“วิโรจน์” งงปมทุจริตไฟลานคนเมือง ขรก.น้ำดีถูกเล่นงาน คนสั่งการกลับรอด

“วิโรจน์” งงปมทุจริตไฟลานคนเมือง ขรก.น้ำดีถูกเล่นงาน คนสั่งการกลับรอด

“วิโรจน์” งงปมทุจริตไฟลานคนเมือง 39.5 ล้านบาท ป.ป.ช.ชี้มูลข้าราชการ กทม.ยกกระบิ ส่งฟ้องศาลแล้ว พบข้าราชการน้ำดีถูกเล่นงาน แต่คนสั่งการกลับรอด เรียกร้อง กทม.ให้ความเป็นธรรม

จากกรณีโครงการไฟประดับลานคนเมือง 39.5 ล้านบาท ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่จัดแสดงในช่วงวันที่ 30 ธ.ค. 2558 ถึง 31 ม.ค. 2559 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดข้าราชการระดับสูงของ กทม. มากถึง 10 คน ฐานมีพฤติการณ์เข้าข่ายเอื้อเอกชนให้ได้รับงานโครงการดังกล่าว โดย ป.ป.ช. มีมติยื่นฟ้องศาลเอง หลังจากที่อัยการสูงสุด (อสส.) สั่งไม่ฟ้อง หลังจากที่ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด กทม. ก็มีมติเบื้องต้นให้ไล่ออกข้าราชการถึง 4 ราย ปัจจุบันคดียังอยู่ในชั้นศาลนั้น

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร หัวหน้าคณะทำงานยุทธศาสตร์กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ได้ติดตามความคืบหน้าของคดีดังกล่าว และกล่าวว่า ในท้ายที่สุดแล้ว ข้าราชการ ที่เป็นคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ที่ทำหน้าที่ในการปกป้องภาษีของประชาชน อย่างตรงไปตรงมา กำลังจะถูกตั้งคณะกรรมการสอบ หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาสั่งให้ กทม. จ่ายเงินค่าจ้าง พร้อมดอกเบี้ย ให้แก่ผู้รับเหมา

นายวิโรจน์ เริ่มต้นอธิบายว่า จุดเริ่มต้นของกรณีนี้ เริ่มจาก คณะกรรมการตรวจรับฯ สงสัยว่าการส่งมอบงานอาจมีความล่าช้า และไม่เป็นไปตามสัญญา และได้มีการติดตามทวงถามผู้รับเหมาเรื่อยมา ในขณะที่นิติกรก็ได้แจ้งกับคณะกรรมการตรวจรับฯ เอาไว้ด้วยว่า จะต้องดำเนินการตรวจรับงาน งวดที่ 1 ให้แล้วเสร็จก่อนดำเนินการเปิดไฟวันแรก คือ วันที่ 30 ธ.ค. 58 แต่ปรากฏว่าการส่งมอบงานจริงเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 59 ซึ่งเป็นการส่งมอบงานที่ล่าช้า นอกจากนี้เอกสารประกอบการส่งมอบงาน ก็ยังขาดความครบถ้วน คณะกรรมการตรวจรับฯ จึงได้ทวงถามให้ผู้รับเหมาส่งมอบเอกสารเพิ่มเติม ซึ่งกว่าจะได้รับเอกสารเพิ่มเติม ก็ต้องรอจนถึงวันที่ 20 ม.ค. 59 และเมื่อคณะกรรมการตรวจรับฯ ได้พิจารณาเอกสารการส่งมอบงานทั้งหมดแล้ว ก็มีความเห็นว่า เอกสารการส่งมอบงานยังขาดรายละเอียดของเนื้องานที่ครบถ้วน จึงได้ทำหนังสือถึง ผอ.สำนักวัฒนธรรมฯ ในฐานะผู้สั่งจ้าง ผ่าน ผอ.กองการท่องเที่ยว ในฐานะหัวหน้าเหน้าที่พัสดุ เพื่อสั่งการ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้เป็นตามข้อบัญญัติ เรื่องการพัสดุ พ.ศ.2538 ข้อ 66 (4) วรรคสอง

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คณะกรรมการตรวจรับฯ ได้ทำหนังสือรายงานให้ ผอ.สำนักวัฒนธรรมฯ และ ผอ.กองการท่องเที่ยว ให้รับทราบมาโดยตลอด จนในวันที่ 18 ม.ค. 60 คณะกรรมการตรวจรับฯ ก็ได้ทำรายงานผลการตรวจรับขึ้นอีกฉบับหนึ่ง โดยระบุชัดเจนว่า รายละเอียดการส่งมอบงานไม่ตรงตามสัญญา และไม่สามารถตรวจรับงานได้ แต่ก็ยังไม่มีการสั่งการใดๆ ตามข้อบัญญัติ เรื่องการพัสดุ ข้อ 128 หรือ ข้อ 132 ไม่ว่าจะเป็นการเรียกค่าปรับ สงวนสิทธิการเรียกค่าปรับ หรือการบอกเลิกสัญญา

