"มท." เปิดศูนย์อำนวยการ ลดอุบัติเหตุ ช่วงปีใหม่
มท.1 เปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เน้นใช้กลไกใช้ท้องถิ่นลงพื้นที่ ตั้งเป้าลดสถิติ 5% เมื่อเทียบกับสถิติช่วงเทศกาล 3 ปีย้อนหลัง “บิ๊กป๊อก” บอกปีนี้ไม่อยากให้มีการสูญเสียแม้แต่คนเดียว
พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีเปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ช่วงเทศกาล ปีใหม่ 2566 และเป็นประธานการประชุมศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ภายใต้แนวคิด ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัยไร้อุบัติเหตุ โดยกำหนดช่วงควบคุมเข้มระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2565 - 4มกราคม2566 มุ่งลดปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดควบคู่ไปกับการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน
โดย พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปในพื้นที่ ทั้งฝ่ายปกครองตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ให้ดูแลความปลอดภัยและช่วยกันดำเนินการขับเคลื่อนมาตรการต่างๆให้เกิดความปลอดภัยกับประชาชน ซึ่งมาตรการต่างๆที่จะดำเนินการจะเป็นไปตามกฏหมาย ส่วนการเมาแล้วขับจะมีการยึดรถไว้ก่อน และสิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้ใช้รถใช้ถนน
ทั้งนี้ ในปีนี้จะใช้เจ้าหน้าที่จากฝ่ายปกครองทั้งหมด ตอนนี้ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องการลดจำนวนอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ ประเด็นสำคัญ คือช่วงนี้มีการเดินทางมากเราถึงต้องกำหนดมาตรการเป็นพิเศษ
ส่วนการตั้งเป้าหมายการลดจำนวนอุบัติเหตุลงนั้น พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า แต่ละชีวิตก็มีความหมาย เจตนาคือไม่อยากให้มีการสูญเสียเลยแม้แต่ชีวิตเดียว ในช่วงที่ผ่านมาเท่าที่ตนติดตามก็ลดลงไปได้แล้วจำนวนหนึ่ง
ตนก็ไม่อยากให้เกิดอุบัติเหตุเลย เพราะไม่ได้เกี่ยวกับประชาชนเท่านั้น ครอบครัว รัฐก็ต้องแบกภาระ เขาสูญเสียคนที่เป็นกำลังหลักของครอบครัว คนที่เหลือผู้สูงอายุ พ่อแม่เขา ก็ไม่พ้นรัฐบาลต้องไปดูแล
อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมมีการตั้งเป้าหมายว่าจะลดจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บให้ได้ไม่น้อยกว่า 5% เมื่อเทียบกับสถิติในช่วงเทศกาลเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง รวมถึงจะมีการติดตามผลการดำเนินงานในระดับพื้นที่อำเภอเสี่ยงพร้อมกำหนดมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนที่มุ่งลดปัจจัยให้ครอบคลุมทุกมิติ
นอกจากนี้ในที่ประชุมในจะได้มอบหมายให้ทุกภาคส่วนบูรณาการลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุรวมถึงให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและจังหวัดเข้มงวดบังคับใช้กฎหมายตาม 10 มาตรการหลักและให้ทุกจังหวัดใช้กลไกด่านชุมชนเพื่อป้องปรามกลุ่มเสี่ยงและบุคคลที่มีพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ / บังคับใช้กฎหมายการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเข้มงวด / ตลอดจนดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ที่มีจุดตัดทางรถไฟด้วย