แกะรอย “ก้าวไกล” ทอดไมตรี “เพื่อไทย” ถอยคนละก้าว สานฝันตั้งรัฐบาล
การรีแบรนด์สู่ “พรรคซ้ายกลาง” ของ “ก้าวไกล” ถูกพูดจากปาก “ทิม พิธา” ครั้งแรกเมื่อเดือน ก.ย.2565 ในวันเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร กทม.ของพรรค เพื่อให้ “ความฝัน” เป็นจริง เพราะแกนนำพรรคทราบดีอยู่แล้วว่า หากยังดึงดันสุดโต่งต่อไป คงไม่มีพรรคการเมืองไหนเอาด้วย
“ผมขอยืนยันว่า เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับพรรคเพื่อไทยมาตลอด ตั้งแต่ในอดีต ปัจจุบัน และหวังว่าในอนาคต เมื่อเราเริ่มแถลงนโยบายก็มีหลายเรื่องที่เห็นตรงกัน ถ้าเราเป็นรัฐบาลร่วมกันก็สามารถที่จะแบ่งงานกันทำได้ และทำงานไปในทิศทางเดียวกัน”
คือคำยืนยันจาก “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ภายหลังเกิดประเด็น “วิวาทะ” ของ “ลูกพรรค” ในเรื่องนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ “เพื่อไทย” ก่อนหน้านี้ จนสุดท้าย “แกนนำพรรค” ต้องกำชับให้ “เบา ๆ หน่อย”
นโยบายสัญญาประชาคมของเพื่อไทยในเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ กลายเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในสังคมขณะนี้ ทำให้ “ก้าวไกล” อยู่นิ่งเฉยไม่ได้ โดย “ทิม พิธา” ออกโรงยืนยันว่า มีนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเช่นกัน หากเป็นรัฐบาล ขึ้นทันที 450 บาท แซงหน้า “เพื่อไทย” ที่จะขึ้นภายใน 4 ปี 600 บาท
แม้ว่าในช่วงล่มหัวจมท้ายเป็น “ฝ่ายค้าน” มาด้วยกันตลอด มีจุดร่วม-เห็นต่างกันบ้าง บางครั้งออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันเอง แต่ท้ายที่สุด “ก้าวไกล” ในขวบปีที่ 4 รู้แล้วว่า ลำพังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาล “พรรคเดียว” ได้ เนื่องจากฐานเสียงยังมีไม่เพียงพอ
ที่สำคัญความนิยม “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ยังไม่เท่ายี่ห้อ “ทักษิณ ชินวัตร”
ดังนั้นการวาดฝันว่าจะเป็นรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งหน้า จึงจำเป็นต้องมี “พันธมิตร” ร่วมอุดมการณ์เดียวกันนั่นคือ “เพื่อไทย”
การออกมาทอดไมตรีครั้งนี้มิใช่ครั้งแรก แต่สิ่งเหล่านี้มีความพยายามมาสักพักแล้วจาก “แกนนำค่ายสีส้ม” ที่พยายาม “รีแบรนด์” พรรคก้าวไกล จาก “ซ้ายจัดสุดโต่ง” สู่ “พรรคซ้ายกลาง” ลักษณะเดียวกับพรรครีพับลิก ออง มาร์ช ที่ “เอมมานูเอล มาครง” ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เคยเป็นหัวหน้าพรรค
นั่นจึงอาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ “ขุนพลทางความคิด” อย่าง “ปิยบุตร แสงกนกกุล” จำเป็นต้องยุติบทบาทกับ “ก้าวไกล” เพราะ แนวทางของ “มาครง” เคยถูก “ปิยบุตร” วิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงการสลายการชุมนุมของม็อบฝรั่งเศสมาโดยตลอด
ทำให้ ส.ส.-สมาชิกที่ “สุดโต่ง” ถูกลดบทบาทลงไป เช่น “เจี๊ยบ อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล-เบญจา แสงจันทร์” เป็นต้น ยังเหลือ “รังสิมันต์ โรม” ศิษย์ก้นกุฏิ “ปิยบุตร” ที่ปัจจุบันรับหน้าเสื่อเป็น “โฆษกก้าวไกล” แสดงความเห็นทางการเมืองอยู่ เพราะคอนเนกชั่นได้หลายขั้วในพรรค
การรีแบรนด์สู่ “พรรคซ้ายกลาง” ของ “ก้าวไกล” ถูกพูดจากปาก “ทิม พิธา” ครั้งแรกเมื่อเดือน ก.ย.2565 ในวันเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร กทม.ของพรรค เพื่อให้ “ความฝัน” เป็นจริง เพราะแกนนำพรรคทราบดีอยู่แล้วว่า หากยังดึงดันสุดโต่งต่อไป คงไม่มีพรรคการเมืองไหนเอาด้วย
ดังนั้นการทอดสะพาน ยื่นไมตรีไปยัง “เพื่อไทย” พรรคคู่รัก-คู่แค้น จึงเป็นไปได้มากที่สุดที่จะได้ร่วมจัดตั้งรัฐบาล สานนโยบายต่าง ๆ ให้เป็นจริงได้
แม้ว่าบรรดาแฟนคลับ “เพื่อไทย-ก้าวไกล” จะไม่ลงรอยกัน เปิดหน้าฮึ่ม ๆ ใส่กันแทบตลอดเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา แต่บรรดาแกนนำพรรค เมื่อมาเล่นการเมืองแล้ว จำเป็นต้อง “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” เพื่อให้พรรคเดินหน้าไปต่อได้
เช่นเดียวกับ “เพื่อไทย” แม้จะรู้ดีอยู่แล้วว่า “ก้าวไกล” คือพรรคที่มาแย่งฐานเสียงไปเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ แต่ถึงจุดทีเด็ดทีขาด ก็จำเป็นต้อง “จับมือ” เป็นพันธมิตร มิฉะนั้นฝันจัดตั้งรัฐบาลคงเกิดขึ้นได้ยากเช่นกัน
“ก้าวไกล” หนักแน่นในอุดมการณ์รื้อโครงสร้างทางสังคม “เพื่อไทย” แข็งด้านนโยบายทางเศรษฐกิจ แก้ไขปากท้อง เรียกได้ว่า “สมประโยชน์” กันทั้ง 2 ฝ่าย ดังนั้นหากยอมจับมือเป็นพันธมิตรอย่างจริงจัง การเลือกตั้งครั้งถัดไปคงกวาด ส.ส.เข้าสังกัดเป็นจำนวนมากได้ไม่ยาก
ทว่า สิ่งแรกที่ทั้ง 2 พรรคควรทำก่อนเลยคือ หันหน้ามาคุยกันแบบ “เปิดอก” เคลียร์ปัญหาคาราคาซังต่าง ๆ ที่ค้างคาใจกันอยู่ เช่น “ก้าวไกล” ที่พยายาม “ก้าวข้ามทักษิณ” ส่วน “เพื่อไทย” ค่อนขอดค่ายสีส้มว่า “อนุบาลการเมือง”
หากถอยกัน “คนละก้าว” ได้เมื่อไหร่ “แลนด์สไลด์” คงไม่ใช่แค่ฝันกลางวันอีกต่อไป