คณะกรรมการตรวจรับฯ ก็ยังไม่นิ่งนอนใจ หลังจากนั้นในวันที่ 5 เม.ย. 60 ก็ได้ทำหนังสือขอหารือไปยังสำนักงานกฎหมายและคดี และได้รับคำแนะนำกลับมาในวันที่ 17 พ.ค. 60 ว่า ในเมื่อคณะกรรมการตรวจรับฯ ได้ดำเนินการตรวจรับงานแล้ว และมีความเห็นว่ารายละเอียดการส่งมอบงานของผู้รับจ้างไม่ตรงตามสัญญาจ้าง จึงเป็นหน้าที่ของผู้สั่งจ้างที่ต้องพิจารณาสั่งการตามข้อบัญญัติ เรื่องการพัสดุ ต่อไป และในวันที่ 29 พ.ค. 60 ก็ยังได้ทำหนังสือขอหารือไปยังสำนักการคลัง ขึ้นอีกฉบับหนึ่ง และได้รับคำแนะนำกลับมาในวันที่ 16 มิ.ย. 60 ว่า โครงการไฟประดับ นั้นเป็นการจ้างที่ต้องการผลสำเร็จของงานทั้งหมดพร้อมกัน ไม่อาจตรวจรับไว้เฉพาะส่วนที่ถูกต้อง ตามข้อบัญญัติ เรื่องการพัสดุ ข้อ 66 (5) ได้ และในเมื่อคณะกรรมการตรวจรับฯ ได้รายงานการตรวจรับมายังผู้สั่งจ้างแล้ว ก็ต้องเป็นหน้าที่ของผู้สั่งจ้าง ที่จะพิจารณาสั่งการต่อไป

เรียกได้ว่า คณะกรรมการตรวจรรับฯ ชุดนี้ ทำงานแบบรอบคอบ ตรงไปตรงมา กัดไม่ปล่อย และทำจนสุดหน้าที่แล้วจริงๆ เป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ ของข้าราชการน้ำดี ที่ยืนหยัดในความถูกต้อง และปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนอย่างถึงที่สุด การทำงานของคณะกรรมการตรวจรับฯ ชุดนี้ ไม่ได้ราบรื่นเลย นอกจากจะถูกเตะถ่วง โยนเรื่องไปมาแล้ว ยังถูกกดดันจากทุกช่องทาง ถูกผู้รับเหมาฟ้องฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ต้องเสียเวลาทำเอกสารชี้แจง ขึ้นโรงขึ้นศาล แต่ด้วยความสุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ ก็ชนะคดีมาได้ทั้งศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ จุดพลิกผันของเรื่องนี้เกิดขึ้น เมื่อศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้ กทม. จ่ายค่าจ้าง พร้อมดอกเบี้ยให้แก่ผู้รับเหมา เนื่องจากสิ่งที่คณะกรรมการตรวจรับฯ เห็นว่าไม่ถูกต้อง นั้นเป็นเรื่องของเอกสาร ไม่ใช่เนื้องานตามสัญญาจ้าง และ กทม. ก็ได้ใช้ประโยชน์จากไฟประดับของผู้รับเหมาไปแล้ว ทีนี้ล่ะครับ กระบวนการหาคนผิด ก็เลยเกิดขึ้น

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า แทนที่รองปลัด กทม. นายเฉลิมพล โชตินุชิต จะสอบสวนว่า ผอ.สำนักวัฒนธรรมฯ ผู้สั่งจ้าง ณ ขณะนั้น อนุญาตให้เปิดไฟประดับได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ยังตรวจรับงานไม่ผ่าน และอนุญาตให้ผู้รับเหมารื้อถอนในวันที่ 1 ก.พ. 59 ได้อย่างไร ทั้งๆ ที่การตรวจรับงานยังไม่เสร็จสิ้น และที่ผ่านมา ทำไม ผอ.สำนักวัฒนธรรมฯ ที่มารับตำแหน่งต่อ ถึงไม่สั่งให้บอกเลิกสัญญากับผู้รับเหมา ทั้งๆ ที่ คณะกรรมการตรวจรับฯ ก็ทำหน้าที่จนสุดทางแล้ว และได้ยืนยันว่า โครงการไฟประดับดังกล่าว ไม่เป็นไปตามสัญญา และไม่สามารถตรวจรับงานได้ รวมทั้งควรต้องสอบนิติกรฝ่ายการเจ้าหน้าที่ ประจำสำนักงานเลขานุการ สำนักวัฒนธรรมฯ เพิ่มเติมด้วยว่า เหตุใดจึงแนะนำให้ ผอ.สำนักวัฒนธรรมฯ ในฐานะผู้สั่งจ้าง ณ ขณะนั้น สั่งการให้คณะกรรมการตรวจรับฯ ดำเนินการตรวจรับให้ได้ ทั้งๆ ที่การส่งมอบงานไม่เป็นไปตามสัญญา

