อพรรคนั้นไปควบรวมพรรคอื่น สมาชิกพรรคจะตามมาด้วยหรือไม่ ซึ่งสมาชิกนั้นเป็นปัจจัยสำคัญต่อการลงคะแนนเลือกตั้ง หากเขาไม่ตามมาด้วย อาจทำให้พรรคควบรวมนั้น เสียคะแนนไปให้พรรคอื่น” ปรีดา เปิดใจ

 

         ทั้งนี้ ในส่วนของพรรคครูไทยเพื่อประชาชน ที่ยึดอุดมการณ์ทำพรรค เพื่อรับใช้ประชาชนด้านการศึกษา ส่วนใหญ่มี “ครูภาคอีสาน” เป็นฐานคะแนนที่สำคัญ

 

         ส่วนประเด็นเรื่อง ปัจจัยที่ใช้เลือกตั้ง “ครูใหญ่ปรีดา” บอกว่า ไม่เป็นปัญหา เพราะ พรรคไม่ซื้อเสียง ส่วนการลงสมัคร หรือเงินหาเสียงนั้นให้เป็นการลงขันของสมาชิกพรรคและผู้สมัคร ส.ส.

 

 

         ขณะที่ พรรคพลเมืองไทย “สัมพันธ์” ยอมรับว่าได้พูดคุย แต่ขณะนี้ยังไม่มีทิศทางหรือแนวทางใดที่ชัดเจน ขณะเดียวกัน ส่งลูกสาว “ศิลัมพา เลิศนุวัฒน์” ลงพื้นที่พบประชาชน กทม. ย่านคลองสาน ต่อเนื่อง

 

         อย่างไรก็ดีในพรรคเล็ก ที่ตัดสินใจ “เดินหน้า” สู้ศึกเลือกตั้ง ชัดเจนแล้ว มีทั้ง พรรคไทยศรีวิไลย์ ของ “มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์” พรรคประชาธิปไตยใหม่ ของ “สุรทิน พิจารณ์” เพราะมั่นใจใน “แสง” ของตัวเอง โดยเฉพาะ “มงคลกิตติ์” ที่ขยันสร้างกระแสรายวันจากโซเชียลมีเดียของตัวเองและ การแถลงข่าวรายวันที่รัฐสภา

 

วิบาก\"พรรคเล็ก”ปั่นกระแส สู้กระสุน “พลังธรรมใหม่”ลุ้นดีลรวม 20 พรรค

         ส่วน “สุรทิน” นั้น แม้จะไม่ใช้เวทีสภาฯเพื่อฉายแสง แต่พบว่ามีการเดินเกมมวลชนในหลายพื้นที่ โดยเน้นการเข้าถึง “แกนนำ” กลุ่มมวลชน ที่มีปัญหากับ “รัฐ” โดยเฉพาะ เรื่องที่ดิน หนี้สิน เกษตร ซึ่งเป็นภารกิจต่อยอด

 

         ที่ “สุรทิน” หรือ บรรดาม็อบ เรียกว่า “ครูทิน” เข้าไปเจรจา รับปัญหา “ม็อบ” ที่มาเรียกร้องในพื้นที่ กทม. ตามที่ “ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มอบหมาย

 

         กับแนวคิดควบรวมพรรคเล็ก “สุรทิน” บอกแบบตรงไปตรงมาว่า รวมกันมีโอกาส “ตาย” มากกว่า “ได้” เพราะจากประสบการณ์ที่เคยเป็น หัวหน้ากลุ่มสหพรรค ที่มีสมาชิก 30 พรรค บอกว่า

 

         “เป็นเรื่องที่แต่ละคนอุดมการณ์ต่างกัน รวมถึงความอยากเป็นจ่าฝูง มีตำแหน่งใหญ่ ทำให้เกิดความผิดใจกัน เดินไปกันลำบาก อีกทั้งหากพรรคเล็กรวมกัน โอกาสสู้พรรคใหญ่ก็ยาก เพราะแพ้ที่กระแสและกระสุน”

วิบาก\"พรรคเล็ก”ปั่นกระแส สู้กระสุน “พลังธรรมใหม่”ลุ้นดีลรวม 20 พรรค

         “ใครจะไปรวมก็ขอให้โชคดี แต่ผมไม่ไป เพราะจากประสบการณ์แล้ว พรรคประชาธิปไตยที่มีองค์กร มีกลุ่มสนับสนุนและมีนโยบายทางด้านสังคม เชื่อว่าจะไปต่อได้ เลือกตั้งครั้งหน้าเชื่อว่าจะได้ คะแนนบัญชีรายชื่อ 2.5 ล้านคะแนน เพราะเชื่อว่ามวลชนที่มีปัญหา มาเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ และตนเป็นผู้ไปดูแล จะกาบัตรให้พรรคประชาธิปไตยใหม่เป็นสิ่งตอบแทน และมีเปอร์เซ็นต์ได้ส.ส.เข้าสภา เกิน 1 คน” สุรทิน มั่นใจ


         โดยพรรคประชาธิปไตยใหม่ พร้อมส่งผู้สมัครแบบเขต 250 คน และ บัญชีรายชื่อ 100 คน ขณะที่ส.ส.ที่คาดหวังจะเข้าสภาฯ มั่นใจจะได้จาก “ระบบบัญชีรายชื่อ” ส่วนกลยุทธ์ที่หาเสียงเลือกตั้ง ไม่ได้หว่านไปทั่ว แต่จะเน้นเจาะกลุ่มเดือดร้อน เข้าหา "แกนนำ-ผู้มีอิทธิพลของกลุ่ม” เพราะเชื่อว่าการแก้ปัญหาได้หรือไม่ อยู่ที่การเมืองเป็นหลัก และการเมือง การเลือกตั้งรอบนี้ เป็นศึกครั้งสุดท้ายของ “ครูทิน”

 

         ขณะที่พรรคประชาภิวัฒน์ ของ “สมเกียรติ ศรลัมพ์” และมี “นันนา สงฆ์ประชา” เป็น ส.ส. พบความเคลื่อนไหวที่จะย้ายสังกัดไปร่วมงานกับ “พรรคภูมิใจไทย”

 

         จากโมเดล “เลิกกิจการ” ไปสู่การ “ควบรวม” เป็น พรรคแนวร่วม อาจเป็นทางที่ “พรรคเล็ก-ส.ส.ปัดเศษ” คิดว่า “จะอยู่ให้รอด” ในกติกาเลือกตั้งใหม่ ที่ไม่เอื้อให้ “พรรคเล็ก-พรรคทางเลือก” อยู่ได้ แต่แนวทางที่คิดจะทำ ต้องวัดผลเอาข้างหน้าว่า “ฐานมวลชน” จะยังศรัทธาและกาคะแนนให้ เป็นแต้มที่พอ ต่อการส่ง “ส.ส.” เข้าสภาฯหรือไม่

 

         ทว่า ในการเลือกตั้ง ที่พรรคใหญ่สู้กันดุเดือด ทั้งเกมสร้างกระแส และมีพลังกระสุนสนับสนุนเต็มที่ นาทีนี้ยังมองไม่เห็นทางว่าบนเส้นทางวิบากภายใต้กติกาใหม่ พรรคเล็ก “จะอยู่รอด” ได้อย่างไร?.