เตรียมพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ 6 กำลังพล เสียชีวิต เรือหลวงสุโขทัยอับปาง
ทร.แจง สิทธิสวัสดิการ 6 กำลังพล เสียชีวิต เรือหลวงสุโขทัยอับปาง เลื่อนชั้นเงินเดือน ขอพระราชทานเลื่อนยศ เตรียมประกอบพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ
22 ธันวาคม 2565 เวลา 12.00 น. พลเรือเอก ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยถึงแผนการปฏิบัติการค้นหาและให้การช่วยเหลือกำลังพลบนเรือหลวงสุโขทัยที่อับปางอ่าวไทยว่า สำหรับการปฏิบัติการในการค้นหาและช่วยเหลือ กำลังพลเรือหลวงสุโขทัย ในวันนี้ ทาง ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ ได้สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือภาคที่ 1 จัดเรืออากาศยานของกองทัพเรือและได้ประสานกับกองทัพอากาศรวมถึงศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆเข้าร่วมในการค้นหา ซึ่งพื้นที่ในการปฏิบัติการโดยคำนวนจากทิศทางของกระแสน้ำและกระแสลมรวมทั้งบริเวณที่ตรวจพบและช่วยเหลือกำลังพลเรือหลวงสุโขทัยล่าสุดนำมาพิจารณาพื้นที่ ที่เป็นไปได้ว่ากำลังพลที่เหลือจะอยู่ตรงบริเวณดังกล่าว
โดยในวันนี้ ยังคงแบ่งพื้นที่ปฏิบัติการออกเป็น 11 พื้นที่ มีเรือและอากาศยาน รับผิดชอบการค้นหาในพื้นที่ต่างๆ ดังนี้ เรือหลวงตากสิน อยู่ในพื้นที่ค้นหาที่ 5 เรือหลวงนเรศวร อยู่ในพื้นที่ค้นหาที่ 9 และทำหน้าที่ควบคุมอากาศยาน เรือหลวงกระบุรี อยู่ในพื้นที่ค้นหาที่ 10 และ 11 เรือหลวงนราธิวาส อยู่ในพื้นที่ค้นหาที่ 12 เรือ ต.114 ลาดตระเวนเฝ้าตรวจ บริเวณหมู่เกาะอ่างทอง เรือ ต.270 อยู่ในพื้นที่ค้นหาที่ 14
ในส่วนของการปฏิบัติการของอากาศยาน เครื่องบินลาดตระเวนทางทะเลแบบดอร์เนีย จากทัพเรือภาคที่ 1 ทัพเรือภาคที่ 2 และทัพเรือภาคที่ 3 ทำการค้นหาในพื้นที่ค้นหา 6 และ 10 โดยมี เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำแบบซีฮอว์ค และ เฮลิคอปเตอร์ แบบ EC -725 ของกองทัพอากาศ รอรับการส่งกำลังบำรุงในบริเวณพื้นที่ปฏิบัติการ นอกจากนั้นจะมีกำลังทางเรือของหน่วยงานต่างๆในศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ประกอบด้วย ตำรวจน้ำ กรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึง กรมประมง ร่วมปฏิบัติการค้นหาในพื้นที่บริเวณชายฝั่ง
นอกจากนั้นในส่วนของการสำรวจใต้น้ำนั้น กองทัพเรือ ได้สั่งการให้ กองเรือทุ่นระเบิด กองเรือยุทธการ นำยานสำรวจใต้น้ำ ของเรือหลวงบางระจัน ทำการบันทึกภาพใต้น้ำบริเวณเรือหลวงสุโขทัยอับปาง เพื่อค้นหาร่างของกำลังพลที่อาจติดค้างอยู่ภายในเรือ รวมถึงการตรวจหารอยรั่วของน้ำมันที่อาจเกิดการรั่วไหล
สรุปยอดกำลังพลบนเรือหลวงสุโขทัย จำนวน 105 นาย ช่วยเหลือได้แล้ว 76 นาย เสียชีวิต 6 นาย ยังคงสูญหาย 23 นาย ประกอบด้วย
1.ว่าที่ นาวาตรี พลรัตน์ สิโรดม
2.จ่าเอก ไพร ร่วมญาติ
3. พันจ่าเอก จิราวัฒน์ เจริญศิลป์
4.จ่าเอก บุญเลิศ ทองทิพย์
5.จ่าเอก ชูชัย เชิดชิด
6. จ่าโท ธวัชชัย สาพิราช
7.จ่าโท สหรัฐ อีสา
8.จ่าตรี นพณัฐ คำวงศ์
9.จ่าตรี สถาพร สมเนื้อ
10.จ่าตรี ศราวุธ นาดี
11.จ่าตรี ศุภกิจ ทิวาลัย
12.จ่าตรี โสภณ วงษ์สนิท
13.จ่าตรี สิริธิติ งามทอง
14.พลทหาร วรพงษ์ บุญละคร
15.พลทหาร อับดุลอาชีด มะแอ
16.พลทหาร สุทธิพงษ์ หงส์ทอง
17.พลทหาร จำลอง แสนแก
18.พลทหาร ทวีศักดิ์ แซ่เชียว
19.พลทหาร จิราวัฒน์ ธูปหอม
20.พลทหาร ปรีชา รักษาภักดี
21.พลทหาร ชลัช อ้อยทอง