“แต่รองปลัด กทม. กลับสั่งให้มีการสอบคณะกรรมการตรวจรับฯ ซึ่งประเด็นนี้ วิโรจน์ตั้งประเด็น และไม่เข้าใจว่า จะสอบคณะกรรมการตรวจรับฯ ทำไม เพราะที่ผ่านมาคณะกรรมการตรวจรับฯ ก็ทำหน้าที่อย่างถึงที่สุดแล้ว และคำพิพากษาของศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ ก็ยืนยันชัดเจนว่า คณะกรรมการตรวจรับฯ ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต” นายวิโรจน์ กล่าว

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า การที่ กทม. ต้องจ่ายเงินให้กับผู้รับเหมา พร้อมดอกเบี้ย ก็เป็นเรื่องที่ต้องดูในรายละเอียดของคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดต่อไป แต่เรื่องที่ไม่สบายใจเป็นอย่างมาก ก็คือ การที่คณะกรรมการตรวจรับฯ  ที่ยืนหยัดทำงานอย่างตรงไปตรงมามาโดยตลอด จนตัวเองต้องถูกฟ้องขึ้นโรงขึ้นศาล กว่าจะชนะคดีมาได้ทั้งสองศาล ก็ต้องเสียทั้งเวลา เสียทั้งกำลังใจ กลับต้องมาถูกสอบสวนอีก วิโรจน์เกรงว่า หากการสอบสวนในครั้งนี้ไม่มีความสมเหตุสมผล ก็จะทำให้ข้าราชการที่ดี เสียขวัญและกำลังใจในการทำงาน และถ้าข้าราชการที่ตั้งใจทำงานต้องมารับแรงกดดันที่ไม่เป็นธรรมอย่างนี้ ถ้าข้าราชการที่ตั้งใจทำงานต้องมาเจอกับแรงกดดันที่ไม่เป็นธรรมอย่างนี้ ต่อไปจะมีข้าราชการคนไหนกล้ายืนหยัดทำงานด้วยความถูกต้อง แล้วปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น จะถูกขจัดให้หมดไปได้อย่างไร ยืนยันจะติดตามกรณีดังกล่าวนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป เพื่อให้มั่นใจว่า การดำเนินการใดๆ กับคณะกรรมการตรวจรับฯ ชุดนี้ จะเป็นไปด้วยความโปร่งใส และเป็นธรรม

นายวิโรจน์ กล่าวด้วยว่า การที่จะแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด จำเป็นที่จะต้องผลักดันให้ พระราชบัญญัติปกป้องผู้ให้เบาะแสการทุจริต หรือ Whistle Blower Act เกิดขึ้นให้ได้ เพราะคนที่จะล่วงรู้ถึงกระบวนการในการทุจริตที่ดีที่สุด เข้าถึงหลักฐานการทุจริตได้ครบถ้วนที่สุด ก็คือ ข้าราชการผู้ที่ปฏิบัติงาน เพียงแต่ที่ผ่านมาข้าราชการน้ำดีเหล่านั้น ไม่มั่นใจว่า กฎหมายจะคุ้มครองดูแลพวกเขาได้อย่างเต็มที่ ไม่มั่นใจว่าหลังจากที่เขาให้เบาะแสการทุจริตแล้ว เขาจะยังคงมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานหรือไม่ ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ถ้าข้าราชการที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม ได้รับการคุ้มครองดูแลอย่างเต็มที่ การทุจริตต่างๆ ที่ถูกหมดเม็ดเอาไว้ในระบบราชการจะถูกเปิดโปงออกมาอย่างต่อเนื่อง ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นจะค่อยๆ ถูกตัดตอน ให้อยู่ในวงจำกัด และถูกกำจัดให้หมดไปในที่สุด ซึ่งพระราชบัญญัติปกป้องผู้ให้เบาะแสการทุจริต จะเป็นนโยบายสำคัญ ที่พรรคก้าวไกลจะผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้ อย่างแน่นอน