กฎหมายอาญากับการปรับความคิดเกี่ยวกับความเป็นอาชญากรรม
การให้ความสำคัญแก่ทรัพยากรมนุษย์เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญสำหรับการก้าวไปสู่สังคม 4.0 ในปริมณฑลกฎหมายอาญา ภารกิจหลักของกฎหมายอาญาคือ การทำให้สังคมมีความปลอดภัยและสงบเรียบร้อย
อย่างไรก็ตาม ความผิดอาญาก็ทำให้บุคคลกลายเป็น “ผู้มีความผิด” และการต้องโทษอาญาก็ส่งผลกระทบทางลบต่อบุคคลนั้น
เช่น การถูกจำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนไหวและสิทธิอื่น ๆ จากการถูกจำคุก การสูญเสียทรัพย์สินจากการปรับ ผลกระทบต่อชื่อเสียงจากการต้องคำพิพากษาอาญา และการสูญเสียค่าใช้จ่ายและเวลาในการเข้าร่วมกระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ ความผิดอาญา ในลักษณะและปริมาณที่ไม่เหมาะสมก็อาจนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ อย่างสภาวะผู้ต้องขังล้นเรือนจำด้วย สถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นไปในทางตรงกันข้ามกับการให้ความสำคัญแก่มนุษย์ทั้งสิ้น
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการประกาศใช้กฎหมายจำนวนหนึ่งที่น่าจะทำให้การใช้กฎหมายอาญาในประเทศไทยเข้ารูปเข้ารอยและการจัดการกับปัญหาต่าง ๆ โดยใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน บทความนี้จะพาผู้อ่านไปทบทวนเรื่องเหล่านี้กัน
- การปรับปรุงระบบการจัดการกับสถานการณ์ด้านยาเสพติด: ประมวลกฎหมายยาเสพติดที่ประกาศใช้เมื่อปลายปี พ.ศ. 2564
นโยบายด้านยาเสพติดอาจเป็นไปในทางห้ามเด็ดขาด ลดทอนความเป็นอาชญากรรม หรือทำให้ถูกกฎหมาย สำหรับนโยบายโดยรวมของประเทศไทยนั้นเคลื่อนที่จากการห้ามเด็ดขาดไปสู่การลดทอนความเป็นอาชญากรรมในกรณีการจัดการกับ “การใช้” ยาเสพติดภายใต้นโยบายที่เน้นด้านสุขภาพของผู้ใช้ยาเสพติดมากขึ้น
ดังนั้น จากกรอบคิดที่ว่าผู้ใช้ยาเสพติดแบบส่วนตัวสมควรถูกลงโทษทางอาญา จึงเปลี่ยนเป็นว่ารัฐควรนำมาตรการอื่นในด้านสุขภาพมาใช้
ประมวลกฎหมายยาเสพติดที่ประกาศใช้เมื่อปลายปี พ.ศ. 2564 จึงสะท้อนความคิดนี้ โดยหลักการที่น่าสนใจอยู่ในภาค 2 ว่าด้วยการบำบัดรักษาและการฟื้นฟูสภาพทางสังคมแก่ผู้ติดยาเสพติด
โดยประกอบด้วย การบำบัดพฤติกรรมการเสพยาเสพติด (การฟื้นฟูสมรรถภาพ) และการสงเคราะห์และสนับสนุนให้ผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่านการบำบัดรักษาได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ (การฟื้นฟูสภาพทางสังคม)
ทั้งนี้ แม้การเสพและการครอบครองยาเสพติดเพื่อเสพจะยังคงเป็นความผิดอาญาและมีโทษทางอาญา (มาตรา 104, 105, 107, 162-164) แต่ก็มีหลักการต่างๆ ที่บุคคลดังกล่าวสามารถเลือกเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษายาเสพติดได้
และหากผลการบำบัดรักษาสำเร็จ ก็จะไม่มีความผิดอาญา (มาตรา 113-114) หรือหากคดีขึ้นไปสู่ศาลและศาลเห็นว่ายังไม่สมควรลงโทษ ศาลก็สามารถมีคำสั่งให้ดำเนินกระบวนการในทำนองเดียวกันได้ (มาตรา 168-169)
นอกจากนี้ ในกรณีที่คดีขึ้นไปสู่ศาล ศาลก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีไปในแนวทางดังกล่าวได้ยกตัวอย่างเช่น ศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีโดยคำนึงถึงการสงเคราะห์ให้จำเลยเลิกเสพยาเสพติดโดยการบำบัดรักษายิ่งกว่าการลงโทษ และหากจะลงโทษจำเลยก็ให้พิจารณาลงโทษให้เหมาะสมกับจำเลยแต่ละคน (มาตรา 165)
หรือศาลมีอำนาจเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัยหรือนำเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญามาใช้แทนการลงโทษ เมื่อศาลจะมีคำพิพากษาว่าผู้กระทำมีความผิด (มาตรา 166) เป็นต้น
- การทำให้การกระทำที่เคยเป็นความผิดอาญาไม่เป็นความผิดอาญาอีกต่อไป: พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565
แรกเริ่มเดิมทีการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายซึ่งส่งผลให้ผู้กระทำถูกปรับเกือบทั้งหมดเป็นการกระทำความผิดอาญา ด้วยวิธีการคิดแบบนี้ การกระทำความผิดเล็กน้อยที่ไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดศีลธรรม
จึงส่งผลให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเต็มรูปแบบ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบกับเวลาและค่าใช้จ่ายของผู้ถูกกล่าวหาเป็นอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ การบรรเทาผลในทางลบดังกล่าวหลายวิธีการถูกนำมาใช้ เช่น การกำหนดให้เจ้าพนักงานมีอำนาจเปรียบเทียบปรับในความผิดที่มีโทษตามที่กำหนด แต่การแก้ไขปัญหาดังกล่าวก็ยังไม่ใช่การจัดการกับแก่นแท้ของปัญหา จึงมีความคิดที่จะปรับปรุงการกระทำความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มีโทษปรับทางอาญาให้เป็นการปรับในรูปแบบอื่น
และในที่สุดจึงมีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 ขึ้น โดยมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 และส่วนหลัก ๆ จะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 240 วัน นับแต่วันประกาศดังกล่าว
สาระสำคัญของพระราชบัญญัติฯ ที่ควรรู้ อาทิ การปรับเป็นพินัยไม่ใช่โทษอาญา (มาตรา 5) และการกระทำความผิดทางพินัยจะไม่ถูกบันทึกในประวัติอาชญากรรมหรือในฐานะเป็นประวัติอาชญากรรม (มาตรา 34) การกำหนดค่าปรับเป็นพินัยจะถูกพิจารณาอย่างเหมาะสมกับข้อเท็จจริง
ได้แก่ ระดับความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ชุมชนหรือสังคมและพฤติการณ์อื่นอันเกี่ยวกับสภาพความผิดทางพินัย ปัจจัยต่างๆ ของผู้กระทำความผิดทางพินัย ผลประโยชน์ที่ผู้กระทำความผิดทางพินัยหรือบุคคลอื่นได้รับจากการกระทำ และสถานะทางเศรษฐกิจของผู้กระทำความผิดทางพินัย (มาตรา 9)
นอกจากนี้ ยังมีหลักการว่าด้วยการผ่อนชำระค่าปรับทางพินัย (มาตรา 9) และสำหรับผู้กระทำความผิดทางพินัยที่เป็นบุคคลธรรมดา ผู้กระทำสามารถยื่นคำร้องเพื่อ
- ให้มีการกำหนดค่าปรับเป็นพินัยต่ำกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้
- ขอทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับเป็นพินัย
ในกรณีกระทำความผิดทางพินัยเพราะเหตุแห่งความยากจนเหลือทนทานหรือเพราะความจำเป็นอย่างแสนสาหัสในการดำรงชีวิต หรือยื่นคำร้องเฉพาะกรณีที่ 2) ในกรณีที่ผู้นั้นไม่มีเงินชำระค่าปรับเป็นพินัยและมีการแสดงเหตุผลอันสมควร (มาตรา 10)
ทั้งนี้ การกระทำความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวในพระราชบัญญัติจำนวนหนึ่ง (มีจำนวนถึง 168 ฉบับ) จะถูกเปลี่ยนเป็นการกระทำความผิดทางพินัยโดยอัตโนมัติ และความผิดในลักษณะเดียวกันในพระราชบัญญัติอีกจำนวนหนึ่ง (33 ฉบับ) อาจถูกเปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัยได้ในอนาคต
จากการทบทวนข้างต้น ถือเป็นแนวโน้มที่ดีที่กฎหมายคำนึงถึง “มนุษย์” ในกฎหมายมากขึ้น.