22.พลทหาร ชัยชนะ ช่างวาด
23.พันจ่าเอก คุณากร จริยศ
ในส่วนของผู้เสียชีวิตทั้ง 6 นาย คือ เรือโท สามารถ แก้วผลึก พันจ่าเอก สมเกียรติ หมายชอบ พันจ่าเอก อัชชา แก้วสุพรรณ์ พันจ่าเอก อำนาจ พิมที จ่าเอก จักรพงค์ พูนผล และพลทหาร อัครเดช โพธิ์บัติ ในช่วงบ่ายวันนี้ กองทัพเรือจะเคลื่อนร่างของกำลังพลทั้ง 6 นาย เดินทางกลับอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยเครื่องบิน C-130 ของกองทัพอากาศ จากกองบิน 5 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีกำหนดเดินทางถึงสนามบินอู่ตะเภา ในเวลา 14.30 น. ซึ่ง พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ จะเป็นประธานในพิธีรับกำลังพลที่เสียชีวิต โดยพิธีจะเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับอย่างสมเกียรติ
และในเวลา 17.00 น. จะมีการประกอบพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ โดยผู้เสียชีวิตทั้ง 6 นาย ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ศพอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ โดยตั้งบำเพ็ญกุศล ฯ กิจการฌาปนสถานกองทัพเรือ สัตหีบ
ในส่วนของสิทธิกำลังพลผู้เสียชีวิตนั้น กรณีนี้กองทัพเรือถือว่ากําลังพลดังกล่าวเป็นผู้ที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ จะพิจารณาบําเหน็จด้านสิทธิกําลังพลสูงสุดให้แก่กําลังพลดังกล่าว โดยจะพิจารณาเลื่อนชั้นเงินเดือน 3 - 5 ชั้น กับขอพระราชทานเลื่อนยศ 2 - 4 ชั้นยศ รวมทั้งเงินช่วยเหลืออื่น ๆ ตามสิทธิที่สมควรจะได้รับ โดยแยกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้
ชั้นยศ นาวาตรี จะขอพระราชทานเลื่อนยศเป็น พลเรือโท กับได้รับสิทธิกําลังพล ประกอบด้วย เงินประกันภัยหมู่แบบเฉพาะกิจกองทัพเรือ 500,000 บาท เงินจากกองทุนน้ําใจไทยเพื่อผู้เสียสละกองทัพเรือ 160,0000 บาท และเงินช่วยเหลืออื่น ๆ รวมเป็นเงินประมาณ 1,200,000 บาท
ชั้นยศ เรือเอก จะขอพระราชทานเลื่อนยศเป็น พลเรือตรี กับได้รับสิทธิกําลังพล ประกอบด้วย เงินประกันภัยหมู่แบบเฉพาะกิจกองทัพเรือ 500,000 บาท เงินจากกองทุนน้ําใจไทยเพื่อผู้เสียสละกองทัพเรือ 160,000 บาท และเงินช่วยเหลืออื่น ๆ รวมเป็นเงินประมาณ 2 ล้านบาท
ทั้งนี้ เป็นผู้ที่มีอายุราชการและฐานเงินเดือนสูงชั้นยศ พันจ่าเอก จะขอพระราชทานเลื่อนยศเป็น นาวาตรี กับได้รับสิทธิกําลังพล ประกอบด้วย เงินประกันภัยหมู่แบบเฉพาะกิจกองทัพเรือ 500,000 บาท เงินจากกองทุนน้ําใจไทยเพื่อผู้เสียสละกองทัพเรือ 135,000 บาท และเงินช่วยเหลืออื่น ๆ รวมเป็นเงินประมาณ 1 ล้านบาท
ชั้นยศ จ่าตรี - จ่าเอก จะขอเลื่อนยศและขอพระราชทานเลื่อนยศเป็น พันจ่าโท - เรือตรี กับได้รับสิทธิกําลังพล ประกอบด้วย เงินประกันภัยหมู่แบบเฉพาะกิจกองทัพเรือ 500,000 บาท เงินจากกองทุนน้ําใจไทยเพื่อผู้เสียสละกองทัพเรือ 135,000 บาท และเงินช่วยเหลืออื่น ๆ รวมเป็นเงินประมาณ 900,000 บาท
ในส่วนของทหารกองประจําการจะขอเลื่อนยศเป็น พันจ่าตรี กับได้รับสิทธิกําลังพล ประกอบด้วย เงินประกันภัยหมู่แบบเฉพาะกิจกองทัพเรือ 500,000 บาท เงินจากกองทุนน้ําใจไทยเพื่อผู้เสียสละกองทัพเรือ 100,000 บาท และเงินช่วยเหลืออื่น ๆ รวมเป็นเงินประมาณ 600,000 บาทโดยกองทัพเรือ จะเร่งรัดการดําเนินการให้กําลังพลและครอบครัวได้รับสิทธิกําลังพลเป็นไปด้วยความรวดเร็ว เพื่อเป็นการช่วยเหลือบรรเทาความเดือนร้อนในเบื้องต้นให้แก่กําลังพลและครอบครัวต่อไป